คุณงามความดี

คุณงามความดีที่ BTS สร้างให้เกาหลีใต้

หนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ที่ยิ่งใหญ่จากเกาหลีใต้

BTS ในฐานะศิลปินผู้สร้างแรงบันดาลใจผ่านบทเพลงที่ก้าวข้ามกำแพงทางภาษา สู่การสร้างเม็ดเงินอย่างมหาศาล

“บทเพลงคือภาษาของเรา และความฝันคือแผนที่ที่นำทางตัวเรา เราขับร้องเรื่องราวของแต่ละคนกันคนละภาษา และเดินทัพไปข้างหน้าด้วยกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด พวกเรา BTS ไม่ได้มีเพียง 7 คน เพราะมันจะเป็นเรื่องราวของคุณ ผม พวกเรา และทุก ๆ คน” — RM จากคอนเสิร์ต Map of the Soul ON:E

เครื่องมือสำคัญของ BTS คือ การสื่อสารแนวความคิดและความเชื่อของตนในประเด็นสังคม การเมือง และสุขภาพจิต เรื่องราวที่พวกเขาบอกเล่านับตั้งแต่เดบิวต์ แสดงให้เห็นถึงการต่อสู้ดิ้นรนในสภาพสังคมที่ตีกรอบและคาดหวัง การค้นหาความฝันและตัวตน ตลอดจนการรักตัวเองและยอมรับในสิ่งที่เป็น ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นตัวตนที่เคยบอบช้ำ ผิดพลาด หรือเป็นอัตลักษณ์ทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม เรื่องราวเหล่านี้ถูกถ่ายทอดผ่านฝีไม้ลายมือในการทำเพลงที่มีชั้นเชิง สนุกสนาน หลากหลาย ทันเทรนด์ และมีสุนทรียะทางดนตรี คุณค่าในบทเพลงของพวกเขาจึงฝ่ากำแพงทางภาษา สู่ผู้ฟังทุกเพศ ทุกชาติ ทุกวัย และก่อให้เกิดปรากฏการณ์ที่กำหนดมาตรฐานความสำเร็จขึ้นใหม่ ดังจะเห็นได้ว่า จากเดิมที่กระแสการเสพวัฒนธรรมเกาหลีเคยจำกัดอยู่ในหมู่ชาวเอเชีย กระแสนั้นได้พัฒนาจากระดับภูมิภาคสู่ระดับโลก โดยมี BTS เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ

นอกจากอิทธิพลทางวัฒนธรรมแล้ว BTS ยังสร้างปรากฏการณ์ที่นำมาซึ่งเม็ดเงินมหาศาลแก่เกาหลีใต้ พิสูจน์ได้จากยอดขายถล่มทลายจากการจำหน่ายเพลง อัลบั้ม สินค้า และคอนเสิร์ต ฯลฯ ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจเกาหลีใต้ถึงปีละกว่า 5 ล้านล้านวอน หรือประมาณ 0.5% ของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของเกาหลีใต้ (ตามข้อมูลล่าสุดเมื่อปี 2021 จากสำนักข่าวนิคเคอิ)

และความสำเร็จกับอิทธิพลของ BTS นั้นก็ไม่ได้เพิ่งผลิดอกออกผล ไม่ใช่ปรากฏการณ์ชั่วข้ามคืน แต่เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และประจักษ์ต่อสายตาทั่วโลกมาตั้งแต่ก่อนที่พวกเขาจะออกผลงานเพลงภาษาอังกฤษแล้ว

BTS ในฐานะผู้แทนประธานาธิบดีพิเศษฯ และการเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ ผู้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติถึง 3 ครั้ง

การปรากฏตัวของ BTS บนหนึ่งในเวทีโลกที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เรียกได้ว่า เป็นซอฟต์พาวเวอร์อันเป็นรูปธรรมผ่านการทูตเชิงวัฒนธรรม ที่รัฐบาลเกาหลีอัดฉีดและส่งเสริมมาอย่างต่อเนื่อง นอกจาก BTS จะเป็นกระบอกเสียงของเยาวชนผ่านบทเพลงที่พวกเขาถ่ายทอดแล้ว พวกเขายังใช้เวทีระดับโลกอย่างการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เพื่อส่งสารแก่เยาวชนและคนทั่วโลกให้หันมายอมรักและรักตัวเอง (UNGA ครั้งที่ 73) ให้มีความหวังและทะนุถนอมตัวเองให้มั่นคงในยามที่โลกและตัวเรากำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ COVID-19 (UNGA ครั้งที่ 75) อีกทั้งมอบกำลังใจให้ลุกขึ้นเริ่มต้นใหม่อีกครั้งไม่ว่าคนอื่นจะมีคำครหาอย่างไร (UNGA ครั้งที่ 76)

BTS ในฐานะศิลปินเอเชียรายแรกผู้คว้ารางวัลใหญ่ที่สุด ได้แก่ ศิลปินแห่งปี จากงานประกาศรางวัล American Music Awards

ก้าวเล็ก ๆ ก้าวแรกของ BTS ในตลาดเพลงป็อประดับโลก เริ่มต้นขึ้นที่งานประกาศรางวัลด้านดนตรีในสหรัฐอเมริกาอย่าง Billboard Music Awards เมื่อปี 2017 แม้ความสำเร็จครั้งนั้นจะไม่เคยมีศิลปินเกาหลีรายใดทำได้มาก่อน แต่ความสำเร็จของพวกเขากลับถูกดูแคลนว่าเป็นเพียงกระแสคลั่งไคล้ประเดี๋ยวประด๋าวบนโลกโซเชียล หรือบ้างก็ว่าเป็นกระแสของแฟนคลับวัยรุ่นสาวที่บ้าคลั่งไปวัน ๆ แต่จาก ณ ตอนนั้นมาจนถึงปัจจุบัน BTS ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ฐานแฟนคลับของพวกเขาทรงพลัง ไร้พรมแดน และประกอบไปด้วยผู้คนทุกเพศ ทุกวัย อีกทั้งพวกเขายังได้รับการยอมรับในแวดวงเพลงป็อปอเมริกัน และสื่อกระแสหลักในอเมริกายิ่งกว่าศิลปินรายใดในวงการ K-Pop ส่งผลให้พวกเขากลายเป็นศิลปินเอเชียรายแรกที่ได้เข้าชิงและคว้ารางวัลใหญ่ของงาน ซึ่งเทียบได้กับรางวัลแทซังของงานประกาศรางวัลในเกาหลีมาครอบครอง

BTS ในฐานะศิลปินเกาหลีเพียงหนึ่งเดียวผู้เข้าชิงรางวัล GRAMMYs ถึง 2 ปีซ้อน

“…BTS คือศิลปินเกาหลีรายแรกในวงการเพลงสมัยนิยมเกาหลี ผู้ตบเท้าสู่งานประกาศรางวัล GRAMMYs แค่นั้นก็เพียงพอให้เรายอมรับและยินดีไปกับพวกเขาแล้ว” — อาจารย์คิมยองแด จากหนังสือ BTS The Review : วิเคราะห์ความสำเร็จของ BTS

ความสำเร็จของ BTS ไม่ได้ได้การยอมรับจากคนเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรืองานประกาศรางวัลเพียงไม่กี่งาน ความสำเร็จจากสถิติและยอดขาย อีกทั้งอิทธิพลของพวกเขาเป็นที่ประจักษ์บนเวทีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับศิลปินและวงการดนตรีอย่างงาน GRAMMYs ถึง 2 ครั้ง ด้วยการเข้าชิงรางวัลสาขา Best Pop Duo/Group Performance เป็นครั้งแรกในปี 2021 ด้วยเพลง Dynamite ตามด้วยเพลง Butter เป็นครั้งที่สองในปี 2022

นอกจากการเข้าชิงถึง 2 ปีซ้อน และขึ้นแสดงอีก 3 ครั้ง รวมเป็นปรากฏตัวทั้งหมด 4 ครั้งจะเป็นความสำเร็จในตัวเองแล้ว ความสำเร็จเหล่านี้ยังเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีศิลปินเกาหลีรายใดเคยทำได้มาก่อนอีกด้วย

BTS ในฐานะผู้เข้าร่วมหารือร่วมกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ณ ทำเนียบขาว ในวาระเฉลิมฉลอง AANHPI Heritage Month

BTS เตรียมเข้าร่วมหารือร่วมกับประธานาธิบดี โจ ไบเดน ที่ทำเนียบขาว ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ในหัวข้ออาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังที่มีต่อชาวเอเชีย ความสำคัญของความหลากหลายและการรวมเป็นหนึ่ง รวมถึงแพลตฟอร์มของ BTS ในฐานะทูตแห่งการเผยแพร่ถ้อยคำแห่งความหวังและพลังบวกไปทั่วโลก และเฉลิมฉลอง ‘เดือนแห่งประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ชาวฮาวายพื้นเมือง และชาวหมู่เกาะแปซิฟิก (AANHPI Heritage Month)’ ในวันที่ 31 พฤษภาคม นี้ (ตามเวลาท้องถิ่นอเมริกา)

BTS ในฐานะทูตกิตติมศักดิ์สนับสนุนงาน 2030 Busan Expo

BTS ร่วมกับ อีจองแจ นักแสดงชาย, โรซี่ อินฟลูเอนเซอร์เกาหลีสร้างจากปัญญาประดิษฐ์, Moishe Mana นักธุรกิจพันล้านชาวอิสราเอล ได้รับการแต่งตั้งเป็นทูตกิตติมศักดิ์ เพื่อสนับสนุนการประมูลเพื่อเป็นประเทศเจ้าภาพในการจัดงานมหกรรมโลกที่เมืองพูซัน เกาหลีใต้ ในปี 2030 หรือ 2030 Busan Expo

เพื่อสนับสนุนการประมูลจัดงาน 2030 Busan Expo ครั้งนี้ HYBE ต้นสังกัดของ BTS ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับเขตการปกครองพูซัน สำหรับการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของ BTS ดังนี้

  • รับตำแหน่งทูตกิตติมศักดิ์
  • จัดคอนเสิร์ตระดับโกลบอลที่พูซันในเดือนตุลาคม 2022
  • ลงพื้นที่เป็นไกด์แนะนำพูซัน หากกองเลขาธิการสำนักงานมหกรรมโลก (BIE) เดินทางมายังพูซัน
  • ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทูตกิตติมศักดิ์ ณ ตอนนำเสนองานประมูลในที่ประชุมใหญ่ BIE พร้อมส่งข้อความสนับสนุนให้พูซันได้เป็นประเทศเจ้าภาพจัดมหกรรม
  • ร่วมกิจกรรมประชาสัมพันธ์ทั้งในและต่างประเทศ เช่น ถ่ายภาพนิ่งและคลิปวิดีโอ ฯลฯ
  • เข้าร่วมงานออกเสียงเลือกประเทศเจ้าภาพจัดมหกรรมโลก ณ ที่ประชุมใหญ่ BIE ในเดือนพฤศจิกายนปี 2023

RM ลีดเดอร์วง BTS ในฐานะทูตกิตติมศักดิ์ MAKRI

RM (BTS) ได้รับการแต่งตั้งเป็นทูตกิตติมศักดิ์ ของคณะทำงานเก็บกู้และระบุตัวทหารผู้เสียชีวิตในหน้าที่ในสงครามเกาหลีเพื่อส่งคืนสู่ครอบครัว ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงกลาโหมเกาหลี (국방부 유해발굴감식단 / MND Agency for KIA Recovery & Identification หรือ MAKRI)

RM เป็นทูตกิตติมศักดิ์ลำดับที่ 3 ต่อจาก ศาสตราจารย์ซอ-กย็องด็อก (2016) และซงแฮ อดีตพิธีกรระดับตำนานของเกาหลีใต้ผู้ล่วงลับ (2021)


จากซอฟต์พาวเวอร์สู่คุณค่าทางเศรษฐกิจ

ปี 2018

17 ธันวาคม 2018 : งานวิจัยมูลค่าทางเศรษฐกิจจาก BTS จัดทำโดยสถาบันค้นคว้าฮยอนแด (Hyundai Research Institute) | ดาวน์โหลดรายงานต้นฉบับ

  • ผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยต่อปีที่เกิดขึ้นจาก BTS
    • ผลกระทบที่กระตุ้นการผลิต: 4.14 ล้านล้านวอน
    • ผลกระทบที่กระตุ้นให้เกิดมูลค่าเพิ่ม: 1.42 ล้านล้านวอน
    • รวม 5.56 ล้านล้านวอน (166,800 ล้านบาท)
  • ผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยในระยะเวลา 10 ปี (2014-2023) ที่เกิดขึ้นจาก BTS ตั้งสมมติฐานในกรณีที่ BTS รักษามาตรฐานโดยเฉลี่ยจากระดับความนิยมที่เพิ่มสูงขึ้นในระหว่างปี 2013-2018
    • ผลกระทบที่กระตุ้นการผลิต: 41.86 ล้านล้านวอน
    • ผลกระทบที่กระตุ้นให้เกิดมูลค่าเพิ่ม: 14.3 ล้านล้านวอน
    • รวม 56.16 ล้านล้านวอน (1.6848 ล้านล้านบาท)

ปี 2019

2 ตุลาคม 2019 : BTS สร้างรายได้ให้กับเกาหลีใต้ในปี 2018 ราว 4,650 ล้านเหรียญสหรัฐ (153,450 ล้านบาท) คิดเป็น 0.3% ของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) | รายงานจาก The Hollywood Reporter

22 ธันวาคม 2019 : งานวิจัยมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากคอนเสิร์ต Love Yourself: Speak Yourself [The Final] โดย BTS จัดทำโดยทีมคณาจารย์คณะบริหารธุรกิจของศาสตราจารย์ พยอนจูฮยอน จากมหาวิทยาลัยโครยอ (Korea University) | ดาวน์โหลดรายงานต้นฉบับ หรือ อ่านสกู๊ปรายงานฉบับภาษาไทย

  • ผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจทางตรง: 330,660 ล้านวอน
  • ผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจทางอ้อม: 592,290 ล้านวอน
  • รวม 922,950 ล้านวอน (27,688 ล้านบาท) และเกิดผลกระทบแบบระลอกคลื่นต่ออีก 1.8 เท่า
    • ผลกระทบแบบระลอกคลื่นต่อการผลิต 1.1615 ล้านล้านวอน (34,845 ล้านบาท)
    • ผลกระทบที่กระตุ้นให้เกิดมูลค่าเพิ่ม: 572,900 ล้านวอน (17,187 ล้านบาท)

ปี 2020

7 กันยายน 2020 : งานวิจัยมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากเพลง Dynamite โดย BTS ครองอันดับ 1 บนชาร์ต Billboard Hot 100 จัดทำโดยกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว แห่งเกาหลีใต้ | ดาวน์โหลดรายงานต้นฉบับ หรือ อ่านสกู๊ปรายงานฉบับภาษาไทย

  • ผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจ
    • ผลกระทบที่กระตุ้นการผลิต: 1.2324 ล้านล้านวอน
    • ผลกระทบที่กระตุ้นให้เกิดมูลค่าเพิ่ม: 480,100 ล้านวอน
    • ผลกระทบที่กระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน: 7,928 อัตรา
    • รวม 1.7125 ล้านล้านวอน (51,375 ล้านบาท)

ผลกระทบทางตรงและมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจำนวน 245,700 ล้านวอน คำนวณโดยใช้ผลกระทบทางตรงที่เกิดขึ้นจากอัลบั้ม Map of the Soul: Persona ครองอันดับ 1 บนชาร์ต Billboard 200 เมื่อปี 2019 เป็นตัวชี้วัด (ผลจากอัลบั้ม Persona คำนวณจากยอดขายที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน – ธันวาคม 2019 เป็นเวลา 9 เดือน โดยคาดว่า 75% ของยอดขายทั้งหมดในปี 2019 มาจากอัลบั้ม Persona)

ปี 2021

29 ตุลาคม 2021 : BTS สร้างรายได้ต่อปีให้กับเกาหลีใต้ราว 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (165,000 ล้านบาท) คิดเป็น 0.5% ของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) | รายงานจากสำนักข่าวนิคเคอิ (Nikkei Asia)

ปี 2022

20 เมษายน 2022 : งานวิจัยมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดจากคอนเสิร์ต BTS ในยุคหลัง COVID-19 จัดทำโดยสถาบันวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเกาหลี (Korea Cultural & Tourism Institute) | ดาวน์โหลดรายงานต้นฉบับ

  • ผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจต่อคอนเสิร์ต 1 รอบ
    • ผลกระทบที่กระตุ้นการผลิต: 619,700 ล้าน – 1.2207 ล้านล้านวอน (18,591 – 36,621 ล้านบาท)
    • ผลกระทบที่กระตุ้นให้เกิดมูลค่าเพิ่ม: 293,400 – 570,600 ล้านวอน (8,802 – 17,118 ล้านบาท)
    • ผลกระทบที่กระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน: 5,692 – 10,815 อัตรา
  • ผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจต่อคอนเสิร์ต 10 รอบตลอด 1 ปี
    • ผลกระทบที่กระตุ้นการผลิต: 6.1967 – 12.2068 ล้านล้านวอน (185,901 – 366,204 ล้านบาท)
    • ผลกระทบที่กระตุ้นให้เกิดมูลค่าเพิ่ม: 2.934 – 5.7057 ล้านล้านวอน (88,020 – 171,171 ล้านบาท)
    • ผลกระทบที่กระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน: 56,920 – 108,150 อัตรา
  • ผลกระทบที่เป็นตัวกระตุ้นและมูลค่าที่ก่อให้เกิดการอุปโภคบริโภคต่อการเปิดคอนเสิร์ต 1 รอบ
    • มูลค่าที่ก่อให้เกิดการอุปโภคบริโภคต่อการเปิดคอนเสิร์ต 1 รอบ
      • ยอดขายบัตรคอนเสิร์ตออฟไลน์ ออนไลน์: 108,470 ล้านวอน
      • ยอดขายสินค้าออฟฟิเชียล: 13,845 ล้านวอน
      • รวม 122,290 ล้านวอน (3,668.7 ล้านวอน)
    • ผลกระทบที่กระตุ้นการผลิต: 209,000 ล้านวอน (6,270 ล้านบาท)
    • ผลกระทบที่กระตุ้นให้เกิดมูลค่าเพิ่ม: 103,500 ล้านวอน (3,105 ล้านบาท)
    • ผลกระทบที่กระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน: 2,172 อัตรา
  • ผลกระทบที่เป็นตัวกระตุ้นและมูลค่าที่ก่อให้เกิดการอุปโภคบริโภคภายนอกคอนเสิร์ต
    • มูลค่าการจับจ่ายใช้สอยจากผู้ชมต่างชาติระหว่างมาท่องเที่ยวและพักแรมในโซล
      • ค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยว: 180,400 – 451,000 ล้านวอน
      • ค่าใช้จ่ายจากการเดินทาง: 66,381 – 165,950 ล้านวอน
    • มูลค่าการจับจ่ายใช้สอยจากผู้ชมในพื้นที่ระหว่างมาท่องเที่ยวและพักแรมในโซล
      • ค่าใช้จ่าย ณ วันงาน: 2,221 – 3,538 ล้านวอน
      • ค่าใช้จ่ายจากพักแรม: 690.3 – 1,104.4 ล้านวอน
    • ผลกระทบที่กระตุ้นการผลิต: 410,700 ล้าน – 1.0117 ล้านล้านวอน (12,321 – 30,351 ล้านบาท)
    • ผลกระทบที่กระตุ้นให้เกิดมูลค่าเพิ่ม: 189,900 – 467,100 ล้านวอน (5,697 – 14,013 ล้านบาท)
    • ผลกระทบที่กระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน: 3,520 – 8,644 อัตรา

การคาดคะเนในงานวิจัยนี้ วิเคราะห์มูลค่าทางเศรษฐกิจวิเคราะห์จากผลรวมยอดขายบัตรคอนเสิร์ตและสินค้า, ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว ค่าโดยสาร และค่าที่พักของผู้ชมต่างชาติ ตั้งสมมติฐานจากคอนเสิร์ต Permission to Dance on Stage – LA และคอนเสิรต Permission to Dance on Stage – Seoul โดยได้นำเสนอผลกระทบแบบระลอกคลื่นทางเศรษฐกิจตามแต่ละรูปแบบสถานการณ์ (Scenario) ทั้งหมด 3 รูปแบบ จากสัดส่วนผู้ชมต่างชาติที่ 20%, 35% และ 50% เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น พฤติกรรมช็อปให้หายแค้นหลังวิกฤตการณ์ COVID-19 จบลง

ระยะการเปลี่ยนแปลงของจำนวนผู้ชมจากต่างชาติ อ้างอิงมาจากข้อมูลในภาคธุรกิจที่ระบุว่ากว่า 70% ของผู้ชมผู้ชมคอนเสิร์ต Permission to Dance on Stage – LA เป็นชาวต่างชาติหรือมาจากรัฐอื่น

สำหรับคอนเสิร์ต Permissio to Dance o Stage – Seoul นั้นคำนวณจากความจุที่นั่งทั้งหมดที่สนามกีฬา Jamsil Olympic Stadium รองรับได้ที่จำนวน 65,000 ที่นั่ง


ผลงานและเกียรติประวัติสำคัญ

เนื่องจาก BTS สร้างสถิติและความสำเร็จต่าง ๆ ไว้ค่อนข้างมาก ผู้เขียนจึงหยิบยกมาเพียงบางส่วน และเลือกบอกเล่าความสำเร็จของ BTS ในแง่ของซอฟต์พาวเวอร์และคุณค่าทางเศรษฐกิจเสียเป็นส่วนใหญ่ ตามเนื้อหาที่ได้กล่าวไปข้างต้น

  • BTS เป็นศิลปินวงแรกและเป็นศิลปินที่อายุน้อยที่สุดที่ได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์ด้านวัฒนธรรม ที่มอบแก่ผู้มีส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับวัฒนธรรมของคนในชาติและการพัฒนาประเทศ ด้วยการพัฒนาด้านศิลปะและวัฒนธรรม
  • BTS เป็นศิลปินเกาหลีวงแรกและวงเดียวที่เข้าชิงและคว้ารางวัลจากงานประกาศรางวัล Billboard Music Awards และงาน American Music Awards มากที่สุด
    • ผลงานจากงานประกาศรางวัล Billboard Music Awards
      • รางวัล Top Social Artist (เข้าชิงและคว้ารางวัล 5 ปีซ้อนนับตั้งแต่ปี 2017-2021)
      • รางวัล Top Duo/Group (เข้าชิงเป็นปีที่ 4, คว้ารางวัล 2 ปี 2019 และ 2021)
      • รางวัล Top Song Sales Artist (เข้าชิงเป็นปีที่ 2, คว้ารางวัลครั้งแรกปี 2021)
      • รางวัล Top Selling Song (เข้าชิงเป็นปีที่ 2, คว้ารางวัลครั้งแรกปี 2021)
      • รางวัล Top Rock Song (เข้าชิงเป็นครั้งแรกปี 2022)
    • ผลงานจากงานประกาศรางวัล American Music Awards
      • รางวัล Favorite Social Artist (เข้าชิงและคว้ารางวัล 3 ปีซ้อนนับตั้งแต่ปี 2018-2020)
      • รางวัล Tour of the Year (เข้าชิงและคว้ารางวัลเป็นครั้งแรกปี 2019)
      • รางวัล Favorite Pop Duo/Group (เข้าชิงและคว้ารางวัล 3 ปีซ้อนนับตั้งแต่ปี 2019-2021)
      • รางวัล Favorite Pop Song เพลง Butter (เข้าชิงและคว้ารางวัลเป็นครั้งแรกปี 2021)
      • รางวัล Artist of the Year (เข้าชิงเป็นครั้งแรกปี 2021 และเป็นศิลปินเอเชียรายแรกที่คว้ารางวัล)
  • BTS เป็นศิลปินเกาหลีรายแรกที่เชิญรางวัล, ศิลปินกลุ่มเกาหลีรายแรกที่ได้เข้าชิงรางวัล (2 ปีซ้อน) และเป็นศิลปินกลุ่มเกาหลีรายแรกที่ได้ขึ้นแสดง (3 ปีซ้อน) ในงานประกาศรางวัล GRAMMYs
    • GRAMMYs ครั้งที่ 61 (2019): เข้าชิงรางวัลสาขา Best Recording Package จากอัลบั้ม LOVE YOURSELF 轉 ‘Tear’ และเข้าร่วมงานเป็นครั้งแรกในฐานะผู้เชิญรางวัลสาขา Best R&B Album
    • GRAMMYs ครั้งที่ 62 (2020): เข้าร่วมงานเป็นครั้งที่ 2 และแสดงคอลแล็บเพลง Old Town Road All-Stars ร่วมกับ Lil Nas X, Billy Ray Cyrus และ Diplo
    • GRAMMYs ครั้งที่ 63 (2021): เข้าชิงรางวัลเป็นครั้งแรกในสาขา Best Pop Duo/Group Performance และแสดงเพลง Dynamite
    • GRAMMYs ครั้งที่ 64 (2022): เข้าชิงรางวัลเป็นครั้งที่ 2 ในสาขา Best Pop Duo/Group Performance, ประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลสาขา Best Alternative Music Album และขึ้นแสดงที่หน้างาน (ออฟไลน์) เป็นครั้งแรก
  • BTS เป็นศิลปินเกาหลีรายแรกที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้แทนประธานาธิบดีพิเศษสำหรับคนรุ่นใหม่และวัฒนธรรม อีกทั้งยังขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติถึง 3 ครั้ง (ปี 2018, 2020 และ 2021) และได้รับเกียรติให้ทำการแสดง ณ หอประชุมอาคารสำนักงานใหญ่แห่งสหประชาชาติ (ปี 2021)

ความสำเร็จของ BTS คือสิ่งที่ยังคงดำเนินต่อเนื่อง ติดตามการอัปเดตความสำเร็จของ BTS ได้ผ่านบทความนี้กันต่อไป

ที่มา

เขียน เรียบเรียง และแปลจากเกาหลีและอังกฤษบางส่วนเป็นไทยโดย CANDYCLOVER

DMCA.com Protection Status

ทาง CANDYCLOVER มีความยินดีหากผู้อ่านเล็งเห็นประโยชน์ของคอนเทนต์นี้ และต้องการนำไปประกอบเอกสารหรือสื่อทางการศึกษา เผยแพร่ต่อบนโซเชียลมีเดีย รวมถึงนำไปผลิตของที่ระลึก เช่น Giveaway สำหรับแจกฟรี มิใช่การจัดจำหน่าย

หากต้องการนำข้อมูลไปใช้อ้างอิง กรุณาติดต่อทางอีเมลล์ bts.candyclover@gmail.com และรอการตอบกลับที่ระบุว่าอนุญาตแล้วเท่านั้น ยกเว้นกรณีการนำข้อมูลที่ “แปล เรียบเรียง หรือจัดทำโดย CANDYCLOVER” ไปรีโพสต์ ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ รีโพสต์บนแฟนเพจ เว็บไซต์ หรือเว็บบอร์ด ที่มิใช่แพลตฟอร์มของ CANDYCLOVER พร้อมใส่เครดิตเองโดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงนำไปเป็นคอนเทนต์ทางสื่อโทรทัศน์ หรือกระทำการใด ๆ ก็ตามที่เข้าข่ายแอบอ้างผลงาน หากพบเห็นจะดำเนินคดีทางกฎหมายให้ถึงที่สุด

หากท่านชื่นชอบคอนเทนต์ที่ CANDYCLOVER นำเสนอ สามารถให้การสนับสนุนพวกเราได้ง่าย ๆ เพียง 1.) ไม่สนับสนุนแอคเคาต์ที่แอบอ้างข้อมูลที่แปลโดย CANDYCLOVER 2.) รีพอร์ตแอคเคาต์ดังกล่าวผ่านระบบของแพลตฟอร์มที่ท่านพบเห็นโพสต์ที่เข้าข่าย โดยเลือกหัวข้อ “ละเมิดลิขสิทธิ์” 3.) สนับสนุนค่ากาแฟทาง Ko-fi หรือ Patreon

About the Author /

bts.candyclover@gmail.com

I go by the name Candy, a co-founder, admin, designer, translator, writer of and for CANDYCLOVER. I'm a graphic/UI designer and a self-taught Korean translator who's passionate about telling success stories of BTS in the form of mixed media from graphic to web-based experiences. Now, I'm also pursuing my career as a professional Korean translator. My recent book-length translation projects are: I AM BTS (TH Edition), BTS The Review (TH Edition) and more to come!

Post a Comment