ฝ่าทำลายข้อต้องห้ามในวงการ K-Pop — BTS รวมกลุ่มก้อนคอมมูนิตี้ระดับโลกขึ้นมาได้อย่างไร
BTS แตะประเด็นต้องห้าม เช่น การเหยียดเชื้อชาติ และสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+ เพื่อส่งสารทางสังคมและการเมือง
ดนตรีเป็นเครื่องมือที่ศิลปินใช้ถ่ายทอดสารทางสังคม เห็นได้จากศิลปินในฝั่งตะวันตกที่ใช้แพลตฟอร์มของตนแสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมอยู่บ่อยครั้ง แต่ศิลปิน K-Pop มักหลบเลี่ยงประเด็นที่ชวนให้เกิดการถกเถียง โดยเลือกที่จะปิดปากเงียบเรื่องปัญหาสังคม แทนที่จะแตะประเด็นที่อาจจุดประกายให้เกิดการพูดคุยต่อบนสื่ออย่างโซเชียลหรือสื่อในรูปแบบอื่น ๆ ต่อไป
ทว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา หนึ่งในกลุ่มบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกอย่าง BTS กลับสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมาอย่างนาวนาน
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2022 เจ็ดหนุ่ม BTS เดินทางไปเยือนทำเนียบขาวเพื่อพูดคุยกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน เกี่ยวกับการเป็นตัวแทนชาวเอเชียและปัญหาอาชญากรรมจากความเกลียดชังต่อชาวเอเชียที่กำลังเพิ่มจำนวน พวกเขาใช้โอกาสนี้เปล่งเสียงให้ผู้คนตระหนักรู้ต่อประเด็นดังกล่าวมากขึ้น
SUGA เอ่ยถ้อยแถลงสั้น ๆ “การที่ตัวเราแตกต่างจากผู้อื่นนั้นไม่ใช่เรื่องที่ผิด ผมเชื่อว่าความเท่าเทียมเริ่มต้นจากการยอมรับว่าความแตกต่างนั้นไม่ใช่สิ่งที่ทั้งถูกและผิดครับ”
ชังด็อกฮยอน นักวิจารณ์ด้านวัฒนธรรมกล่าวว่า การที่ BTS ไปเยือนทำเนียบขาวแสดงให้เห็นว่าพวกเขาใช้ ‘พลังของการเป็นคนดัง’ ได้ดีแค่ไหน อีกทั้งยังรวบรวมผู้คนที่มีความแตกต่างกันมาเป็นกลุ่มก้อนได้อย่างไร “BTS มิใช่เพียงศิลปินจากเกาหลี พวกเขาเป็นตัวแทนชาวเอเชีย ในขณะที่จำนวนอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังต่อชาวเอเชียพุ่งขึ้นสูง BTS คือกลุ่มคนที่ทำให้ผู้คนหันมาสนใจในประเด็นเหล่านี้ โดยอาศัยอิทธิพลและบทเพลงของตัวเอง บ่อยครั้งที่ BTS ใช้แพลตฟอร์มของตัวเองเพื่อส่งสารแก่แฟน ๆ เป็นล้าน ๆ ทั่วโลก ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้คนที่มองพวกเขาว่าเป็น ‘ผู้นำแห่งประเด็นปัญหาระดับโลก’”
BTS ยังใช้อิทธิพลของตัวเองแสดงออกเกี่ยวกับข่าวสารด้านดี ๆ ผ่านกลุ่มแฟนคลับอาร์มี่ ผู้ที่คอยช่วยถ่ายทอดสิ่งที่พวกเขาสื่อสาร
ในขณะที่กลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านความไม่เท่าเทียมทางเชื้อชาติทั่วสหรัฐและความโหดร้ายทารุณของตำรวจกำลังเป็นประเด็นสำคัญในสหรัฐ แฟน ๆ BTS ก็ออกมาให้สนับสนุนการเคลื่อนไหว Black Lives Matter และเมื่อประเด็นดังกล่าวได้รับการผลักดัน เหล่าแฟน ๆ จึงเคลื่อนไหวในหลายแพลตฟอร์มเพื่อช่วยสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม และช่วยสร้างชุมชนที่ต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ
ICYMI: BTS ร่วมแสดงจุดยืนต่อต้านความเกลียดชังที่มีต่อชาวเอเชีย
แฟน ๆ จำนวนมากร่วมโพสต์ให้กำลังใจในการต่อสู้เพื่อความไม่เป็นธรรม ข้อความของแฟนคลับคนหนึ่งมีเนื้อหาว่า “จงใช้เสียงของคุณเพื่ออาร์มี่คนดำและคนผิวสีเมื่อคุณพบเจอความอยุติธรรมลักษณะนี้เกิดขึ้น จงช่วยกันเป็นส่วนหนึ่งในการหาทางแก้ แทนการสร้างปัญหา”
ก่อนหน้านั้น BTS ขยายอิทธิพลของตัวเองอย่างต่อเนื่อง โดยพวกเขาขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ ณ การประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติถึง 3 ครั้ง ดังนี้
- การประชุมฯ ครั้งที่ 73 (ปี 2018): กล่าวสุนทรพจน์เปิดโครงการ เยาวชนกล้าคิด สะกิดสังคม (Generation Unlimited)
- การประชุมฯ ครั้งที่ 75 (ปี 2020): กล่าวสุนทรพจน์ในฐานะผู้บรรยายพิเศษเพื่อส่งต่อถ้อยคำแห่งความหวังในหัวข้อ ‘ใช้ชีวิตในโลกใบใหม่อีกครั้ง’ แก่คนรุ่นใหม่ผู้เผชิญความยากลำบากจากสถานการณ์ COVID-19 ในการอภิปรายระดับสูงของสมัชชาความเป็นปึกแผ่นเพื่อความมั่นคงทางสุขภาพของโลก
- การประชุมฯ ครั้งที่ 76 (ปี 2021): กล่าวสุนทรพจน์ในฐานะผู้แทนประธานาธิบดีพิเศษสำหรับคนรุ่นใหม่และวัฒนธรรม เปิดการประชุมเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทศวรรษ (SDG Moment)
ในปี 2017 BTS ร่วมกับ Big Hit Entertainment (ปัจจุบันคือ BIG HIT MUSIC) ลงนามในข้อตกลงแคมเปญ ENDviolence ขจัดความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนทั่วโลก กับองค์การกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF)
ในปี 2021 พวกเขาออกแถลงการณ์แสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับคนดำ เพื่อประณามเหตุการณ์ตำรวจอเมริกันใช้กำลังเข้าจับกุมชายผิวดำ จอร์จ ฟลอยด์ จนเสียชีวิต “เราต่อต้านการแบ่งแยกชาติพันธุ์ เราประณามความรุนแรง คุณ ผม และเราทุกคนล้วนมีสิทธิ์ที่จะได้รับความเคารพ เราจะยืนหยัดเคียงข้างกันครับ” พวกเขายังเล่าถึงประสบการณ์ถูกเหยียดเชื้อชาติที่เคยเผชิญ ท่ามกลางความอาฆาตมาดร้ายต่อชาวเอเชีย ซึ่งยกระดับมากขึ้นในช่วงการระบาดใหญ่อีกด้วย
ICYMI: BTS สะท้อนมุมมองการแต่งเพลง, แรงบันดาลใจ, งานศิลป์ และการแสดงออกต่อความอคติและความรุนแรง
“เราหวนนึกถึงช่วงเวลาที่เราเผชิญกับการถูกกดขี่ในฐานะชาวเอเชีย ระหว่างเดินอยู่บนถนน เราได้ยินคำก่นด่าอย่างไร้เหตุผลและดูแคลนรูปร่างหน้าตา เราถูกถามแม้กระทั่งว่าเหตุใดชาวเอเชียถึงพูดภาษาอังกฤษ ประสบการณ์ของเราเป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้”
ในขณะที่หลายฝ่ายในวงการเลือกที่จะปิดปากเงียบต่อประเด็นที่เกิดขึ้น ต้นสังกัดของพวกเขาอย่าง BIG HIT MUSIC เองก็ร่วมแสดงจุดยืนกับ BTS ด้วยการบริจาคเงินจำนวน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ สนับสนุนการเคลื่อนไหว ‘Black Lives Matter’ ตามมาด้วยการระดมทุนอีก 1 ล้านเหรียญสหรัฐโดยอาร์มี่ภายในเวลา 24 ชั่วโมงภายใต้โปรเจ็กต์ ‘Match A Million’ (โดย One In An ARMY) เพื่อให้ได้ยอดบริจาคเท่ากับของ BTS (ยอดบริจาคสุทธิอยู่ที่ $1,026,531 จากผู้บริจาค 35,609 ราย)
.@BTS_twt “ประสบการณ์ของเราเป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ แต่สิ่งที่เราเผชิญ ณ ตอนนั้นก็ทำให้เรารู้สึกหมดหนทางและฉกฉวยความเคารพตนเองออกไปจากตัวเราเช่นกัน การที่เราตกเป็นเป้าของความเกลียดชังและความรุนแรงจากการมีเชื้อชาติที่แตกต่าง…”#StopAsianHate https://t.co/RgtTdUEfUv pic.twitter.com/Sqkx8qpGjY
— CANDYCLOVER (@_candyclover) March 30, 2021
ICYMI: เรื่องราวที่เกิดขึ้นหลังจากการเคลื่อนไหว Stop Asian Hate
วงการ K-Pop ขึ้นชื่อในเรื่องการวางตัวให้ห่างจากประเด็นปัญหาทางสังคมและการเมืองมาอย่างยาวนาน เหตุผลหลัก ๆ เป็นเพราะความกลัวว่าการแสดงออกอาจกระทบกับงาน ในขณะที่ตัว BTS กลับค่อย ๆ เปลี่ยนความคิดนี้เรื่อยมานับตั้งแต่สมัยพวกเขาเดบิวต์เมื่อปี 2013 แล้ว
BTS ฝ่าทำลายข้อต้องห้ามของวงการ K-Pop ด้วยการแสดงความเห็นในประเด็นที่อาจนำไปสู่ข้อถกเถียง พวกเขาพูดในสิ่งที่ตนรู้สึกนึกคิดผ่านบทเพลง เช่น ปัญหาสุขภาพจิต สิทธิของกลุ่ม LGBTQ+ และความรู้สึกกดดันต่อการประสบความสำเร็จ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นที่ยากจะหยิบยกขึ้นมาถกกันในสังคมเกาหลีใต้
เพลง Tomorrow จากอัลบั้ม Skool Luv Affair (ปี 2014) บอกเล่าความยากลำบากที่คนรุ่นใหม่ต้องเผชิญในทุกวันนี้ เพลง So Far Away จากมิกซ์เทป Agust D ของ SUGA (ปี 2016) บอกเล่าความเจ็บปวด ความรู้สึกไม่มั่นคง และความเดียวดายที่เจ้าตัวเผชิญขณะเฝ้ามองคนอื่นไล่ตามความฝัน
พวกเขายังพูดคุยในประเด็นที่อาจส่งผลเสียกับหน้าที่การงานของพวกเขาในช่วงแรก ๆ นั่นคือเรื่องความสัมพันธ์เพศเดียวกัน RM ลีดเดอร์ของวงยังเคยกล่าวถึงความประทับใจที่เขามีต่อเพลง Same Love ผลงานเมกะฮิตของ Macklemore และ Ryan Lewis อีกด้วย
“ผมแรปมอนสเตอร์ (ปัจจุบันคือ RM) นะครับ เพลงนี้เกี่ยวกับความรักที่มีต่อเพศเดียวกัน ตอนฟังเฉย ๆ โดยไม่รู้เนื้อเพลงก็เพราะแล้ว แต่พออ่านเนื้อเพลงแล้วฟังกลับยิ่งชอบมากขึ้นเป็นสองเท่า ขอแนะนำเลยครับ Macklemore & Ryan Lewis – Same Love”
랩몬스터입니다. 동성애에 관한 노래. 가사를 모르고 그냥 들어도 좋지만 가사를 보고 들으면 두배는 더 좋은 노래. Macklemore & Ryan Lewis – Same Love 추천합니다. http://t.co/4ATzZZrRcC
— 방탄소년단 (@BTS_twt) March 6, 2013
นักวิจารณ์เพลงกล่าวว่า BTS ได้กลายเป็นไอค่อนในระดับนานาชาติผ่านอัลบั้มไตรภาคชุด ‘วัยรุ่น’ หรือ ‘The Most Beautiful Moment in Life’ ที่หยิบยกอารมณ์และความรู้สึกไม่มั่นคงที่คนรุ่นใหม่เผชิญในสังคมปัจจุบัน เขายังกล่าวด้วยว่า BTS ได้กลายเป็นบุคคลสำคัญในเชิงสัญลักษณ์ผ่านงานเพลงของพวกเขา ทำให้สหประชาชาติและทำเนียบขาวต้องการตัวพวกเขามาร่วมงาน เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประเด็นทางสังคม
“เพลง K-Pop ส่วนใหญ่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรัก แต่งานเพลงของ BTS กลับแตกต่างออกไปเพราะพวกเขาสอดแทรกสิ่งที่พวกเขาเชื่อมั่นเอาไว้ เพลงของพวกเขาจึงสะท้อนใจผู้คน และสิ่งเหล่านี้ก็ปูทางให้ BTS กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความแตกต่างหลากหลายนั่นเอง”
ที่มา | The Korea Herald
แปลและเรียบเรียงจากอังกฤษเป็นไทยโดย CANDYCLOVER
ทาง CANDYCLOVER มีความยินดีหากผู้อ่านเล็งเห็นประโยชน์ของคอนเทนต์นี้ และต้องการนำไปประกอบเอกสารหรือสื่อทางการศึกษา เผยแพร่ต่อบนโซเชียลมีเดีย รวมถึงนำไปผลิตของที่ระลึก เช่น Giveaway สำหรับแจกฟรี มิใช่การจัดจำหน่าย
หากต้องการนำข้อมูลไปใช้อ้างอิง กรุณาติดต่อทางอีเมลล์ bts.candyclover@gmail.com และรอการตอบกลับที่ระบุว่าอนุญาตแล้วเท่านั้น ยกเว้นกรณีการนำข้อมูลที่ “แปล เรียบเรียง หรือจัดทำโดย CANDYCLOVER” ไปรีโพสต์ ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ รีโพสต์บนแฟนเพจ เว็บไซต์ หรือเว็บบอร์ด ที่มิใช่แพลตฟอร์มของ CANDYCLOVER พร้อมใส่เครดิตเองโดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงนำไปเป็นคอนเทนต์ทางสื่อโทรทัศน์ หรือกระทำการใด ๆ ก็ตามที่เข้าข่ายแอบอ้างผลงาน หากพบเห็นจะดำเนินคดีทางกฎหมายให้ถึงที่สุด
หากท่านชื่นชอบคอนเทนต์ที่ CANDYCLOVER นำเสนอ สามารถให้การสนับสนุนพวกเราได้ง่าย ๆ เพียง 1.) ไม่สนับสนุนแอคเคาต์ที่แอบอ้างข้อมูลที่แปลโดย CANDYCLOVER 2.) รีพอร์ตแอคเคาต์ดังกล่าวผ่านระบบของแพลตฟอร์มที่ท่านพบเห็นโพสต์ที่เข้าข่าย โดยเลือกหัวข้อ “ละเมิดลิขสิทธิ์” 3.) สนับสนุนค่ากาแฟทาง Ko-fi หรือ Patreon