Stop Asian Hate

เรื่องราวที่เกิดขึ้นหลังจากการเคลื่อนไหว Stop Asian Hate

แอตแลนตา 16 มีนาคม — เกิดเหตุการณ์ชายผิวขาวรายหนึ่งบุกเข้าไปยังร้านนวดและสปา 3 แห่งที่ดำเนินกิจการโดยชาวเอเชียในเมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย และเปิดฉากกราดยิง คร่าชีวิตเหยื่อ 8 ราย ในจำนวนเหยื่อที่ถูกสังหารพบว่าเป็นหญิงชาวเอเชียจำนวน 6 ราย โดยจาก 4 ใน 6 รายเป็นหญิงชาวเกาหลี เป็นเวลากว่าหนึ่งเดือนแล้วนับตั้งแต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหญิง Judy Chu เปิดเผยว่ามีรายงานคดีอาชญากรรมจากความเกลียดชังที่มีต่อชาวเอเชียมากกว่า 100 คดีทุกวันในสหรัฐอเมริกา และเป็นเวลาราว ๆ หนึ่งปีแล้วนับตั้งแต่เดือนมีนาคมเมื่อปีที่ผ่านมาที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศว่าการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เป็นโรคระบาดใหญ่

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้พลเมืองต้องตกลึง แม้จะอยู่ท่ามกลางอาชญากรรมจากความเกลียดชังต่อชาวเอเชียที่ยังคงมีอัตราสูงในสหรัฐอเมริกาในปี 2021 ซึ่งไม่ได้เป็นเป็นเพียงเพราะมุมมองอันบิดเบือนที่มือปืนมีต่อเรื่องเพศและเชื้อชาติ แต่ทัศนคติของเจ้าพนักงานในท้องถิ่นก็ด้วยเช่นกัน โฆษกสำนักงานนายอำเภอเชอโรกีเคาน์ตี้อ้างว่าผู้กระทำผิด “เจอเรื่องแย่ ๆ มา” และตั้งข้อหาจับกุมผู้กระทำผิดด้วยข้อหาอาชญากรรมที่เกิดจากการเกลียดชังไม่สำเร็จ ทั้ง ๆ ที่พุ่งเป้าไปยังหญิงชาวเอเชียโดยเฉพาะ อัยการสอบสวนใช้เวลานานกว่าสองเดือนในการพิจารณาว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นอาชญากรรมที่เกิดขึ้นจากความเกลียดชัง ในวันที่ 11 พฤษภาคม เหตุกราดยิงในแอตแลนตาจึงกลายเป็นคดีแรกที่นำกฎหมายป้องกันอาชญากรรมจากความเกลียดชังมาใช้เป็นคดีแรก หลังจากมีผลบังคับใช้ในรัฐจอร์เจีย

ความเห็นและแรงต่อต้านจากพลเมืองจำนวนมากเป็นแรงขับเคลื่อนเบื้องหลังต่อการตัดสินใจในครั้งนี้ หลายต่อหลายคนที่ออกมาส่งเสียงเกี่ยวกับอาชญากรรมอันน่าสยดสยองครั้งนี้และชี้ให้เห็นว่าการตอบสนองต่อเหตุการณ์ดังกล่าวย่ำแย่ขนาดไหน เหล่าคนดังชาวเอเชียแสดงออกต่อเหตุการณ์ดังกล่าวมากเป็นพิเศษโดยใช้แพลตฟอร์มของตนในการแสดงความคิดเห็น Sandra Oh นักแสดงชาวเกาหลี-คานาเดียน-อเมริกัน ร่วมปราศรัยในการชุมนุมเคลื่อนไหวในเมืองพิตส์เบิร์ก รัฐเพนซิลวาเนีย ในขณะที่ Eric Nam นักร้องหนุ่มผู้เป็นชาวแอตแลนตาโดยกำเนิด เขียนแสดงความเห็นลงนิตยสาร Time แสดงท่าทีเด็ดขาดต่อต้านภัยคุกคามที่มีต่อสิทธิมนุษยชนของชาวเอเชีย ซึ่งเป็นทัศนะที่เขาได้เน้นย้ำอีกครั้งผ่านการให้สัมภาษณ์กับสถานี CNN แฮชแท็กในการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้หยุดความรุนแรงที่มีต่อชาวเอเชีย #StopAsianHate และ #StopAAPIHate ที่ใช้อ้างถึงชุมชนชาวเอเชียและชาว​หมู่เกาะแปซิฟิก เผยแพร่ไปทั่วโลกโซเชียลมีเดียพร้อมข้อความประณามความรุนแรง และเรียกร้องขอความเคารพแก่ชาวเอเชีย ในวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา BTS โพสต์แถลงการณ์ร่วมกับแฮชแท็กดังกล่าวลงบนแอคเคาต์ทวิตเตอร์ของตน จดหมายฉบับสั้น ๆ นั้นแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของเหยื่อผู้สูญเสียในเหตุกราดยิงในเมืองแอตแลนตา, หยิบยกประสบการณ์การถูกกดขี่ที่พวกเขาเคยเผชิญกับตัว และตอกย้ำความรู้สึกของอัตลักษณ์ความเป็นเอเชีย โพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่อย่างยิ่งใหญ่ไปทั่วโลกจากการถูกรีทวีตอย่างรวดเร็ว

ย้อนเวลากลับไปเสียหน่อย ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ผู้ดำเนินรายการของสถานีวิทยุสัญชาติเยอรมนี Bayern 3 ในเมืองบาวาเรีย ถ่มความเห็นที่แสดงการเหยียดเชื้อชาติต่อ BTS ด้วยถ้อยคำโจมตี, คำเปรียบเปรยกับไวรัส COVID-19 ตลอดจนแนะนำให้ BTS ไป “พักผ่อน” ที่เกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นวลีที่ทหารนาซีใช้หลอกหล่อชาวยิวเพื่อบังคับพวกเขาเข้าค่ายกักกัน เรียกได้ว่าเป็นคดีตัวอย่างเกี่ยวกับความเกลียดชังที่มีต่อชาวเอเชีย แฟน ๆ อาร์มี่ของ BTS ในเยอรมนีและทั่วโลกต่างเรียกร้องให้สถานีวิทยุออกมาขอโทษทันที หลังจากนั้นไม่นาน สถานีดังกล่าวก็ออกแถลงการณ์ขอโทษ แต่กลับยิ่งโหมกระหน่ำความรุนแรงจากถ้อยแถลงที่ว่าคำพูดของผู้ดำเนินรายการ “เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของเขา” และหากแฟน ๆ “รู้สึกเจ็บปวดหรือรู้สึกถูกเหยียดเชื้อชาติจากแถลงการณ์ของเขา ทางเราต้องขออภัยอย่างสุดซึ้ง” เหล่าอาร์มี่จึงกดดันให้สถานีวิทยุดังกล่าวออกแถลงการณ์ขอโทษอย่างเหมาะสม โดยสถานีก็ได้ออกคำแถลงการณ์ฉบับที่สองซึ่งเป็นฉบับแก้ไขในวันถัดมา

เหตุการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ BTS ตกเป็นเป้าของความคิดเห็นที่เหยียดเชื้อชาติจากสื่อตะวันตก ในตอนที่พวกเขาได้รับการยอมรับระดับสากลเป็นครั้งแรกหลังจากการชนะรางวัล Top Social Artist ในงานประกาศรางวัล Billboard Music Awards ประจำปี 2017 สื่อกระแสหลักส่วนใหญ่ล้วนดูแคลนพวกเขาเป็นเพียงศิลปินต่างชาติที่โด่งดังในโลกอินเทอร์เน็ต หรือเป็นเพียงความนิยมที่เกิดขึ้นประเดี๋ยวประด๋าว แต่ความนิยมของพวกเขากลับพุ่งทะยาน และภายในเวลาเพียงหนึ่งปีหลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น พวกเขาก็ได้ขึ้นสู่สเตเดียม Citi Field ในมหานครนิวยอร์กที่บรรจุผู้ชมเอาไว้จนเต็ม ภายในปี 2019 ก็ถึงเวลาที่พวกเขายิ่งใหญ่พอที่จะทัวร์คอนเสิร์ตรอบโลก สเตเดียมแล้วสเตเดียมเล่า ตราบจน BTS ขึ้นสู่ระดับที่ไม่มีทางเพิกเฉยพวกเขาแล้วเท่านั้น สื่อกระแสหลักถึงได้เริ่มให้การยอมรับและให้ความสนใจในตัวพวกเขา สื่อบางกลุ่มต้อนรับดาวดังรายใหม่ด้วยทัศนคติที่เปิดกว้าง แต่ก็มีผู้ที่ยังดันทุรังมอง BTS เป็นคนนอกเพราะพวกเขาไม่ใช่คนขาวและมาจากประเทศเกาหลี ในขณะที่อิทธิพลของ BTS มีมากขึ้น คนกลุ่มนั้นก็ยังคงจับตามอง BTS อย่างไม่ไว้วางใจในฐานะคนนอกที่คุกคามอุตสาหกรรมที่มีมานาน และพยายามจะโค่นพวกเขาลงอยู่บ่อยครั้ง ในปีเดียวกันนั้นเองที่การแสดงความคิดเห็นที่เหยียดเชื้อชาติต่าง ๆ ต่อ BTS เริ่มเพิ่มพูนมากขึ้น นอกจากการแสดงความคิดเห็นที่เหยียดเชื้อชาติอย่างโจ่งแจ้งที่ได้กล่าวไปแล้ว ยังมีความรุนแรงเล็กๆ หรือความรุนแรงที่แสดงออกโดยไม่รู้ตัว (Microaggression) อีกนับไม่ถ้วนผ่านบทความที่ไม่จริงใจ และคอมเมนต์ที่แฝงความคิดเชิงลบ กระทั่งคนดังที่ประสบความสำเร็จพอๆ กับพวกเขาก็ยังถูกกีดกันและเลือกปฏิบัติเพราะเป็นคนเอเชียและไม่ใช่คนขาว

ความเกลียดชังของชาวตะวันตกที่มีต่อชาวเอเชียนั้นมีประวัติมานมนาน และมีรูปแบบที่หลากหลายพอ ๆ กับทวีปเอเชียที่กว้างใหญ่ไพศาล เพื่อตีกรอบเรื่องราวนี้ลงเหลือแค่อคติที่มีต่อชาวเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือในสังคมอเมริกัน “ภัยเหลือง (Yellow Peril)” ถือเป็นกรณีตัวอย่างที่สำคัญ ภัยเหลืองคือความหวาดกลัวอย่างคลุมเครือต่อชาวเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือว่าพวกเขาจะคุกคามและล้มล้างอารยธรรมตะวันตก คำ ๆ นี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองอยู่เป็นประจำ

ทุกอย่างเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 19 เมื่อผู้อพยพชาวจีนจำนวนมากเข้าไปตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกาฝั่งตะวันตกในช่วงที่อุตสาหกรรมเหมืองทองคำรุ่งเรืองที่สุดในแคลิฟอร์เนีย (การตื่นทองที่แคลิฟอร์เนีย หรือ California Gold Rush) ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 ความเกลียดชังเริ่มยกระดับความรุนแรงขึ้นจากความคิดที่ว่าผู้อพยพชาวจีนแย่งงานคนขาวในภูมิภาคนั้น ภัยเหลืองกลายเป็นข้ออ้างอย่างที่ดีในการระบายความขุ่นเคืองในสภาวะถดถอยที่ไม่มั่นคงและเลวร้ายโดยใช้ผู้ที่ด้อยโอกาสมาเป็นแพะรับบาป บรรยากาศความเกลียดชังและการเลือกปฏิบัติที่แพร่หลายปรากฏขึ้นในรูปแบบของการประชาทัณฑ์และการฆาตกรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งมาถึงจุดวิกฤตจากการสังหารหมู่ชาวจีนในนครลอสแอนเจลิสเมื่อปี 1871 กระนั้น สหรัฐอเมริกาในศตวรรษที่ 19 ก็ไม่ได้ยับยั้งความไม่สงบที่เกิดขึ้นในสังคมแต่อย่างใด มากไปกว่านั้นในปี 1982 รัฐสภาแห่งสหรัฐฯ ก็ได้ออกกฎหมายกีดกันชาวจีน ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับแรกที่ขัดขวางการอพยพเข้าเมืองของชนชาติใดชนชาติหนึ่ง กฎหมายอพยพเข้าเมืองฉบับแก้ไขเกิดขึ้นตามมาในปี 1924 โดยกำหนดโควต้าผู้อพยพเข้าเมืองตามถิ่นกำเนิด นี่ถือเป็น “กฎหมายกีดกันชาวเอเชีย” โดยพฤตินัย ที่กำหนดจำนวนผู้อพยพจากแต่ละประเทศที่ได้รับอนุญาตต่อปีเพื่อรองรับชาวยุโรป ซึ่งในขณะเดียวกันก็เป็นการกดขี่ชุมชนชาวเอเชีย เรียกได้ว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งของความเกลียดชังที่เกิดจากสังคม ซึ่งในเวลาต่อมาได้แทรกซึมเข้าไปสู่ระบบในระดับชาติ

ประวัติศาสตร์ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ยังแสดงให้เห็นว่าผู้อพยพชาวญี่ปุ่นถูกกักกันอย่างไม่เลือกหน้าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยเหตุที่ว่าประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขาคือประเทศที่เป็นปรปักษ์ในช่วงสงคราม สาเหตุที่ผู้อพยพชาวญี่ปุ่นถูกประทุษร้ายอย่างทารุณย์เมื่อเทียบกับชาวเยอรมันและชาวอิตาลี ทั้ง ๆ ที่เป็นประเทศในฝ่ายอักษะเหมือนกัน ส่วนใหญ่มาจากการที่เจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายใช้หลักเกณฑ์เกี่ยวกับชาติพันธุ์เพื่อแบ่งแยกชนชาติ (Racial Profiling) หรือพุ่งเป้าไปยังบุคคลใดบุคคลหนึ่ง กล่าวกันว่าความหวาดกลัวต่อภัยเหลืองก่อตัวขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ในขณะที่อุตสาหกรรมอเมริกันสูญเสียฐานในการแข่งขันให้กับบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น แต่แล้วความหวาดกลัวนั้นก็ได้จางหายไปตามกาลเวลา ทว่า เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ความหวาดกลัวพร้อมด้วยการเลือกปฏิบัติต่อชาติพันธุ์อื่น ๆ ก็คืนชีพขึ้นอีกครั้งอย่างรุนแรงเมื่อจีนกลายเป็นภัยทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น และในเวลานี้ความรู้สึกเกลียดชังเหล่านั้นก็ได้ขยายผลเป็นอาชญากรรมอันรุนแรงต่อชาวเอเชีย

แม้ว่าชาวเกาหลีจะต้องทนทุกข์ทรมานกับความยากลำบากภายใต้การปกครองของจักรวรรดิญี่ปุ่นในยุคล่าอาณานิคม พวกเขาเองก็ได้รับความเกลียดชังจากการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มก้อนที่ใหญ่กว่า โดยมีมูลเหตุมาจากเรื่องของสีผิวเพียงอย่างเดียว ถึงอย่างไรแล้ว บรรดาผู้ที่จงใจจงเกลียดชังผู้อื่นก็ได้กำหนดข้อสรุปโดยทั่วไปเอาไว้อย่างหยาบๆ ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นคนจีน ญี่ปุ่น เกาหลี หรือชาวเอเชียที่ไม่ใช่คนผิวขาว การเลือกปฏิบัติต่อพวกเขาที่เกิดขึ้นในตอนนั้นก็ยังคงเป็นเหมือนเดิมในวันนี้ สำหรับชาวเกาหลีแล้ว ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์อย่างเช่น สงครามเกาหลี ก็เป็นสิ่งที่ถูกเพิ่มเชื้อไฟในอคติที่มีต่อพวกเขา กรณีที่พบเห็นได้ทั่วไปก็เช่น การทำให้รู้สึกเป็นอื่น (Othering), “ไข้เหลือง (Yellow Fever)” ที่เกี่ยวข้องเป็นพิเศษกับหญิงชาวเอเชียและความเชื่ออื่นๆ ทางไสยศาสตร์, และ “ชนกลุ่มน้อยตัวอย่าง (Model Minority)” ผู้ได้รับการยอมรับในสังคมอเมริกัน หากแต่ไม่ได้มีแต่ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้น ที่กำลังทุกข์ทรมานจากสถานการณ์เฉพาะของตนเองและปัญหาที่คล้ายคลึงกันนี้ แต่ยังมีทั้งชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อนุทวีปอินเดีย และเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ตลอดจนชาว​หมู่เกาะแปซิฟิก ผู้เขียนเสียดายที่ไม่สามารถเขียนครอบคลุมแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ตามสมควรภายในบทความที่แสนสั้นชิ้นนี้

เหตุการณ์การเลือกปฏิบัติที่เกิดขึ้นต่อชาวเอเชียในปี 2021 เรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งจากทัศนคติความหวาดกลัวภัยเหลือง ไม่มีเหตุผลใดเลยที่ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศหรือโรคติดต่อ อย่าง COVID-19 จะนำไปสู่การเหยียดเชื้อชาติ กระนั้น อาชญากรรมจากความเกลียดชังที่มีต่อชาวเอเชีย โดยเฉพาะผู้หญิงและผู้สูงอายุ ก็ได้เริ่มแพร่กระจายอย่างกับไฟลามทุ่งโดยเฉพาะในหัวเมืองใหญ่ คำสบประมาทและคำดูถูกเพียงเพราะเป็นชาวเอเชียกลายเป็นสิ่งที่ได้ยินตามท้องถนนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อสถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้น ชาวเอเชียนอเมริกันที่ไม่อาจเฝ้าดูได้ต่อไปเมื่อได้เห็นความเจ็บปวดของผู้คนในชุมชนของพวกเขากับตาตัวเอง พวกเขาจึงเริ่มรวมตัวกัน จากความเป็นมาเหล่านี้การเคลื่อนไหว Stop Asian Hate จึงถือกำเนิดขึ้น

ความรุนแรงและวิธีการจากเหตุการณ์การเหยียดของสถานีวิทยุ Bayern 3 ไม่ได้ต่างไปจากสิ่งที่ BTS เคยเผชิญมาแล้วเสียเท่าไหร่ แต่การโต้ตอบในหลายปีก่อนนั้นแตกต่างออกไป ในขณะที่แต่ก่อนมีเพียงอาร์มี่ที่เรียกร้องคำขอโทษ ในเวลานี้นักร้องและนักแต่งเพลงชื่อดังชาวอเมริกัน ซึ่งรวมถึง Halsey และ Steve Aoki ก็ออกโรงวิพากษ์วิจารณ์การเหยียดเชื้อชาติของผู้ดำเนินรายการคนดังกล่าวเช่นกัน ทั้ง Columbia Records, Sony Music, Recording Academy ผู้จัดงานประกาศรางวัล Grammy และขาใหญ่รายอื่นๆ ในวงการเพลงเองก็ออกแถลงการณ์เพื่อสนับสนุนมูลเหตุดังกล่าว (แม้จะไม่ได้เอ่ยถึง BTS) โดยใช้แฮชแท็ก #StopAAPIHate อาจเป็นเพราะสถานะของ BTS ที่เฟื่องฟูขึ้น รวมถึงการประท้วงกรณี #BlackLivesMatter ในปี 2020 และการเคลื่อนไหว #StopAAPIHate ที่เริ่มขึ้นเมื่อปีที่แล้วในอเมริกาที่ทำให้สังคมอเมริกันเริ่มทบทวนการตระหนักถึงสิทธิของเชื้อชาติที่เป็นชนกลุ่มน้อย เหนือสิ่งอื่นใด ศิลปินที่รู้จักกันผ่านการร่วมงานกันก็ได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า BTS ไม่เพียงประสบความสำเร็จทางการค้าเท่านั้น แต่ยังเรียกร้องให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างต่อเนื่อง ในระหว่างที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างกันและกันในดินแดนที่ไม่คุ้นเคย สื่อต่างๆ อย่าง Billboard ที่แจกแจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่เต็มใจในตอนแรก ก็ได้ลงบทความเกี่ยวกับ BTS เสียที

ในวันที่ 10 เมษายน เครือข่ายโทรทัศน์ Mega ในประเทศชิลี ออกอากาศการแสดงตลกเกี่ยวกับ BTS ในเชิงเหยียดเชื้อชาติ อาร์มี่ทั่วโลกตต่างประณามการกระทำของ Mega ทางโซเชียลมีเดีย และเรียกร้องให้พวกเขาออกมาขอโทษ การรับมือกับคอนเทนต์ที่รุนแรงซ้ำแล้วซ้ำเล่าคงเป็นอะไรที่น่าเหนื่อยหน่าย แต่การตอบโต้ของอาร์มี่กลับไม่มีลดละ สิ่งที่น่าสนใจคือการที่สำนักข่าวใหญ่ๆ อย่าง The New York Times ออกบทความทันทีที่เหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นประเด็นใหญ่ในสหรัฐอเมริกา และด้วยสื่อทรงอิทธิพลทั่วโลกที่จับตามอง เครือข่ายโทรทัศน์ดังกล่าวจึงออกแถลงการณ์ขอโทษอย่างรวดเร็ว

การเหยียดเชื้อชาติลักษณะนี้ยังคงพุ่งเป้าต่อ BTS และต่อชาวเอเชียโดยรวม แต่วิธีที่ทั่วโลกรอบตัวพวกเขาตอบโต้ก็เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เป็นที่น่าสังเกตุว่าเหตุการณ์เหยียดผิวจากเครือข่ายโทรทัศน์ประเทศชิลีเป็นเหตุการณ์แรกที่เกี่ยวข้องกับ BTS หลังจากที่พวกเขาออกแถลงการณ์ Stop Asian Hate แม้กระทั่งก่อนหน้านี้ BTS ก็เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว การโดนเหยียดที่พวกเขาประสบพบเจอมาจึงเป็นสิ่งที่สมควรแก่การทำข่าว แต่สื่อตะวันตกกลับอิหลักอิเหลื่อที่จะรายงานข่าวเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ ส่วนสื่อเกาหลีก็ไม่ได้ให้ความสนใจเท่าไรนักเช่นกัน การที่สื่อตะวันตกเลี่ยงที่จะแสดงความเห็นต่อความขัดแย้งเป็นการเลือกปฏิบัติที่เกิดกับชนกลุ่มน้อยตัวอย่าง (Model Minority) อยู่โดยทั่วไป หนึ่งในความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นก็คือ ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและชาวอินเดียที่มีความทะเยอทะยานด้านการศึกษาที่สูงและประสบความสำเร็จ หรือมีสถานะทางสังคมจะไม่ต้องเป็นเป้าของการเหยียดหรือถูกเกลียดชัง ชาวเอเชียต้องทุกข์ทรมานกับความรุนแรงที่แสดงออกโดยไม่รู้ตัว (Microaggression) เหล่านี้ ประสบการณ์ที่พวกเขาถูกเหยียดจึงกลายเป็นสิ่งที่ด้อยค่าลงอยู่บ่อยครั้ง อย่างไรก็ดี หลังจากที่ BTS ปล่อยแถลงการณ์ออกมา พวกเขาก็ได้กลายเป็นมากกว่าชาวเอเชียผู้มีชื่อเสียง พวกเขาอยู่ในฝ่ายที่ตระหนักถึงอัตลักษณ์ความเป็นเอเชีย และเป็นผู้ที่ร่วมเปล่งเสียงในการเคลื่อนไหว #StopAAPIHate การลงมือที่รวดเร็วของสื่อก็เป็นการให้ความกระจ่างต่อ BTS ผู้ที่ได้กลายเป็นตัวการสำคัญในการต่อสู้กับปัญหาสังคมที่มีความสำคัญ

เป็นการยากที่จะสรุปว่าด้วยการตอบสนองที่รวดเร็วกว่าต่อกรณีการเหยียดที่เกิดกับ BTS การตระหนักถึงสิทธิของชาวเอเชียในอเมริกาและในตะวันตกจึงมีความคืบหน้ามากขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้เขียนก็อยากจะชี้ให้เห็นว่าการตอบสนองที่รวดเร็วยิ่งขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากความพยายามที่ผนวกรวมเข้าด้วยกัน นั่นก็คือการยืนหยัดของ ARMY ในการต่อสู้เกี่ยวกับปัญหาสังคมและคอยตั้งคำถามอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการตัดสินใจของ BTS และเพื่อนร่วมวงการที่เลือกที่จะไม่ปิดปากเงียบ มันเป็นเพียงก้าวเล็กๆ แต่ผู้เขียนก็เลือกที่จะมองว่ามันเป็นความคืบหน้าเมื่อเทียบกับจุดเริ่มต้น

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐฯ ลงมติผ่านร่างกฎหมายต่อต้านการก่ออาชญากรรมจากความเกลียดชังต่อชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ลงนามรับรองร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวพร้อมกล่าวอีกว่า “การเงียบคือการสมรู้ร่วมคิด” อย่างไรก็ตาม อาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังกลับยังคงดำเนินต่อไป หญิงสาวอีกรายถูกทำร้ายบนถนนบริเวณชานเมืองนครลอสแอนเจลิสเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน เพียงไม่กี่วันก่อนที่ผู้เขียนจะเขียนบทความชิ้นนี้ขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเหตุอาชญากรรมไม่ได้หยุดลงทันทีที่ผ่านร่างกฎหมาย แม้ความคืบหน้าจะเป็นไปอย่างล่าช้า แต่ในช่วงนี้ปฏิกิริยาตอบโต้ที่รุนแรงก็กำลังเกิดขึ้นอยู่เช่นกัน แม้จะสับสนอลหม่าน แต่เราก็ทำได้เพียงเผชิญหน้าต่อไป

ความยุติธรรมในรูปแบบของการเคารพสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมกันของชาวเอเชียจะต้องสำเร็จลุล่วง สังคมจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้นั้นต้องอาศัยเวลา แต่ก็ผู้คนจำนวนมากที่ไม่ยอมแพ้และเปล่งเสียงเรียกร้องขอความยุติธรรมให้เกิดขึ้นโดยทันที ในฐานะหน้าตาของชาวเอเชีย BTS เองก็อาจมีบทบาทในจุดนี้ไม่ว่าจะมากหรือจะน้อยเช่นกัน ในแถลงการณ์ของพวกเขาให้ข้อสรุปโดยกล่าวเอาไว้ว่า พวกเขาจะต่อต้านการแบ่งแยกชาติพันธุ์และความรุนแรง “ไปด้วยกัน” พลังในการอดทนต่อการต่อสู้อันแสนหนักหน่วงพบได้ในความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ผู้เขียนหวังว่าโลกที่ปรารถนาจะได้เห็นจะมาถึงในเร็ววัน

ที่มา | ส่วนหนึ่งจาก Weverse Magazine โดย แรนดี้ ซอ (นักวิจารณ์ดนตรี)
แปลจากภาษาอังกฤษและเกาหลีเป็นไทยโดย CANDYCLOVER

DMCA.com Protection Status

ทาง CANDYCLOVER มีความยินดีหากผู้อ่านเล็งเห็นประโยชน์ของคอนเทนต์นี้ และต้องการนำไปประกอบเอกสารหรือสื่อทางการศึกษา เผยแพร่ต่อบนโซเชียลมีเดีย รวมถึงนำไปผลิตของที่ระลึก เช่น Giveaway สำหรับแจกฟรี มิใช่การจัดจำหน่าย

หากต้องการนำข้อมูลไปใช้อ้างอิง กรุณาติดต่อทางอีเมลล์ bts.candyclover@gmail.com และรอการตอบกลับที่ระบุว่าอนุญาตแล้วเท่านั้น ยกเว้นกรณีการนำข้อมูลที่ “แปล เรียบเรียง หรือจัดทำโดย CANDYCLOVER” ไปรีโพสต์ ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ รีโพสต์บนแฟนเพจ เว็บไซต์ หรือเว็บบอร์ด ที่มิใช่แพลตฟอร์มของ CANDYCLOVER พร้อมใส่เครดิตเองโดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงนำไปเป็นคอนเทนต์ทางสื่อโทรทัศน์ หรือกระทำการใด ๆ ก็ตามที่เข้าข่ายแอบอ้างผลงาน หากพบเห็นจะดำเนินคดีทางกฎหมายให้ถึงที่สุด

หากท่านชื่นชอบคอนเทนต์ที่ CANDYCLOVER นำเสนอ สามารถให้การสนับสนุนพวกเราได้ง่าย ๆ เพียง 1.) ไม่สนับสนุนแอคเคาต์ที่แอบอ้างข้อมูลที่แปลโดย CANDYCLOVER 2.) รีพอร์ตแอคเคาต์ดังกล่าวผ่านระบบของแพลตฟอร์มที่ท่านพบเห็นโพสต์ที่เข้าข่าย โดยเลือกหัวข้อ “ละเมิดลิขสิทธิ์” 3.) สนับสนุนค่ากาแฟทาง Ko-fi หรือ Patreon

About the Author /

bts.candyclover@gmail.com

I go by the name Candy, a co-founder, admin, designer, translator, writer of and for CANDYCLOVER. I'm a graphic/UI designer and a self-taught Korean translator who's passionate about telling success stories of BTS in the form of mixed media from graphic to web-based experiences. Now, I'm also pursuing my career as a professional Korean translator. My recent book-length translation projects are: I AM BTS (TH Edition), BTS The Review (TH Edition) and more to come!

Post a Comment