‘ปรากฏการณ์ K-Pop บุก (K-Pop Invasion)’ จากกระแสเฉพาะท้องที่สู่ปรากฏการณ์ระดับโลก
ถึงเวลาแล้วที่ K-Pop ไม่ควรถูกนิยามเป็นเพียงเพลง ‘เพลงสมัยนิยมของเกาหลี’
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2012 K-Pop ก้าวกระโดดในอุตสาหกรรมเพลงระดับโลก ฤดูร้อนปีนั้น Psy สร้างสถิติที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อนบนชาร์ตเพลงหลายรายการและได้รับชื่อเสียงในระดับสากลจากเพลงสุดฮิตอย่าง Gangnam Style ต่อมา พจนานุกรมอ็อกซ์ฟอร์ดก็บัญญัติความหมายของ K-Pop ว่า ‘เพลงสมัยนิยมของเกาหลี’
หนึ่งทศวรรษผ่านไป K-Pop ไม่ได้เป็นเพียงแค่แนวเพลงประจำภูมิภาคที่สะดุดตาผู้ฟังทั่วโลกชั่วครั้งชั่วคราวอีกแล้ว K-Pop วางรากฐานเป็นวัฒนธรรมย่อยที่มีความสำคัญและโดดเด่นท่ามกลางวงการเพลงระดับสากลในฐานะมาตรฐานใหม่ของอุตสาหกรรม คุณสมบัติที่กล่าวมานี้ครอบคลุมทั้งในเชิงคุณค่าทางศิลป์และเครือข่ายแวดล้อมที่ฝึกฝนเหล่าศิลปินในวงการขึ้นมา
K-Pop แพร่กระจายไปทั่วโลกตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2000 เริ่มจากเข้าครอบครองตลาดเพลงญี่ปุ่น ที่ยังคงครองสถานะตลาดเพลงที่ใหญ่ที่สุดเป็นลำดับสอง จากนั้น K-Pop ก็แผ่ขยายเข้าสู่ประเทศแถบเอเชียตะวันออกจนถึงกลางทศวรรษ 2010
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่นิยามความเป็นเพลง K-Pop และยังคงแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการเติบโตของแนวเพลงนี้คือ การตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างรวดเร็วและการเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ นั่นเอง
ช็องมินแจ นักวิจารณ์เพลงกล่าวว่า “เพลงของวงไอดอล K-Pop มีรากฐานมาจาก ‘กาโย (เพลงยอดนิยมติดปากคนเกาหลี)’ ในยุคแรก ๆ ความโดดเด่นของเพลงแนวนี้คือ เมโลดี้อันเป็นเอกลักษณ์ที่ประกอบขึ้นเป็นเพลงโดยอาศัยการผสมผสานสารพัดเทรนด์ดนตรีจากทั่วโลก เช่น ป็อปตะวันตก ป็อปญี่ปุ่น (J-Pop) จนกลายมาเป็นซาวด์เพลงต้นฉบับที่ยังคงความร่วมสมัยไว้อยู่”
วง Seo Taiji and Boys ผู้วางรากฐานให้กับอุตสาหกรรม K-Pop ในปัจจุบัน เดบิวต์ในปี 1992 ด้วยซาวด์เพลงผสมผสานแนวฮิปฮอป R&B และป็อปแดนซ์ ซึ่งแตกต่างออกไปจากเพลงที่เคยมีมาในเกาหลีอย่างสิ้นเชิง
นอกเหนือจากซาวด์เพลงแล้ว อุตสาหกรรม K-Pop ยังตื่นตัวต่อการนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาดัดแปลงและใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาโมเดลธุรกิจที่สร้างผลกำไรงาม ๆ อีกด้วย
ในปี 2009 สังกัด JYP Entertainment ทุ่มสุดตัวเพื่อบุกตลาดเพลงกระแสหลักในอเมริกาเป็นครั้งแรกแต่ก็ล้มเหลว ทว่าลึกลงไป K-Pop กลับขยายตัวเลยประเทศในแถบทวีปเอเชียไปจนถึงทวีปยุโรป รวมถึงสหรัฐอเมริกาบางแถบผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คิมโดฮ็อน นักวิจารณ์เพลงป็อปมองว่า การเข้าถึง K-Pop ได้ง่ายผ่านสื่อต่าง ๆ เป็นคุณสมบัติดั้งเดิมของ K-Pop ที่ทำให้แนวเพลงนี้เข้าถึงผู้คนทั่วโลก “วงการ K-Pop ปรับตัวเข้ากับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังกระตือรือร้นโปรโมตเพลงด้วยสารพัดคอนเทนต์วิดีโอที่ตัวศิลปินผลิตเอง ศิลปินในวงการจึงขยายฐานแฟนคลับในตลาดเพลงระดับโลกได้อย่างรวดเร็ว”
ด้วยเหตุนี้ K-Pop จึงได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็นแนวเพลงเฉพาะของตัวเองทีละน้อย คอนเสิร์ต SM Town World Tour in Paris (ปี 2011) จำนวน 2 รอบซึ่งจำหน่ายบัตรได้หมดเกลี้ยง เป็นคอนเสิร์ต K-Pop คอนเสิร์ตแรกที่จัดขึ้นในทวีปยุโรป โดยดึงดูดผู้ชมได้ราว 14,000 ราย ต่อมาในปี 2012 กระแสความคลั่งไคล้เพลง Gangnam Style ก็ลืมตาสู่โลกและสร้างสถิติบนชาร์ตเพลงและการจัดอันดับทั่วโลกชนิดเกินความคาดหมาย
ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา K-Pop พัฒนาและขยายตัวออกไปในหลายมิติ วงการ K-Pop ที่มี BTS วงบอยแบนด์ผู้น่าตื่นตาเป็นหัวหอก ก้าวข้ามกำแพงแห่งอุตสาหกรรมเพลงอเมริกันกระแสหลักที่ดูยากเกินจะโค่นลงได้สำเร็จ เจ็ดหนุ่ม BTS สร้างประวัติศาสตร์และปูทางในสหรัฐอเมริกาให้กับศิลปินร่วมวงการ K-Pop รายอื่น ๆ
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า K-Pop คือ หนึ่งในแนวเพลงทางเลือกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในตลาดเพลงกระแสหลัก ผู้เชี่ยวชาญเองยังชี้ให้เห็นเลยว่า ก้าวถัดไปของวงการ K-Pop ในยุคโลกาภิวัฒน์คือ การเสาะหาความยั่งยืน ซึ่งก็น่าตลกดีที่ปัจจัยสำคัญสู่ความยั่งยืนคือ การสละ ‘ความเป็นเกาหลี’ ออกจาก K-Pop นั่นเอง
คิมโดฮ็อนกล่าว “K-Pop มิใช่เพียงแค่แนวเพลงแนวหนึ่ง หากแต่ระบบการผลิตทั้งหมดในวงการนี้ เป็นที่ที่ใช้วางแผนและปล่อยศิลปินไอดอลกับงานเพลงของไอดอลออกสู่ตลาด ระบบนี้เป็นสิ่งที่นำไปดัดแปลงกับที่ไหนบนโลกนี้ก็ได้ การมานั่งถกเถียงกันว่าจะนำ K-Pop ไปใช้เป็นสื่อกลางในการเผยแพร่วัฒนธรรมเกาหลีได้อย่างไรนั้น กลายเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญไปเสียแล้ว เพราะเราเดินทางมาถึงจุดที่ต้องพูดคุยกันแล้วว่า จะนำ K-Pop และระบบของอุตสาหกรรมนี้ไปประยุกต์ใช้กับสภาพแวดล้อมในภูมิภาคต่าง ๆ ที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตัวเองได้อย่างไร”
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สังกัดค่ายเพลง K-Pop จัดงานออดิชันระดับโกลบอลเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากเพื่อเสาะหาศิลปินฝึกหัดมาอยู่ในสังกัด โดยไม่สนว่าพวกเขาหรือเธอมีพื้นเพทางเชื้อชาติและชาติพันธุ์ใด ในปี 2022 สังกัดใหญ่ ๆ จำนวนมาก เช่น SM Entertainment, HYBE และ CJ Entertainment ต่างประกาศแผนฝึกฝนและเดบิวต์ศิลปินกลุ่มในสหรัฐอเมริกา วงหลายสัญชาติที่ผ่านมาก็ยังคงปักหลักอยู่ที่เกาหลีและใช้ภาษาเกาหลีเป็นภาษาหลัก ในขณะที่วงใหม่ ๆ ในแผนของสังกัดใหญ่ ๆ นั้นจะได้รับการฝึกฝนที่สหรัฐอเมริกาและเดบิวต์ในฐานะศิลปินกลุ่มระดับโกลบอล
ระบบ K-Pop เป็นโมเดลธุรกิจที่ได้รับการยอมรับในตัวมันเอง แต่ระบบ K-Pop เองก็ยังมีลู่ทางให้ปรับปรุงพัฒนาได้อีก โดยเริ่มจากประเด็นการเปิดกว้างสู่วัฒนธรรมที่แตกต่างจากวัฒนธรรมของตัวเอง
อี-กยูทัก ศาสตราจารย์ผู้ศึกษาด้านวัฒนธรรมจากมหาวิทยาลัยจอร์จเมสันแห่งเกาหลีใต้กล่าว “กุญแจสู่ความสำเร็จของ K-Pop คือ ความสามารถในการผสมและผสานเพื่อให้ได้สิ่งใหม่ที่กลมกล่อม ทว่าก็ยังคงมีประเด็นเรื่องการฉกฉวยวัฒนธรรมและความจำเพาะสำหรับคนกลุ่มใดคนหนึ่งอยู่ อิทธิพลของ K-Pop ในฐานะซอฟต์พาวเวอร์ที่ทำให้ผู้คนต่างพื้นเพมารวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน เป็นสิ่งที่ได้ประจักษ์แก่สายตาของเราเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่การจะทำให้ K-Pop กลายเป็นแนวเพลงระดับโลกอย่างแท้จริง K-Pop ต้องยอมรับและเข้าใจในวัฒนธรรมอื่น ๆ ด้วย ดังนั้นยิ่ง K-Pop มีความเป็นเกาหลีน้อยลงเท่าไร ก็จะทำให้ K-Pop ลงหลักปักฐานในระดับโลกได้สำเร็จมากขึ้นเท่านั้น”
แทนที่จะเสาะหาหนทางขึ้นสู่จุดสูงสุด ดังที่ K-Pop ได้ทำมาแล้วยุคโลกาภิวัตน์ แท้จริงแล้วอานุภาพของ K-Pop อาจอยู่ที่ ความสามารถในการแผ่ขยายออกไปสู่ภายนอกและถักทอตัวมันเองในสภาพแวดล้อมที่อยู่เหนือพรมแดนทางเชื้อชาติก็เป็นได้
อีฮเยจิน ศาสตราจารย์ผู้ศึกษาด้านวรรณกรรมเอเชียตะวันออกและวัฒนธรรมสมัยนิยมจากมหาวิทยาลัยเซ-มย็องกล่าว “การนำเสนอความสนุกสนานเพลิดเพลินแก่ฐานแฟนคลับขนาดใหญ่ในระยะเวลาอันสั้นไม่ใช่สิ่งที่พบเห็นกันได้บ่อย ๆ คุณค่าที่แท้จริงของ K-Pop คือ การที่แนวเพลงนี้นำเสนอประสบการณ์ร่วมให้กับผู้คนมากมายทั่วโลกพร้อม ๆ กันได้”
อุตสาหกรรม K-Pop จึงต้องมุ่งหน้าไปยังทิศทางนี้ ถึงจะสร้างระบบที่ตัวศิลปินสามารถเจริญก้าวหน้าในฐานะศิลปินได้ มากกว่าเป็นแค่องค์ประกอบหนึ่งของอุตสาหกรรม
ในเดือนมิถุนายนปี 2022 BTS ประกาศพักกิจกรรมวงชั่วคราวเพื่อโฟกัสกับชีวิตส่วนตัวและผลงานเดี่ยว พวกเขาได้เปิดปากบอกเล่าถึงความเหนื่อยล้าทางกายและใจอันเป็นผลมาจากระบบของอุตสาหกรรม K-Pop อีกด้วย RM หัวหน้าวง BTS กล่าว “ตัววงการ K-Pop และระบบการเป็นไอดอล มันไม่ปล่อยให้คนเราได้เติบโต เราต้องถ่ายทำ ต้องทำอะไรสักอย่างอยู่ตลอด”
แก่นสำคัญของแนวเพลงป็อปทุกแนวตั้งอยู่ที่ศักยภาพเชิงพาณิชย์ แต่เราก็ต้องยอมรับว่า K-Pop มีการแข่งขันสูงขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อเหล่าศิลปินจำเป็นนำเสนอผลงานที่มีคุณภาพและปริมาณในระดับสูงสุดภายใต้ระยะสัญญา 7 ปีตามที่กฎหมายกำหนดไว้
ช็องมินแจกล่าว “ทุกวันนี้ วงไอดอลปล่อยซิงเกิลหรืออัลบั้มกัน 2-3 ชุดต่อปี ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยแม้แต่น้อย ในขณะที่ศิลปินป็อปฝั่งตะวันตกหรือศิลปิน K-Pop ที่เป็นที่ยอมรับอย่างเช่น BLACKPINK ปล่อยผลงานอัลบั้มเดียวในทุก ๆ หนึ่งหรือสองปี” ศิลปินจึงไม่มีเวลาได้เติบโตในสภาพแวดล้อมแบบนี้
การเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มในระดับอุตสาหกรรมเป็นสิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องลงมือร่วมมือกัน แต่ในระยะยาวนั้น คิมโดฮ็อนแนะนำว่า ค่ายเพลงและระบบฝึกฝนศิลปินต้องเปลี่ยนแปลงก่อนเป็นลำดับแรก ความก้าวหน้าขั้นพื้นฐานจึงจะเกิดขึ้นได้ คิมโดฮ็อนยังกล่าวอีกว่า ระบบฝึกฝนศิลปินไม่ควรมุ่งเน้นเฉพาะการขัดเกลาความสามารถของศิลปินบนเวทีเท่านั้น แต่ควรให้ความสำคัญกับการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในฐานะปัจเจกเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อให้ศิลปินมีพื้นที่สำหรับความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นนั่นเอง
เมมเบอร์ BTS ผู้คอยผลักดันเกินขอบเขตในสิ่งที่ตัวเป็นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในฐานะศิลปินและบุคคลทรงอิทธิพลผู้มีพลังทางความคิด ได้กำหนดแบบอย่างที่สมเหตุสมผลแก่ศิลปินในอนาคตเอาไว้แล้ว
คิมโดฮ็อนกล่าวปิดท้าย “ผมเชื่อว่าเมมเบอร์ BTS ได้แสดงให้เห็นแบบอย่างที่สมเหตุสมผลสำหรับไอดอลเจเนอร์เรชันใหม่แล้ว แม้ว่าจะยังมีข้อจำกัดอยู่ก็ตามที BTS ไม่ได้หยุดอยู่แค่แต่งเนื้อเพลงและแต่งเพลง แต่พวกเขาเติบโตเป็นศิลปินที่สามารถถ่ายทอดแนวคิดผ่านงานเพลง เวลานี้เพลง K-Pop ควรต้องมีแนวคิดในลักษณะนั้นสอดแทรกอยู่ในงานเพลงบ้าง เช่นหลักความจริงของชีวิต แทนที่จะอัดฉีดแง่มุมบางอย่างให้กับศิลปินฝึกหัด สิ่งที่ค่ายเพลงต้องทำคือ การพัฒนาระบบที่ศิลปินฝึกหัดสามารถพัฒนามุมมองของตัวเองในฐานะปัจเจกได้ต่างหาก”
ที่มา | The Korea Herald
แปลและเรียบเรียงจากอังกฤษเป็นไทยโดย CANDYCLOVER
ทาง CANDYCLOVER มีความยินดีหากผู้อ่านเล็งเห็นประโยชน์ของคอนเทนต์นี้ และต้องการนำไปประกอบเอกสารหรือสื่อทางการศึกษา เผยแพร่ต่อบนโซเชียลมีเดีย รวมถึงนำไปผลิตของที่ระลึก เช่น Giveaway สำหรับแจกฟรี มิใช่การจัดจำหน่าย
หากต้องการนำข้อมูลไปใช้อ้างอิง กรุณาติดต่อทางอีเมลล์ bts.candyclover@gmail.com และรอการตอบกลับที่ระบุว่าอนุญาตแล้วเท่านั้น ยกเว้นกรณีการนำข้อมูลที่ “แปล เรียบเรียง หรือจัดทำโดย CANDYCLOVER” ไปรีโพสต์ ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ รีโพสต์บนแฟนเพจ เว็บไซต์ หรือเว็บบอร์ด ที่มิใช่แพลตฟอร์มของ CANDYCLOVER พร้อมใส่เครดิตเองโดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงนำไปเป็นคอนเทนต์ทางสื่อโทรทัศน์ หรือกระทำการใด ๆ ก็ตามที่เข้าข่ายแอบอ้างผลงาน หากพบเห็นจะดำเนินคดีทางกฎหมายให้ถึงที่สุด
หากท่านชื่นชอบคอนเทนต์ที่ CANDYCLOVER นำเสนอ สามารถให้การสนับสนุนพวกเราได้ง่าย ๆ เพียง 1.) ไม่สนับสนุนแอคเคาต์ที่แอบอ้างข้อมูลที่แปลโดย CANDYCLOVER 2.) รีพอร์ตแอคเคาต์ดังกล่าวผ่านระบบของแพลตฟอร์มที่ท่านพบเห็นโพสต์ที่เข้าข่าย โดยเลือกหัวข้อ “ละเมิดลิขสิทธิ์” 3.) สนับสนุนค่ากาแฟทาง Ko-fi หรือ Patreon