
[อัปเดตล่าสุด 17 ต.ค. ได้ข้อสรุปแล้ว] ย้อนดูไทม์ไลน์ประเด็นการรับราชการทหารที่เกี่ยวข้องกับ BTS
บทความนี้สืบค้นข้อมูลย้อนหลังและอัปเดตความเคลื่อนไหวจากรัฐบาลเกาหลีใต้ และสมาคมต่าง ๆ ในวงการเพลงเกาหลี ต่อกรณีการเกณฑ์ทหารของ BTS ตั้งแต่ปี 2017 จนถึงปัจจุบัน รณรงค์ให้นำไปเผยแพร่เพื่อส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้อง และให้ความรู้ ความกระจ่างแก่ผู้ที่ทำให้ BTS เสื่อมเสียชื่อเสียง จากการส่งต่อข้อมูลเท็จด้วยเจตนามุ่งร้าย
ข้อควรรู้ก่อนอ่าน
เกณฑ์ละเว้นรับราชการทหารสำหรับผู้มีความเป็นเลิศด้านศิลปะและกีฬาที่สร้างคุณงามความดีให้กับประเทศและทำคุณประโยชน์ด้านการเผยแพร่วัฒนนธรรม | ข้อมูลบนเว็บไซต์สำนักงานกำลังกองพลกองทัพแห่งเกาหลีใต้
- ด้านศิลปะ | รายการการประกวดที่เป็นที่ยอมรับมีทั้งหมด 42 รายการ (แก้ไขล่าสุด 1 กรกฎาคม 2020)
- ผู้แข่งขันในการประกวดดนตรีนานาชาติ 28 รายการ และการประกวดนาฏศิลป์ระดับนานาชาติ 9 รายการ ได้อันดับ 2 ขึ้นไป
- ผู้แข่งขันในการประกวดในประเทศ 5 รายการ ได้อันดับ 1
- ผู้ที่จบการศึกษาจากการอบรมในหลักสูตรทรัพย์สมบัติทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Asset) เกิน 5 ปี
- ด้านกีฬา (แก้ไขล่าสุด 30 มิถุนายน 2020)
- ผู้แข่งขันในกีฬาโอลิมปิก ได้อันดับ 3 ขึ้นไป
- ผู้แข่งขันในกีฬาเอเชียนเกมส์ ได้อันดับ 1
ยาวไปคงไม่ได้อ่าน? เรามีอินโฟกราฟิกสรุปสั้น ๆ มาให้แล้ว! กดดาวน์โหลดได้เลย!

ย้อนดูไทม์ไลน์ประเด็นการรับราชการทหารที่เกี่ยวข้องกับ BTS ตั้งแต่ปี 2017 จนถึงปัจจุบัน
ปี 2017
เริ่มมีข้อเรียกร้องให้ละเว้น BTS จากการรับราชการทหาร ปรากฏบนบอร์ดของเว็บไซต์ทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้ที่เปิดให้ประชาชนส่งเรื่องร้องเรียน
ปี 2018
25 กรกฎาคม 2018 : นายฮาแท-กย็อง ส.ส. จากพรรคอนาคตอันชอบธรรมแห่งเกาหลีใต้ แสดงความเห็นในการประชุมเต็มคณะของรัฐสภาเกาหลีใต้ ระบุว่าเนื่องจากมีข้อเรียกร้องให้ละเว้น BTS จากการรับราชการทหาร จึงได้วิเคราะห์รายการแข่งขันระดับนานาชาติที่ให้สิทธิ์ละเว้นจากการรับราชการทหาร และพบปัญหาเรื่องความเสมอภาค “หากแข่งขันประเภทดนตรีคลาสสิก เช่น ไวโอลินหรือเปียโน ชนะที่ 1 ก็จะได้รับการละเว้น ในขณะที่การได้อันดับ 1 บนชาร์ต Billboard กลับไม่ได้ละเว้น เช่นเดียวกับการแข่งขันบัลเล่ต์ได้ที่ 1 ได้รับการละเว้น แต่แข่งขันบีบอยได้ที่ 1 ไม่ได้รับ”
นายคีชานซู อธิบดีกรมสำนักงานกำลังกองพลกองทัพแห่งเกาหลีใต้ ตอบกลับว่า พวกตนและกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว จะหารือและกำหนดขอบเขตของการละเว้นรับราชการทหาร และคงเป็นการยากหากไม่ได้ฉันทามติระดับชาติ ดังนั้นจึงจะลองไปทบทวนให้สอดคล้องกับความเป็นจริง
5 กันยายน 2018 : รัฐบาลจัดประชุมนัดหมายรับฟังความเห็นจากอุตสาหกรรมบันเทิงในกรณีการรับราชการทหาร
(สำนักข่าว Edaily) “BTS จะได้รับการละเว้นทหารหรือไม่..รัฐบาลรวบรวมประเด็นการเกณฑ์ทหารจากเหล่าศิลปินสมัยนิยม” รัฐบาลจัดประชุมนัดหมายรับฟังความเห็นจากอุตสาหกรรมบันเทิงเกี่ยวกับระยะเวลารับราชการทหาร และการรับราชการทางเลือกที่เป็นไปได้สำหรับเหล่าคนบันเทิงและศิลปินไอดอล หลังผู้คนให้ความสนใจว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการทหารแก่เหล่าคนบันเทิง รวมถึง BTS ที่เพิ่งส่งอัลบั้มครองอันดับ 1 บนชาร์ต Billboard 200 เป็นครั้งที่ 2 หรือไม่ รายชื่อสังกัดที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนั้น ได้แก่ SM Entertainment, YG Entertainment, JYP Entertainment, FNC Entertainment, Jellyfish Entertainment ฯลฯ พร้อมด้วยสหพันธ์สังกัดบันเทิงเกาหลี (KEMA) (ภายหลังพาดหัวข่าวนำชื่อ BTS ออกเปลี่ยนเป็น “★ จะได้รับการละเว้นทหารหรือไม่ฯ” พร้อมกับนำรายชื่อสังกัดบันเทิงที่เข้าประชุมครั้งนั้นออก อ่านเนื้อความเดิมก่อนแก้ไข)
8 ตุลาคม 2018 : BTS ได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์ด้านวัฒนธรรม ที่มอบแก่ผู้มีส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับวัฒนธรรมของคนในชาติและการพัฒนาประเทศ ด้วยการพัฒนาด้านศิลปะและวัฒนธรรม
ปี 2019
8 กันยายน 2019 : คณะทำงานเฉพาะกิจอันประกอบด้วยกระทรวงกลาโหม สำนักงานกำลังกองพลกองทัพ และกระทรวงวัฒนธรรมฯ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อปฏิรูปกฎหมายละเว้นรับราชการทหาร ได้ข้อสรุปว่า ให้ผู้มีความเป็นเลิศด้านศิลปะและกีฬาที่ชนะรางวัลจากการแข่งขันที่กำหนดไว้ในกฏหมายการรับราชการที่บังคับใช้อยู่ ให้ขอละเว้นจากการรับราชการทหารได้ (เนื้อหาของเกณฑ์ตามข้อมูลต้นบทความ) และมีมติไม่ขยายขอบเขตการละเว้นจากการรับราชการทหารที่เป็นอยู่เดิม
21 ตุลาคม 2019 : Big Hit Entertainment (ปัจจุบันคือ Big Hit Music) ปฏิเสธข้อความของ นายอันมินซอก รัฐมนตรีว่าการวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว สังกัดพรรคประชาธิปไตยแห่งเกาหลีใต้ ที่อ้างว่าหนึ่งในเมมเบอร์ BTS น่าจะเข้ารับราชการทหารในปี 2019 ว่าไม่เป็นความจริง
รัฐมนตรีอันมินซอก แสดงความเห็น “หากศิลปินจากศาสตร์ศิลปะขั้นสูง (วิจิตรศิลป์) แข่งขันระดับนานาชาติได้อย่างน้อยอันดับ 2 จะได้รับการยกเว้นรับราชการทหาร แนวทางดังกล่าวถูกร่างขึ้นตั้งแต่เมื่อปี 1970 ในตอนนั้นศิลปะขั้นสูงและศิลปะสมัยนิยม (Pop Art) ถูกแบ่งแยกอย่างชัดเจน แต่ในเมื่อปัจจุบัน กำแพงระหว่างสองแวดวงถูกทำลายลงไปแล้ว จึงไม่ถูกต้องนักที่จะไม่ให้ศิลปินในแวดวงศิลปะวัฒนธรรมสมัยนิยมได้รับการละเว้นจากการรับราชการทหาร”
เลขาธิการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมฯ นายพัคยังอู เสริม “จริง ๆ แล้วประเด็นดังกล่าวเป็นที่ถกเถียงกันมานานก่อนกรณี BTS แล้วว่า การให้ศิลปินสมัยนิยมได้ละเว้นจากการรับราชการทหารเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ อย่างไรก็ตาม สำนักงานกำลังกองพลกองทัพและกระทรวงกลาโหมเองก็แสดงจุดยืนว่าต้องการให้ลดสิทธิ์การละเว้น ในขณะที่กระทรวงวัฒนธรรมฯ นั้นต้องการให้ขยายขอบเขตของสิทธิ์ให้ครอบคลุมบุคลากรฝ่ายวัฒนธรรมและกีฬาให้ได้มากขึ้น การแข่งขันด้านกีฬาและศิลปะคลาสสิก มีการจำแนกประเภทในระดับประเทศและนานาชาติอย่างชัดเจนอยู่แล้ว ในขณะที่การกำหนดมาตรฐานของศิลปะสมัยนิยมนั้นทำได้ยาก เราได้พูดคุยและประชุมกับแวดวงศิลปะสมัยนิยมมาหลายครั้ง และพบว่าโจทย์ในทางปฏิบัติที่สำคัญที่สุดคือ ผู้ที่ยังรับราชการไม่เสร็จสิ้นจะมีอุปสรรคในการเดินทางไปทำการแสดงในต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้เราจึงพูดคุยถึงแนวทางให้การสนับสนุนในแง่นั้นได้ร่วมกับสำนักงานกำลังกองพลกองทัพและกระทรวงกลาโหมเรื่อยมา”
ปี 2020
24 กุมภาพันธ์ 2020 : Jin ในงานแถลงข่าวอัลบั้ม Map of the Soul: 7 แสดงความเห็นเกี่ยวกับการรับราชการทหาร “หลาย ๆ คนคงจะสงสัยกัน แต่อย่างที่ทราบกันดีว่ายังไม่มีการตัดสินใจใด ๆ ครับ อันที่จริงเป็นเรื่องที่ต้องพูดอย่างรอบคอบ ผมคิดว่าการเกณฑ์ทหารคือหน้าที่ ดังนั้นไม่ว่าเมื่อประเทศเรียกตัวเมื่อไหร่ ผมก็จะตอบรับ จนกว่าจะถึงตอนนั้นผมก็จะทำงานให้เต็มที่ครับ”
20 พฤศจิกายน 2020 : Jin ในงานแถลงข่าวเปิดตัวอัลบั้ม BE แสดงความเห็นเกี่ยวกับการรับราชการทหาร ที่เป็นข้อถกเถียงบนอินเตอร์เน็ต ณ ขณะนั้น “ผมมองว่าการรับราชการทหารเป็นเรื่องที่แน่นอนสำหรับเยาวชนเกาหลีครับ อย่างที่ผมพูดอยู่ทุกครั้งว่า เมื่อถึงคราวที่ประเทศเรียกรายงานตัว ไม่ว่าเมื่อไหร่ ผมก็ตอบรับครับ เมื่อถึงเวลาและมีการเรียกรายงานตัว ผมก็จะไป เมมเบอร์เองก็พูดคุยเรื่องนี้กันเยอะ ทุกคนเองก็จะเข้ารับใช้ชาติครับ”
22 ธันวาคม 2020 : กระทรวงกลาโหมมีมติผ่านร่างแก้ไขกฎหมายรับราชการทหารบางส่วน อนุมัติให้ผู้มีความเป็นเลิศด้านศิลปะวัฒนธรรมสมัยนิยม อันหมายถึงผู้ที่ได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์ด้านวัฒนธรรม สามารถขอผ่อนผันการรับราชการทหารได้จนถึงอายุ 30 ปี (ตามอายุสากล) หลังจากได้รับจดหมายรับรองจากกระทรวงวัฒนธรรมฯ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2021 (ยังไม่ระบุวันที่)
ปี 2021
23 มิถุนายน 2021 : ร่างแก้ไขกฎหมายรับราชการทหารบางส่วนเริ่มมีผลบังคับใช้ รัฐมนตรีว่าการกระทวงกระทรวงวัฒนธรรมฯ เผยผ่านสื่อว่า หาก BTS ยื่นหนังสือรับรองเพื่อขอผ่อนผัน จะรับรองให้อย่างแน่นอน (ณ ตอนนั้น BTS ยังไม่ได้ยื่นหนังสือ)
กรกฎาคม 2021 (ไม่มีระบุวันที่) : เมมเบอร์ BTS ใช้สิทธิ์ยื่นขอผ่อนผันการรับราชการทหาร ตามที่กระทรวงกลาโหมอนุมัติเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2020 ให้ผู้มีความเป็นเลิศด้านศิลปะวัฒนธรรมสมัยนิยมขอผ่อนผันการรับราชการทหารได้ โดยหลังจากนั้นกระทรวงวัฒนธรรมฯ ได้ยื่นหนังสือรับรองไปยังกระทรวงกลาโหมตามไป ด้วยเหตุนี้ “เมมเบอร์ BTS ทุกคน” จึงผ่อนผันการรับราชการทหารได้จนถึงอายุ 30 ปี (ตามอายุสากล) โดย Jin จะทำกิจกรรมได้จนถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2022 (ก่อนวันเกิด)
9 กันยายน 2021 : กระทรวงกลาโหมหารือในการประชุมคณะอนุกรรมการจัดทำร่างแก้ไขกฏหมายรับราชการทหารในเกาหลีใต้เป็นครั้งแรก ให้การละเว้นจากการรับราชการทหารครอบคลุมบุคลากรในแวดวงศิลปะวัฒนธรรมสมัยนิยม
- ก่อนหน้านั้นในวันที่ 7 กันยายน 2021 สมาคมลิขสิทธิ์เพลงเกาหลี (KMCA) แสดงความเห็นต่อการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าว “มีบุคลากรกว่า 1,804 รายแล้วที่ได้รับการละเว้นจากการเกณฑ์ทหารหลังนำระบบดังกล่าวมาใช้เมื่อปี 1973 ขอให้ฝ่ายกลาโหมลองพิจารณาอย่างจริงจังว่าสิ่งที่เมมเบอร์ BTS ทั้ง 7 ได้ทำประโยชน์ยังไม่ถึงระดับที่บุคลากร 1,804 รายเคยสร้างคุณงามความดีให้กับประเทศจริงหรือไม่”
- การประชุมคณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าวล้มเหลว
25 พฤศจิกายน 2021 : กระทรวงกลาโหมหารือเรื่องการจัดทำร่างแก้ไขกฏหมายรับราชการทหารอีกครั้งแต่ยังคงหาข้อสรุปไม่ได้ นอกจากนั้นยัง แสดงจุดยืนคัดค้านการแก้ไขร่างฯ ดังกล่าว โฆษกกระทรวงฯ กล่าวถึงแนวโน้มทรัพยากรทหารที่ลดลงสืบเนื่องจากจำนวนประชากรที่ลดลงโดยฉับพลัน และการลงฉันทามติในสังคมต่อการรับราชการทหารอย่างเที่ยงธรรมว่า “เราต้องรอบคอบในเรื่องนี้” พร้อมระบุว่าจะดำเนินกระบวนการอภิปรายสาธารณะ อาทิ การทำประชาพิจารณ์และการหารือแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าวต่อไป
ปี 2022
1 เมษายน 2022 : ร่างแก้ไขกฎหมายรับราชการทหารยังคงค้างอยู่ที่คณะอนุกรรมการฯ สังกัดกระทรวงกลาโหม ทั้งหมด 3 รายการ (ร่างฯ ดังกล่าวเสนอโดย นายอันมินซอก ส.ส.จากพรรคประชาธิปไตยแห่งเกาหลีใต้, นายยุนซังฮยอน ส.ส.ไม่สังกัดพรรคการเมือง และนายซองอิลจง ส.ส.จากพรรคพลังประชาชนแห่งเกาหลีใต้) โดยหากได้มติเห็นชอบร่วมกันหลังผ่านการทำประชาพิจารณ์และการหารือระหว่างพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน ศิลปินในแวดวงศิลปะวัฒนธรรมสมัยนิยมก็จะได้สิทธิประโยชน์ภายใต้การละเว้นจากการรับราชการทหาร เช่น การปฏิบัติราชการในด้านศิลปะและกีฬา หรือการทำกิจกรรมอาสาสมัคร แทนการรับราชการทหาร
4 เมษายน 2022 : คณะกรรมาธิการการเปลี่ยนผ่านประธานาธิบดี หารือแนวทางสนับสนุนแวดวงดนตรีสมัยนิยม ร่วมกับประธานกรรมการจากสังกัดบันเทิง ได้แก่ HYBE, SM Entertainment, JYP Entertainment และ MNH Entertainment
- ก่อนหน้านั้น รายงานจาก Munhwa Ilbo ระบุว่า นายอันชอลซู ประธานกรรมาธิการการเปลี่ยนผ่านประธานาธิบดี และคณะจากแผนกสวัสดิการสังคมและวัฒนธรรมจะเยือนสังกัด HYBE ในวันที่ 2 เมษายน 2022 โดยตัวแทนจากกรรมาธิการรายหนึ่งกล่าวว่าจะมีการหารือในประเด็นการละเว้นรับราชการทหารของ BTS ร่วมกับ HYBE พร้อมทบทวนผลความสำเร็จระดับโลกของ BTS ในแง่ของกลยุทธ์ของอุตสาหกรรม และรับฟังเกี่ยวกับอุปสรรคของแวดวงวัฒนธรรม โดยจะจัดหาแนวทางในส่วนที่สามารถให้การสนับสนุนได้
- ภายหลัง รายงานจาก Yonhap ระบุว่า นายอันชอลซู ไม่ได้เอ่ยถึงประเด็นการละเว้นรับราชการทหารระหว่างการเยือนสังกัด HYBE เลย และแสดงความเห็นว่าประเด็นดังกล่าวอาจต้องหารือและตัดสินใจร่วมกับรัฐสภาในรัฐบาลที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่
10 เมษายน 2022 :
- CCO อีจินฮยองจาก HYBE ในงานแถลงข่าวโปรเจกต์ BTS THE CITY แสดงความเห็นเกี่ยวกับการรับราชการทหารของเมมเบอร์ BTS “ผมทราบว่าประเด็นการเกณฑ์ทหารสำคัญแค่ไหนในประเทศเกาหลี จึงต้องเอ่ยถึงอย่างระมัดระวัง ภายนอกนั้นยังมีสิ่งที่เข้าใจผิดกันอยู่ และให้ความสนใจว่าเรากำลังดำเนินการอะไรกันอยู่ ประเด็นเกี่ยวกับการเกณฑ์ทหารของศิลปินของเราเป็นหน้าที่ที่บริษัทดำเนินการอยู่ เมมเบอร์ BTS บอกผ่าน HYBE มาหลายต่อหลายครั้งตั้งแต่เมื่อก่อนแล้วว่า จะตอบรับหากมีการเรียกตัว ซึ่งตอนนี้ความตั้งใจนั้นก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ทว่า ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา ระบบรับราชการทหารเริ่มเปลี่ยนแปลงทีละน้อย จึงได้มีการหารือและเฝ้าติดตามร่วมกับบริษัท หลังทราบผลจัดทำร่างแก้ไขกฎหมายฯ จากประชุมรัฐสภาครั้งนี้ ก็จะมีการหารือว่าจะจัดการต่อไปอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทต้องตัดสินใจ ตลอดช่วงไม่กี่ปีมานี้ เราไม่สามารถคาดการณ์เวลาได้เพราะระบบการเกณฑ์ทหารมีการเปลี่ยนแปลง และเป็นความจริงที่ศิลปินเองก็ลำบากเพราะวางกำหนดการได้ยาก”
- Jin ในงานแถลงข่าวคอนเสิร์ต BTS Permission to Dance on Stage – LV แสดงความเห็นเกี่ยวกับการรับราชการทหาร “ผมพูดคุยประเด็นนี้กับบริษัทมาหลายครั้ง และพูดคุยกันว่าให้บริษัทรับมอบหมายไปให้มากที่สุด ผมคิดว่าสิ่งที่ได้พูดกับบริษัทไปก็จะกลายเป็นคำพูดของเราในไม่ช้า”
12 เมษายน 2022 : นายซองอิลจง ส.ส.พรรคพลังประชาชนเกาหลีแห่งเกาหลีใต้ เผยผ่านรายการวิทยุ YTN ว่าในกลางเดือนเมษายนจะมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมจัดทำร่างแก้ไขฯ ที่ได้ล้มเหลวไปเมื่อปลายปี 2021 อีกครั้ง โดยกำลังเร่งผลักดันให้แล้วเสร็จ พร้อมแสดงความเห็นว่าการที่ BTS เชิดชูเกียรติยศให้กับประเทศเกาหลีขนาดนี้แต่ยังไม่ได้รับการละเว้นนั้น ถูกมองเป็นช่องโหว่ของกฎหมาย
18 เมษายน 2022 : จากการหารือการร่างแก้ไขกฎหมายรับราชการทหารเมื่อปลายปี 2021 ที่ยังคงหาข้อสรุปไม่ได้ ในครั้งนั้นรัฐสภาและกลาโหมระบุว่า จะมีการทำประชาพิจารณ์เพื่อรวบรวมความคิดเห็นของประชาชน จนถึงตอนนี้ล่วงเลยมาแล้ว 5 เดือน ได้รับการยืนยันแล้วว่ายังไม่ได้ดำเนินการใด ๆ สักรอบเดียว
20 เมษายน 2022 : นายอีจงซอบ ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในรัฐบาลของประธานาธิบดียุนซ็อกยอล กล่าวถึงข้อเรียกร้องของประชาชนที่ต้องการให้รวมศิลปะวัฒนธรรมสมัยนิยมในขอบเขตการราชการทหารทางเลือกว่า จะต้องคำนึงความเป็นธรรมในการปฏิบัติราชการทหารและทรัพยากรทหารที่ลดลง โดยเฉพาะในปัจจุบันที่การละเว้นลดลงนั้น จำเป็นต้องพิจารณาการขยายขอบเขตการละเว้นอย่างรอบคอบ
28 เมษายน 2022 : สมาคมลิขสิทธิ์เพลงเกาหลี (KMCA) ออกแถลงการณ์ เรียกร้องขอโอกาสที่เป็นธรรมให้กับบุคลากรด้านศิลปินวัฒนธรรมสมัยนิยมอีกครั้ง “พิจารณาจากการหารือเกี่ยวกับกฎหมายรับราชการทหารที่ได้เริ่มต้นขึ้นด้วยการลงความเห็นต่อการแก้ไขร่าง เราขอเรียกร้องอย่างจริงจังให้ฝ่ายปกครองหาข้อสรุปในประเด็นนี้ไม่ให้ล่าช้าไปมากกว่านี้”
4 พฤษภาคม 2022 : นายฮวังฮี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมฯ จัดงานแถลงข่าว ณ ศูนย์ราชการกรุงโซล เรียกร้องให้มีการจัดทำร่างแก้ไขกฏหมายรับราชการทหาร เพื่อก่อตั้งระบบใหม่สำหรับบุคลากรด้านศิลปะ ในแวดวงศิลปะวัฒนธรรมสมัยนิยม
ความตอนหนึ่งจากนายฮวังฮี “เราให้สิทธิ์ละเว้นจากการรับราชการทหารแก่ผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ มาแล้ว เช่น ศิลปิน นักกีฬา ผู้ได้รับปริญญาบัตร จากปี 2019 มีบุคลากรได้รับสิทธิ์ละเว้นในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา (2009-2019) ถึง 133,869 ราย โดยเป็นศิลปินและนักกีฬา 484 ราย เราได้มอบโอกาสแก่อัจฉริยบุคคลผู้นำศักยภาพอันเป็นเลิศมาใช้เผยแพร่คุณงามความดีให้กับประเทศ ให้ส่งเสริมประเทศได้มากยิ่งขึ้น ด้วยการรักษาความสามารถนั้นไว้โดยที่หน้าที่การงานไม่หยุดชะงัก ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะเรามั่นใจว่า การปฏิบัติงานของพวกเขาเหล่านี้โดยไม่หยุดพัก จะช่วยส่งเสริมผลประโยชน์ระดับชาติมากยิ่งขึ้น แต่ในวันนี้ ไม่ว่าผลงานที่เหล่าบุคลากรด้านศิลปะวัฒนธรรมสมัยนิยมสร้างคุณงามความดีให้กับประเทศชาตินั้นแจ่มชัดมากเพียงไร การปฏิบัติหน้าที่ราชการทหารกลับทำให้พวกเขาต้องหยุดพักจากหน้าที่การงานของตนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้เกิดความเสียหายระดับชาติ การไม่ได้มอบโอกาสเหล่านี้ให้กับบุคลากรด้านศิลปะวัฒนธรรมสมัยนิยม ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างจากอดีตอย่างมากอาจเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม สาเหตุที่ได้จัดเตรียมวาระนี้ขึ้นมาในวันนี้นั้น ก็เป็นเพราะผม (นายฮวังฮี) เชื่อว่าต้องมีใครสักคน เปล่งเสียงที่น่าเชื่อถือในสถานการณ์ที่มีเสียงสนับสนุนและคัดค้านต่อการเกณฑ์ทหารของเมมเบอร์ BTS บางส่วนที่จวนเจียนเข้ามาทุกที ในยามนี้ที่มีความอ่อนไหวต่อประเด็นความเป็นธรรม ผมที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีกลับไปเป็นนักการเมืองในไม่กี่วันหลังจากนี้ ต้องอาศัยการพินิจพิจารณาและความกล้าหาญพอสมควร ซึ่งผมก็มีดุลยพินิจว่า จำเป็นต้องมีช่องทางที่สามารถเป็นหลักประกันความยั่งยืนของประเทศมหาอำนาจทางวัฒนธรรมให้ได้มากยิ่งขึ้น”
22 มิถุนายน 2022 : นางอีจายอน ประธานสมาคมนักร้องเกาหลี ส่งสารถึง HYBE “ดิฉันมีความหวาดกลัวว่า ‘กระแสเกาหลีที่ร้อนแรงจากวง BTS’ ซึ่งครอบครองซอฟต์พาวเวอร์ทางวัฒนธรรมที่ทรงพลังที่สุดในประวัติศาสตร์ ทั้งในเกาหลีใต้และทั่วโลก จะสูญสลายไป ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะคาดหวังให้มี BTS รุ่นถัดไป เช่นเดียวกับการทำให้ The Beatles รุ่นถัดไปถือกำเนิดขึ้นมา ดิฉันจึงเกรงว่าพลังของกระแสเกาหลีจะหยุดชะงักลง แม้ว่าการตัดสินใจนี้จะไตร่ตรองมาอย่างหนัก แต่ดิฉันก็ขอเรียกร้องให้พิจารณาการตัดสินใจเสียใหม่เพื่อวงการเพลงเกาหลี หาก BTS หายไป เหล่าผู้เผยแพร่กระแสเกาหลีอย่าง ‘อาร์มี่’ ก็จะหายไปด้วย และเราก็จะไม่สามารถคาดหวังการท่องเที่ยวที่จะเกิดจากกระแสเกาหลี และคาดหวังให้เกาหลีเป็นประเทศมหาอำนาจทางวัฒนธรรมได้ เกณฑ์การละเว้นจากการรับราชการทหารสำหรับการแข่งขันกีฬาและศิลปะวัฒนธรรม จำเป็นต้องบรรจุแวดวงศิลปินวัฒนธรรมสมัยนิยมลงไปด้วย ผู้ที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเอาใจใส่และรีบพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน รัฐสภาและรัฐบาลต้องเอาใจใส่อย่างลึกซึ้งเพื่อให้กระแสบูมของเกาหลีได้แพร่หลายต่อไปอย่างต่อเนื่อง และดิฉันขอร้องเรียนอย่างจริงจังให้เร่งมือตรวจทานร่างแก้ไขกฎหมายรับราชการทหาร เพื่อให้ BTS ได้ดำเนินกิจกรรมต่อไป”
23 มิถุนายน 2022 :
- ประธานาธิบดียุนซ็อกยอล แห่งเกาหลีใต้ กล่าวถึงกรณี BTS เพลากิจกรรมวงชั่วคราวและกรณีมีความเห็นบางฝ่ายต่อการจัดทำร่างแก้ไขกฎหมายรับราชการทหาร “ประธานาธิบดีไม่ควรเป็นฝ่ายแสดงจุดยืนก่อน แต่ควรทำตามสิ่งที่กฎหมายกำหนดตามความคิดและมติมหาชน ถ้าประชาชนคิดเช่นนั้นก็ต้องปรับแก้กฎหมายในรัฐสภากันต่อไป”
- รัฐสภาเกาหลีจัดทำประชาพิจารณ์ในรอบ 15 ปี เมื่อเดือนที่ผ่านมา เพื่อผลักดันกฎหมายว่าด้วยการต่อต้านการเลือกปฏิบัติ ในช่วงเดียวกับที่ BTS เดินทางไปยังทำเนียบขาวเพื่อหารือกับประธานาธิบดี โจ ไบเดน ในประเด็นาอาชญากรรมและการแบ่งแยกที่เกิดจากความเกลียดชังชาวเอเชีย ทั้งนี้ ยังไม่มีกล่าวถึงการทำประชาพิจารณ์เพื่อแก้ไขกฎหมายรับราชการทหาร ตามที่กระทรวงกลาโหมอ้างตั้งแต่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2021
1 สิงหาคม 2022 : นายอีจงซอบ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม เผยแนวทางเพื่อให้ BTS ได้รับโอกาสฝึกซ้อมและทำการแสดงได้หากมีคอนเสิร์ตที่ต่างประเทศ ทว่ายังคงไม่พิจารณาเพิ่มรางวัล เช่น รางวัลบิลบอร์ดหรือแกรมมี ให้เป็นคุณสมบัติในการละเว้นรับราชการทหาร ตามเกณฑ์การประกวดแข่งขันระดับนานาชาติสำหรับแวดวงศิลปะวัฒนธรรมนั้น อ้างว่าอาจทำลายกรอบการละเว้นฯ โดยรวมได้
5 สิงหาคม 2022 : นายพัคโบกยูน รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมฯ ประชุมแลกเปลี่ยนความเห็นกับตัวแทนในอุตสาหกรรมเพลงป็อป ที่สำนักงานคุ้มครองลิขสิทธิ์ว่าจะรวมรวบมติมหาชนซึ่งใช้ในการพิจารณาละเว้นราชการทหารแก่บุคลากรด้านศิลปะวัฒนธรรมสมัยนิยม ซึ่งเป็นประเด็นที่จะได้ข้อสรุปจากกลาโหม ผู้เข้าร่วมบางส่วนเอ่ยถึงประเด็นความเท่าเทียมกับสาขาอื่นที่ใช้สิทธิ์ละเว้นฯ และเสนอว่าจะต้องจัดตั้งระบบ เช่น เกณฑ์ที่จะนำไปใช้กับบุคลากรด้านศิลปะวัฒนธรรมสมัยนิยมเสียก่อน
ผู้เข้าร่วมการประชุม ได้แก่ นางคิมชังฮวัน ประธานจากสมาคมลิขสิทธิ์เพลงเกาหลี (KMCA), นายยุนดงฮวัน ประธานจากสมาคมอุตสาหกรรมสังกัดค่ายเพลงเกาหลี (LIAK), นางอีจายอน ประธานสมาคมนักร้องเกาหลี, นายคิมแทโฮ COO จากสังกัด HYBE, นายชังชอลฮย็อก CFO จากสังกัด SM Entertainment, นายชองชียอง MD จากสังกัด YG Entertainment รวมทั้งผู้บริหารจาก JYP Entertainment, Brave Entertainment., Dooroodooroo Artist Company ฯลฯ นำเสนอประเด็นดังนี้
- การลดข้อบังคับในการตรวจสอบ MV
- การจัดทำหนังสือสัญญามาตรฐานระหว่างสถานีออกอากาศและสังกัด
- การปรับปรุงการแบ่งสัดส่วนสิทธิ์ข้างเคียงของนักร้อง
- การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเพลงสมัยนิยมเกาหลีโดยเร็ว
- การปราบปรามบัตรคอนเสิร์ตผี
- การสนับสนุนค่าเช่าสถานที่จัดคอนเสิร์ต
- การเพิ่มการสนับสนุนให้กับสังกัดเล็ก-กลาง ในการบุกตลาดต่างประเทศ
18 สิงหาคม 2022 : นายพัคฮยองจุน นายกเทศมนตรีพูซัน ทำหนังสือเสนอแนะไปยังสำนักงานประธานาธิบดี ให้ BTS ได้ใช้ระบบรับราชการทหารทางเลือก อ้างว่าหากปัญหาการรับราชการทหารยังไม่คลี่คลาย BTS ก็จะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทูตกิตติมศักดิ์งาน 2030 Busan Expo ได้อย่างเต็มที่ โดยเน้นย้ำว่าตนทราบดีถึงความหมายเชิงสัญลักษณ์ของการรับราชการทหารของเกาหลีใต้และไม่ได้หมายความว่าให้ละเว้น BTS จากการรับราชการทหาร แต่หาก BTS ได้ใช้ระบบรับราชการทหารทางเลือก BTS ก็จะได้รับมอบหมายความรับผิดชอบไม่น้อยไปกว่าการรับราชทหาร และได้รับใช้ชาติด้วยศักยภาพที่พวกเขามี
ราชการทหารทางเลือกสำหรับบุคลากรด้านศิลปะ-กีฬา เป็นระบบให้ผู้มีคุณสมบัติพิเศษด้านศิลปะ-กีฬา ที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศ รับราชการในฐานะทหารกองหนุนเป็นเวลา 34 เดือนในแวดวงที่สำนักงานกำลังพลกองทัพกำหนด ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวัฒนธรรมฯ และทำกิจกรรมอาสาสมัครเป็นเวลา 544 ชม. ในช่วงรับราชการฯ อย่างไรก็ดี เนื่องจากระบบบุคลากรด้านศิลปะ-กีฬา นิยมถูกเรียกโดยทั่วไปว่า ‘การรับราชทหารกรณีพิเศษ’ และถูกมองว่าเท่ากับเป็น ‘การละเว้น’ เหตุการณ์ดังกล่าวจึงถูกเข้าใจไปในแง่ลบหรือถูกเปรียบเทียบว่าเป็นอภิสิทธิ์ที่ไม่เป็นธรรมประเภทหนึ่ง บุคลากรด้านศิลปะ-กีฬา จะต้องได้รับการฝึกพื้นฐาน 4 สัปดาห์ และรับราชการในแวดวงที่กำหนด (การแสดง การฝึกอบรม การทำแคมเปญสาธารณประโยชน์ ฯลฯ) แทนการเป็นทหารประจำการ
ทั้งนี้การเป็นบุคลากรระบบทางเลือกฯ จะต้องรับราชการเป็นเวลา 34 เดือน ซึ่งมากกว่าทหารประจำการ (18 เดือน) เกือบ 2 เท่า และหากฝ่าฝันจะถูกยกเลิกจากการโอนเข้าสู่ระบบบุคลากรทางเลือกฯ และไม่สามารถโอนเข้าไปใหม่ได้ โดยหลังพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่แล้วบุคลากรทางเลือกฯ จะถูกโอนเข้าสู่กองกำลังทหารกองหนุน ประเด็นของข้อถกเถียงดังกล่าว จึงไม่ใช่ ‘การละเว้นการรับราชการทหารของ BTS’ แต่เป็น ‘เป็นไปได้หรือไม่ว่านอกจากศิลปินสาขาวิจิตรศิลป์แล้ว ศิลปินสาขาศิลปะสมัยนิยมก็มีสิทธิ์ถูกโอนไปเป็นบุคลากรด้านศิลปะ-กีฬาในระบบการรับราชการทหารทางเลือกด้วยได้’
นายกเทศมนตรีพูซันกล่าวว่า หากมองเฉพาะการสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ คุณงามความดีของ BTS เทียบเคียงโดยชัดเจนได้ยาก Brand Value ของเกาหลีใต้ที่ BTS สร้างและยกระดับยากจะคำนวณเป็นตัวเลขได้ หาก BTS สนับสนุนงาน 2030 Busan Expo ได้เต็มที่ ก็จะส่งเสริมประเทศชาติได้ไม่น้อยไปกว่าเป็นทหาร
31 สิงหาคม 2022 :
- นายอีจงซอบ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ตอบข้อซักถามของ นายซอลอิลจง ส.ส.จากพรรคประชาธิปไตยเกาหลี กรณีให้เร่งจัดทำประชามติว่าประชาชนมีความเห็นอย่างไรต่อการให้ BTS รับราชทหารกรณีพิเศษในการประชุมรัฐสภาว่าตนได้มีคำสั่งไปยังคณะกรรมาธิการที่ปรึกษาให้กำหนดเดดไลน์ หาข้อสรุป และจัดทำประชามติโดยไวแล้ว
- นายอันกยูแบ็ก ส.ส.จากพรรคประชาธิปไตยเกาหลี เสนอความเห็น “จริงอยู่ที่ทุกวันนี้ BTS สร้างชื่อเสียงแวดวงป็อป แต่คนหนุ่มสาวที่เรียนมหาวิทยาลัย ทำไร่ทำนา ทำงานในกิจการป้องกันประเทศมูลค่า 3 หมื่นล้านวอนล้วนสร้างชื่อเสียงให้ประเทศกันทั้งนั้น ในภาวะ Demographic Cliff แบบนี้จึงไม่น่าใช่สถานการณ์ที่จะพูดถึงการรับราชการทหารพิเศษได้”
- นายอีจงซอบ ตอบคำถามเพิ่มเติมในวันที่ 1 กันยายน 2022 ว่าผลของประชามติไม่ใช่คำตัดสินชี้ขาดว่า BTS จะได้รับราชการทหารพิเศษหรือไม่ เพียงแต่เพื่อดูว่าประชาชนมีเจตนารมณ์อย่างไร
19 กันยายน 2022 : นายคิมยองแบ ส.ส.จากพรรคประชาธิปไตยเกาหลี เสนอร่างแก้ไขกฎหมายรับราชการทหาร เพื่อให้ผู้ได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติด้านวัฒนธรรม (문화훈장) และเหรียญตราด้านอื่น ๆ รับราชการทหารทางเลือกสำหรับบุคลากรด้านศิลปะ-กีฬาได้ “การเสนอร่างฯ ครั้งนี้เพื่อเปิดทางให้ BTS และศิลปินในแวดวงวัฒนธรรมสมัยนิยมที่ประสบความสำเร็จระดับโลก ปฏิบัติราชการทหารผ่านการรับราชการทางเลือกได้”
20 กันยายน 2022 : นายอีกีชิก อธิบดีสำนักงานกำลังกองพลกองทัพ เผยถึงความเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันการรับราชการทหารพิเศษของ BTS ว่า “ปัจจุบันกำลังลดจำนวนทหารกองหนุน การเพิ่มคุณสมบัติอื่น ๆ เข้ามาเรื่อย ๆ จึงไม่ใช่สิ่งที่ถูก และหากให้ระบบครอบคลุมคุณสมบัติของศิลปินสมัยนิยมด้วยก็จะทำให้เกิดการแบ่งแยก, ช่องโหว่ และความท้อแท้แก่คนหนุ่มที่รับราชการทหารประจำการมากขึ้น ความสำเร็จของ BTS ยิ่งใหญ่ แต่การชดเชยที่เกี่ยวข้องกับการรับราชการทหารต้องอาศัยฉันทามติจากสังคมในแง่ความเป็นธรรม เทียบกับศิลปินด้านวิจิตรศิลป์ที่มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเป็นผู้จัดอันดับแล้ว ‘บิลบอร์ด’, ‘ยอดขายอัลบั้ม’, ‘ผลจากแฟนโหวต’ ฯลฯ นั้น เป็นการลงคะแนนความนิยมประเภทหนึ่ง ดังนั้นหากจะใช้ลำดับเหล่านี้มาเป็นมาตรฐาน ก็อาจปรากฏผลลัพธ์ที่ต้องระมัดระวัง ปัจจุบันมีเกณฑ์การแข่งขันด้านศิลปะวัฒนธรรมที่จะถูกโอนไปยังกองหนุน เช่น ดนตรีคลาสสิก ดนตรีเกาหลีโบราณ บัลเล่ต์ ฯลฯ ซึ่งมีหลายความเห็นที่ต้องมาพิจารณาถึงความเหมาะสม ทรัพยากรทางทหารในรอบปีปัจจุบันอยู่ที่ 250,000 ราย และจะลดลงเหลือแค่ 200,000 รายหลังครึ่งทศวรรษ 2030 จึงกำลังหาแนวทางลดมาตรฐานในการรับราชการทหารอยู่”
4 ตุลาคม 2022 : กระทรวงวัฒนธรรมฯ ส่งรายงาน ‘แผนปฏิรูประบบราชการทหารทางเลือกสำหรับบุคลากรด้านศิลปะ-กีฬา’ ต่อสำนักเลขานุการอวุโสด้านกิจการสังคม ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานประธานาธิบดี
- แผนข้อ 1) ให้จัดตั้งกองกำลังทหารหน่วยศิลปะ-กีฬา หรือขยายการรับราชการทหารหน่วยดุริยางค์ทหารเพื่อรักษาทักษะหลังจากการเกณฑ์ทหาร ถึงแม้ว่าการรับราชการทหารทางเลือกสำหรับบุคลากรด้านศิลปะ-กีฬาอาจถูกยกเลิกไป ในกรณีที่สมาชิก BTS ทั้งหมดเข้าร่วม อนุญาตให้สมาชิกเดินทางไปต่างประเทศและพำนักนอกหน่วยได้ไม่เกิน 120 วันต่อปี ระยะเวลาดังกล่าวครอบคลุมการทำกิจกรรมโปรโมตออนไลน์และออฟไลน์ เช่น การจัดคอนเสิร์ตในและนอกประเทศ, การร่วมงานประการศรางวัล และการปรากฏตัวทางสถานีโทรทัศน์ ฯลฯ
- แผนข้อ 2) ให้จัดทำร่างแก้ไขกฎหมายรับราชการทหาร เพื่อให้ผู้ได้รับรางวัลศิลปะวัฒนธรรมสมัยนิยมรับราชการทหารทางเลือกสำหรับบุคลากรด้านศิลปะ-กีฬาได้
- BTS เป็นกลุ่มบุคคลที่อายุน้อยที่สุดที่ได้รับเหรียญตราเชิดชูเกียรติด้านวัฒนธรรมในระดับฮวากันเมื่อปี 2018 จากการเผยแพร่กระแสวัฒนธรรมเกาหลีและอักษรเกาหลี
กระทรวงวัฒนธรรมระบุ ภายในกลางเดือนนี้จะหารือกับกระทรวงกลาโหม สำนักงานกำลังกองพลกองทัพ และผู้ที่เกี่ยวข้อง หลังจากนั้นจะรวบรวมความเห็นผ่านการทำประชาพิจารณ์จนถึงเดือนพฤศจิกายน
5 ตุลาคม 2022 : นายพัคโบกยูน รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมฯ เผย เนื่องจากประเด็นการรับราชการทหารของ Jin จะต้องถูกสะสางภายในเดือนธันวาคมนี้ กระทรวงวัฒนธรรมฯ จึงจะเร่งยืนยันจุดยืนโดยเร็ว “กิจการกลาโหมเป็นภาระหน้าที่ที่สูงส่ง ส่วนการรับราชการทหารก็เป็นเครื่องหมายของความยุติธรรม BTS เป็นผู้นำวัฒนธรรมเกาหลีผู้เผยแพร่ประเทศเกาหลี อีกทั้งยังสร้างอิทธิพลทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ประเด็นปัญหาในเรื่องของความเสมอภาคระหว่างศิลปินในแวดวงศิลปะสมัยนิยมกับวิจิตรศิลป์ และในเรื่องการจัดคอนเสิร์ตด้วยจำนวนสมาชิกครบทั้งวงในกรณีที่มีเมมเบอร์คนหนึ่งต้องเข้ารับราชการทหารนั้น กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาร่วมกับผลวิเคราะห์จากประชามติและความเห็นของชายในช่วงอายุ 20”
17 ตุลาคม 2022 :
Big Hit Music ประกาศการรับราชการทหารของเมมเบอร์ BTS
บริษัทขอแจ้งให้ทราบว่า BTS ได้เริ่มเตรียมการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อปฏิบัติหน้าที่รับราชการทหารแล้ว
อันดับแรก Jin ที่กำลังจะมีผลงานเดี่ยวเร็ว ๆ นี้ จะยกเลิกสิทธิ์ขอผ่อนผันการรับราชการทหารในช่วงปลายเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ จากนั้นจะดำเนินการตามลำดับขั้นตอนการรับราชการทหารของสำนักงานกำลังพลกองทัพ ส่วนเมมเบอร์คนอื่นจะเข้ารับราชการทหารตามแผนที่ได้วางไว้ของแต่ละคนตามลำดับ
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น บริษัทและศิลปินได้ร่วมวางแผนแนวทางการรับราชการทหารให้เป็นรูปเป็นร่าง อีกทั้งยังไตร่ตรองถึงช่วงเวลาที่จะแจ้งรายละเอียดที่ได้ตัดสินแล้วให้ทราบ และบริษัทก็ได้เล็งเห็นว่า ณ ตอนนี้ที่คอนเสิร์ตพูซันสนับสนุนการประมูลเพื่อเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมโลกปี 2030 ได้จบลงแล้วนั้น เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดจะแจ้งเรื่องนี้ให้ทราบ
บริษัทและ BTS ตั้งความหวังว่าจะเริ่มกลับมาทำกิจกรรมโดยมีเมมเบอรพร้อมหน้าครบทั้งวงอีกครั้งราว ๆ ปี 2025 อย่างไรก็ดี บริษัทขอความกรุณาให้ทำความเข้าใจที่ขณะนี้ยังไม่สามารถกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนได้
ฉะนั้นแล้ว มมเบอร์ BTS จึงจะมุ่งเน้นทำกิจกรรมเดี่ยวชั่วระยะเวลาหนึ่ง ให้สอดคล้องกับการรับราชการทหารของแต่ละเมมเบอร์ต่อไป สุดท้ายนี้ ขอให้ทุกท่านช่วยมอบความสนใจและสนับสนุนบย่างก้าวของ BTS ในภายภาคหน้าต่อไป
แปลและเรียบเรียงจากเกาหลีเป็นไทยโดย CANDYCLOVER

ทาง CANDYCLOVER มีความยินดีหากผู้อ่านเล็งเห็นประโยชน์ของคอนเทนต์นี้ และต้องการนำไปประกอบเอกสารหรือสื่อทางการศึกษา เผยแพร่ต่อบนโซเชียลมีเดีย รวมถึงนำไปผลิตของที่ระลึก เช่น Giveaway สำหรับแจกฟรี มิใช่การจัดจำหน่าย
หากต้องการนำข้อมูลไปใช้อ้างอิง กรุณาติดต่อทางอีเมลล์ bts.candyclover@gmail.com และรอการตอบกลับที่ระบุว่าอนุญาตแล้วเท่านั้น ยกเว้นกรณีการนำข้อมูลที่ “แปล เรียบเรียง หรือจัดทำโดย CANDYCLOVER” ไปรีโพสต์ ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ รีโพสต์บนแฟนเพจ เว็บไซต์ หรือเว็บบอร์ด ที่มิใช่แพลตฟอร์มของ CANDYCLOVER พร้อมใส่เครดิตเองโดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงนำไปเป็นคอนเทนต์ทางสื่อโทรทัศน์ หรือกระทำการใด ๆ ก็ตามที่เข้าข่ายแอบอ้างผลงาน หากพบเห็นจะดำเนินคดีทางกฎหมายให้ถึงที่สุด
หากท่านชื่นชอบคอนเทนต์ที่ CANDYCLOVER นำเสนอ สามารถให้การสนับสนุนพวกเราได้ง่าย ๆ เพียง 1.) ไม่สนับสนุนแอคเคาต์ที่แอบอ้างข้อมูลที่แปลโดย CANDYCLOVER 2.) รีพอร์ตแอคเคาต์ดังกล่าวผ่านระบบของแพลตฟอร์มที่ท่านพบเห็นโพสต์ที่เข้าข่าย โดยเลือกหัวข้อ “ละเมิดลิขสิทธิ์” ขอบคุณค่ะ