Big Hit Entertainment และ BTS ศิลปินกลุ่มผู้ประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย: เมื่อ K-Pop ทะยานไปทั่วโลก
ข้อมูลดังต่อไปนี้เป็นการแปลรายงานการศึกษาในห้วข้อ Big Hit Entertainment และ BTS ศิลปินกลุ่มผู้ประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย: เมื่อ K-Pop ทะยานไปทั่วโลก ฉบับเต็มเป็นภาษาไทย รายงานการศึกษาชิ้นนี้จัดทำโดยทีมคณาจารย์จากสถาบันธุรกิจ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด นำโดยศาสตราจารย์ Anita Elberse และ Lizzy Woodham สามารถสั่งซื้อและดาวน์โหลดรายงานต้นฉบับได้ทางเว็บไซต์ Harvard Business Review
Big Hit Entertainment และ BTS ศิลปินกลุ่มผู้ประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย: เมื่อ K-POP ทะยานไปทั่วโลก
“BTS คว้าอันดับ 1 เป็นครั้งที่สี่บนชาร์ต Billboard 200 จากอัลบั้ม Map of the Soul: 7” วันนั้นเป็นวันที่ 1 มีนาคม ปี 2020 (ตามเวลาท้องถิ่นอเมริกา) ในขณะที่นายบังชีฮยอก ผู้เป็นที่รู้จักในชื่อ ‘Hitman Bang’ กำลังอ่านพาดหัวบทความในนิตยสารผู้เป็นผู้นำในวงการเพลงฝั่งอเมริกาอย่าง Billboard นายบังคุ้นเคยกับหัวข้อเหล่านี้ดี ตามจริงแล้ว โปรดิวเซอร์เพลงชาวเกาหลีรายนี้เป็นผู้ก่อตั้งและผู้บริหารใหญ่ของสังกัด Big Hit Entertainment (ต่อจากนี้จะเรียกว่า ‘Big Hit’) สังกัดผู้อยู่เบื้องหลัง BTS อันเป็นชื่อย่อของ ‘บังทันโซนยอนดัน’ ที่แปลเป็นภาษาอังกฤษอย่างคร่าวๆ ได้ว่า ‘Bulletproof Boy Scouts’ หรือ ‘Beyond The Scene’ BTS คือศิลปินกลุ่มที่ประกอบด้วยชายหนุ่ม 7 คนในวัยยี่สิบที่ประสบความสำเร็จอย่างไม่มีผู้ใดเทียมไปทั่วโลก (ดูข้อมูลประกอบที่ 1) ครอบคลุมไปถึงอเมริกา เป็นความสำเร็จอันน่าทึ่งด้วยเหตุที่ว่าเกือบทุกผลงานเพลงของพวกเขาเป็นเพลงภาษาเกาหลี ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา BTS ได้กลายเป็นศิลปินเกาหลีรายแรกที่ขึ้นแสดงในงานประกาศรางวัลที่ทรงเกียรติที่สุดในวงการเพลงอย่างงาน Grammys จากอัลบั้มล่าสุดที่ผ่านมา พวกเขาทำสถิติอัลบั้มอันดับสูงสุดเป็นครั้งที่สี่ในอเมริกา โดยใช้เวลาไม่ถึงสองปี ซึ่งศิลปินกลุ่มล่าสุดที่ทำอันดับ 1 สี่ครั้งได้รวดเร็วกว่า BTS ก็คือศิลปินวง The Beatles ในยุค 19601
นับตั้งแต่ BTS เดบิวต์ในปี 2013 พวกเขาได้สั่งสมแฟนคลับผู้ทุ่มเทนับล้านจากทั่วโลก ผู้ขนานนามตัวเองอย่างภาคภูมิว่า ‘ARMY (อาร์มี่)’ ในขณะที่สมาชิกของวง BTS ได้แก่ j-hope (เจโฮป), Jimin (จีมิน), Jin (จิน), Jung Kook (จองกุก), RM (อาร์เอ็ม), SUGA (ชูก้า), และ V วี ก็ได้กลายเป็นซูเปอร์สตาร์อย่างแท้จริง พวกเขาทำสถิติยอดขายอัลบั้ม, สถิติยอดสตรีมและยอดเข้าชมบน YouTube ไว้มากมาย (ท่ามกลางความสำเร็จอื่นๆ มากมาย พวกเขาเป็นศิลปินกลุ่มจากเอเชียรายแรกที่ทำอันดับสูงสุดบนชาร์ตในห้าตลาดเพลงที่ใหญ่ที่สุดในโลก), จำหน่ายเวิลด์ทัวร์คอนเสิร์ตทั้งในสเตเดียมและอารีน่าทั่วทวีปเอเชีย, ยุโรป และอเมริกาจนหมดเกลี้ยงภายในเวลาไม่กี่นาที รวมไปถึงแบรนด์เสื้อเชิ้ต, เครื่องสำอาง, เครื่องประดับ, ตุ๊กตา และสินค้าอื่นๆ ที่มีมูลค่ากว่า 130 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2019 ปีเดียว2 จากการคาดการณ์บางส่วน ระบบนิเวศของ BTS มีส่วนสนับสนุนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของเกาหลีใต้ถึง 4.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ3
ด้วยสังกัด Big Hit ของนายบังชีฮยอก เขาค้นพบและฝึกฝนเหล่าสมาชิกวง BTS ตั้งแต่อายุยังน้อย, ฟอร์มวงและเปิดตัว, จัดการดูแลสายงาน, รวมถึงผลิตและจำหน่ายเพลงของพวกเขาอีกด้วย ความสำเร็จของเขายิ่งเป็นที่จับตามองมากขึ้นเพราะแนวเพลงเกาหลีอันโดดเด่นที่ถูกกล่าวถึงบ่อยครั้งอย่าง ‘K-Pop’ ถูกครอบงำอิทธิพลโดยสามสังกัดยักษ์ใหญ่ ได้แก่ SM Entertainment (‘SM’), YG Entertainment (‘YG’) และ JYP Entertainment (‘JYP’) มาตั้งแต่ช่วงกลางยุค 1990 นายบังจึงสร้างปรากฏการณ์ K-Pop ขึ้นด้วยศิลปินกลุ่มวง BTS ที่โด่งดังไปทั่วโลกมากกว่าศิลปินรายไหนที่ ‘สามสังกัดยักษ์ใหญ่’ เคยควบคุมดูแลมาก่อน ในขณะที่วงการ K-Pop มีธรรมเนียมการร่วมงานกันในระยะยาว ซึ่งเป็นการทำสัญญาผูกขาดระหว่างสังกัดและศิลปินโดยการจ่ายค่าตอบแทนพอประมาณและให้พวกเขาได้มีสิทธิ์มีเสียงไม่มากนัก นายบังจึงเลือกหาหนทางที่จะดูแลความสัมพันธ์ที่มีความสมดุลย์มากขึ้นกับศิลปินซูเปอร์สตาร์ของเขา “ผมคิดว่าเราค้นพบสมการของความสำเร็จแล้ว” เขากล่าว “และในขณะที่เรายังคงทดสอบและขัดเกลาสมการเหล่านี้ ผมเชื่อว่าเราสามารถนำสมการนี้ไปปรับใช้กับศิลปินรายอื่นของเราได้ด้วยเช่นกัน”
แท้จริงแล้ว BTS อยู่ในจุดที่มั่นคงพอที่จะรักษาความสำเร็จไว้ได้หรือไม่? Big Hit จะสร้างความสำเร็จนั้นขึ้นอีกครั้งด้วยศิลปินรายอื่นในทำเนียบผลงานได้หรือไม่? และอนาคตของวงการ K-Pop จะเป็นอย่างไร รูปแบบการจัดการกับความสัมพันธ์ระหว่างสังกัดกับศิลปินจะเป็นเช่นไร?
อุตสาหกรรม K-Pop
‘K-Pop’ เป็นคำที่ใช้จำกัดความเพลงยอดนิยมที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศเกาหลีใต้ ครอบคลุมแนวเพลงที่หลากหลาย: แฟนเพลง K-pop อาจจะได้ฟังศิลปินคนโปรดของพวกเขาปล่อยเพลงป็อปหรือเพลงที่ได้แรงบันดาลใจจากแนวเพลงฮิปฮอปออกมาเป็นเพลงรักบัลลาดแนว R&B ตั้งแต่ยุค 1990 เป็นต้นมา ผู้ยึดถือมาตรฐานของ K-pop ก็คือ ‘ไอดอล’ ผู้เป็นศิลปินเดี่ยวหรือกลุ่มที่ร้องและเต้นอย่างคุณภาพสูง และมักเกาะติดแฟชั่นและเทรนด์ความสวยความงามล่าสุด ศิลปินในวงส่วนใหญ่จะเป็นคนเพศใดเพศหนึ่งซึ่งมีจำนวนสมาชิกไม่มาก ไปจนถึงมากกว่าหนึ่งโหล ในปี 2020 วงการ K-Pop คือหนึ่งในตัวขับเคลื่อนสำคัญของการเติบโตของวัฒนธรรมเกาหลีใต้ไปทั่วโลก (ดูข้อมูลประกอบที่ 2) เป็นปรากฏการณ์ในทวีปเอเชียที่เรียกว่า ‘Korean Wave (กระแสวัฒนธรรมเกาหลี)’ (หรือ ‘Hallyu’) ซึ่งไม่ได้มีแค่เพลง แต่ครอบคลุมไปถึงผลิตผลทางวัฒนธรรม อาทิ ภาพยนตร์, ละครโทรทัศน์, เกมส์ และอาหาร
ศิลปิน K-Pop อยู่ภายใต้สัญญากับสังกัดค่ายเพลง ผู้เสาะหาและฝึกฝนศิลปินตั้งแต่อายุยังน้อย, พาให้พวกเขาได้เดบิวต์เป็นศิลปินในสังกัด และจัดการดูแลสายงานของพวกเขาในทุกๆ ด้าน สังกัดค่ายเพลงทำรายได้จากการปล่อยเพลง และจากการดำเนินกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย ครอบคลุมถึงงานคอนเสิร์ต, งานว่าจ้างให้ไปปรากฏตัว, งานโฆษณาสินค้า, งานขายสินค้า และงานด้านลิขสิทธิ์ “ในธุรกิจดนตรีในอเมริกา ศิลปินจะเป็นศูนย์กลางและรายล้อมด้วยผู้คนมากมายที่มาให้ความช่วยเหลือ ได้แก่ ผู้จัดการที่เป็นผู้แลด้านธุรกิจ, ตัวแทนจากสังกัดที่เป็นผู้ปล่อยเพลง, ทนายความผู้ให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย, ตัวแทนที่เป็นผู้ดูแลการทัวร์คอนเสิร์ต, โปรดิวเซอร์ผู้รวมตัวทีมครีเอทีฟ และสไตล์ลิสที่เป็นผู้ช่วยด้านแฟชั่นและความงาม” นายบังกล่าว “ส่วนในเกาหลี สังกัดหนึ่งแห่งจะเป็นผู้จัดหาทุกสิ่งทุกอย่างให้กับศิลปิน” สังกัดใหญ่ในวงการ K-Pop จะมีการเซ็นสัญญาผูกขาดกับผู้อื่นนอกจากตัวศิลปินอีกด้วย เช่น โปรดิวเซอร์, นักแต่งเพลง, นักออกแบบท่าเต้น และแดนเซอร์ เพื่อส่งเสริมกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานในทุกๆ ด้าน ในอเมริกา บุคลากรเหล่านี้มักทำงานในสังกัดค่ายเพลงต่างๆ หมุนเวียนไปตามโปรเจกต์ที่ได้รับ “แนวทางแบบ 360 องศาคือลักษณะเฉพาะของวงการ K-Pop” นายเลนโซ ยุน ประธานบริหารด้านการตลาดต่างประเทศและภาคธุรกิจจาก Big Hit ชี้ “เราบริหารจัดการทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับศิลปิน เรามีสังกัดเพลง, เราดูแลการจัดคอนเสิร์ตและคอนเทนต์อื่นๆ, เรามีทีมบริหารจัดการองค์กร และมีโครงสร้างฝ่ายบริหาร… ที่นี่ ทุกอย่างอยู่ภายใต้หลังคาเดียวกัน”
‘สามสังกัดยักษ์ใหญ่’: SM, YG และ JYP
อุตสาหกรรม K-pop ถูกควบคุมโดย ‘สามสังกัดยักษ์ใหญ่’: SM, YG และ JYP (ดูข้อมูลทางการเงินที่ข้อมูลประกอบที่ 3) แต่ละสังกัดมีผลงานที่เป็นที่จดจำ สร้างสรรค์ศิลปินไอดอลที่ประสบความสำเร็จมาแล้วกว่าหลายทศวรรษ ไอดอลจากสามค่ายใหญ่มักมีแนวโน้มในการครองชาร์ตเพลง
SM Entertainment ก่อตั้งขึ้นในปี 1989 (ตั้งชื่อตามชื่อผู้ก่อตั้ง อีซูมาน) เป็นผู้ริเริ่มระบบการพัฒนาความสามารถภายในองค์กรจนกลายเป็นสัญลักษณ์ของวงการ K-Pop สังกัดประสบความสำเร็จตั้งแต่แรกเริ่มด้วยศิลปินอย่าง H.O.T. และ Shinhwa และในที่สุดก็จดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เกาหลี (KOSDAQ) ในปี 2000 ในปีต่อๆ มา SM ได้เปิดตัวศิลปินกลุ่มชายและศิลปินกลุ่มหญิงระดับท็อปอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ Girl’s Generation, Red Velvet, Shinee, Super Junior, และ TVXQ นอกจากนั้น SM ยังมีการปล่อยผลงานเดี่ยวจากไอดอลที่โด่งดังที่สุด, ผลงาน ‘ซับยูนิต’ (การแบ่งกลุ่มย่อยของสมาชิกในวง โดยโปรโมทภายใต้ชื่ออื่น) รวมไปถึงโปรเจกต์ที่รวมศิลปินหลายกลุ่มในสังกัด SM เข้าด้วยกัน เช่น SuperM ที่ได้รวบรวมสมาชิกจำนวนหนึ่งจากศิลปินมากประสบการณ์ในค่าย SM นอกเหนือจากเกาหลีใต้แล้ว SM ยังให้ความสำคัญกับตลาดอื่นๆ ในเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศญี่ปุ่นและจีน ยกตัวอย่างเช่นในปี 2012 พวกเขาได้เดบิวต์ศิลปินกลุ่มชายวง EXO ซึ่งแบ่งเป็น 2 ยูนิต ได้แก่ EXO-K และ EXO-M เพื่อโปรโมททั้งในเกาหลีใต้และจีนตามลำดับ
YG Entertainment สังกัดที่มีชื่อเสียงในเรื่องของภาพลักษณ์ที่แหวกแนวและสีสันความเป็นฮิปฮอป YG ก่อตั้งขึ้นในปี 1996 โดยนายยางฮยอนซอก ผู้เป็นไอดอลของวงการ K-Pop มาก่อน ศิลปินรายแรกของ YG ที่มีชื่อเสียงอย่างมากคือ BigBang ที่ประกอบด้วยสมาชิก 5 ราย ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในศิลปิน K-Pop ที่ประสบความสำเร็จและมีอิทธิพลตลอดกาล อีกหนึ่งศิลปินผู้ที่มาพลิกเกม ได้แก่ Psy เจ้าของเพลงฮิต อย่าง Gangnam Style ที่ปล่อยออกมาในปี 2012 ได้กลายเป็นคลิปวิดีโอแรกบน YouTube ที่มียอดเข้าชมถึง 1,000 ล้านครั้ง4 ศิลปินรายล่าสุดได้แก่ศิลปินกลุ่มหญิงวง Blackpink ที่เดบิวต์ในปี 2016 ด้วยซิงเกิ้ลติดอันดับสูงสุดบนชาร์ตจำนวนมาก Blackpink เซ็นสัญญากับ Interscope Records ในปี 2018 เพื่อบุกตลาดอเมริกาเหนือและยุโรป ในเดือนเมษายนปี 2019 Blackpink ได้กลายเป็นศิลปินกลุ่มหญิงรายแรกในวงการ K-Pop ที่ขึ้นแสดงในเทศกาลดนตรีชื่อดังอย่างงาน Coachella ในอเมริกา5
JYP Entertainment ก่อตั้งขึ้นในปี 1997 โดยนายพัคจินยอง ผู้เป็นนักร้อง, นักแต่งเพลง และโปรดิวเซอร์ ศิลปินกลุ่มรุ่นแรกของ JYP ได้แก่ Rain, MissA และ 2PM ในปี 2009 ศิลปินกลุ่มหญิงที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการหวนระลึกถึงความหลังอย่าง Wonder Girls กลายเป็นศิลปิน K-Pop รายแรกที่ติดอันดับบนชาร์ตเพลง Billboard Hot 100 และพวกเธอยังได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงเปิดเวิลด์ทัวร์คอนเสิร์ตของศิลปินเพลงป็อปสัญชาติอเมริกันอย่าง Jonas Brothers อีกด้วย6 อย่างไรก็ตาม ความพยายามของ JYP ในการบุกตลาดอเมริกาเหนือกลับไม่ประสบความสำเร็จ หลังจากเปิดกิจการได้เพียงหนึ่งปี JYP ก็ได้ปิดสาขาในฝั่งอเมริกาลงในปี 20137 ต่อมา JYP เปิดตัวศิลปินกลุ่มหญิงอย่าง Twice ในปี 2015 ซึ่งทำยอดขายได้นับล้านอัลบั้ม และกลายเป็นศิลปินกลุ่มหญิงรายแรกจากวงการ K-Pop ที่ได้จัดทัวร์คอนเสิร์ตในสเตเดียมของประเทศญี่ปุ่น8
สังกัดอื่นๆ
อุตสาหกรรม K-Pop ยังมีสังกัดเพลงเล็กๆ อีกมากมาย ด้วยสเกลที่เล็กและไม่ได้เป็นผู้นำในตลาด สังกัดย่อยเหล่านี้จึงมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการศิลปินและบริการด้านการค้า (Label Service เช่น การทำการตลาด, การโปรโมต, การผลิต, การจำหน่าย, การเผยแพร่ และการดูแลด้านลิขสิทธิ์ เป็นต้น) เหล่าไอดอลที่เซ็นสัญญากับบริษัทเหล่านี้จะต้องสร้างฐานแฟนคลับของพวกเขาเองเป็นระยะเวลานานโดยที่ไม่มีการจัดจำหน่ายอย่างทั่วถึงและกลยุทธ์ทางการตลาดเหมือนกับที่สามสังกัดยักษ์ใหญ่มี ส่วนใหญ่สังกัดเล็กๆ เหล่านี้จะมีข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจ จึงมักจะปิดตัวลงภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี
มีเพียงไม่กี่สังกัดเท่านั้นที่เติบโตจนเกินกว่าสถานะธุรกิจขนาดเล็ก พวกเขาสร้างความแตกต่างจนสามารถสร้างแนวทาง 360 องศาแบบเดียวกับที่ SM, YG และ JYP ทำได้ และสร้างกลุ่มศิลปินที่มีความสามารถแบบเทียบเท่าตัวต่อตัวกับสามสังกัดยักษ์ใหญ่ในตลาด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ได้แก่ CJ Entertainment & Media, Cube Entertainment, FNC Entertainment และ Pledis Entertainment แต่หมากตัวใหญ่ที่สุดที่อยู่เหนือสามสังกัดยักษ์ใหญ่ก็คือ Big Hit อย่างไม่ต้องสงสัย
วงการ K-Pop ปั้นซูเปอร์สตาร์ของตนขึ้นมาได้อย่างไร
แบบจำลองพัฒนาความสามารถในสามขั้นตอน
สังกัดบันเทิง K-Pop ใช้แบบจำลองพัฒนาความสามารถในสามขั้นตอนที่ประกอบด้วย (1) ค้นหาผู้สมัครที่มีความสามารถ ซึ่งโดยปกติจะมีอายุระหว่าง 13 ถึง 15 ปี, (2) ฝึนฝนผู้มีแววเหล่านั้นเป็นเวลาหลายปี และ (3) เปิดตัวศิลปินฝึกหัดที่มีแววมากที่สุดในฐานะศิลปินเดี่ยว หรืออย่างที่พบเห็นกันมากที่สุดก็คือ ฟอร์มวงกับศิลปินฝึกหัดรายอื่นๆ เป็นศิลปินกลุ่ม
“ผมมีความภาคภูมิใจอยู่พอสมควรกับระบบนี้” นายบังกล่าว “มีอยู่สามคนที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างระบบการฝึกหัดศิลปินที่สร้างเอกลักษณ์ของวงการ K-Pop ในทุกวันนี้ขึ้น นั่นก็คือ ประธานอีซูมัน จาก SM, ประธานพัคจินยอง จาก JYP แล้วก็ตัวผม” นายบังทราบดีว่าระบบที่เคร่งครัดนี้มีความแตกต่างอย่างมากกับธรรมชาติของการฟอร์มวงของศิลปินโดยส่วนใหญ่นอกเกาหลีใต้ ที่ค่อนข้างมีความยืดหยุ่นมากกว่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดข้อโต้แย้งถึงคุณค่าของวงการ K-Pop กันอย่างหนักหน่วง “มีอยู่สองประเด็นซึ่งเป็นที่ถกเถียงเกี่ยวกับระบบการฝึกหัดศิลปิน K-Pop ในแบบดั้งเดิม” นายบังกล่าว “อย่างแรกก็คือ เราสามารถเรียกศิลปินกลุ่มเหล่านี้ที่ถูกผลิตขึ้นว่านักดนตรีได้หรือไม่? และอย่างที่สองก็คือ ระบบนี้จำกัดความเป็นตัวตนและชีวิตของผู้คนที่ผ่านระบบนี้มากเกินไปหรือไม่?” เขายังกล่าวเสริมอีกว่า “ผมคิดว่าสองสิ่งนี้คือสิ่งที่น่ากังวล แต่เราจะเป็นต้องคำนึงถึงแง่ ‘การผลิตโดยรวม’ ของวงการ K-Pop ด้วย เพราะนอกเหนือจากดนตรีที่น่าสนใจแล้ว แนวเพลงของเราก็ต้องมีเอกลักษณ์ที่น่าดึงดูดและการแสดงที่ยอดเยี่ยมด้วยเช่นกัน ระบบการปั้นศิลปิน K-Pop ในแต่ละสังกัดพัฒนาขึ้นในแบบของตัวเอง ที่ Big Hit เราทำงานอย่างหนักเพื่อให้ได้มาซึ่งความสมดุลย์ระหว่างความมีประสิทธิภาพของระบบ และเคารพความเป็นตัวตนของศิลปินแต่ละราย”
(1) เฟ้นหาผู้มีความสามารถ สังกัดค่ายเพลงค้นหาผู้มีความสามารถที่อายุยังน้อยผ่านเครือข่ายแมวมองและการเปิดออดิชั่น วัยรุ่นผู้มีความทะเยอทะยานล้วนใช้เวลาขัดเกลาศักยภาพก่อนมาลงสนามออดิชั่น สถาบัน K-Pop ที่มีความเชี่ยวชาญผุดขึ้นมากมายในเกาหลีใต้เพื่อช่วยเหลือผู้มีแววด้วยการเสริมสร้างพื้นฐานการร้องและเต้น และฝึกปรือสร้างภาพลักษณ์ที่โดดเด่น อีกทั้งปลูกฝังจริยธรรมการทำงานอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งเป็นที่คาดหวังในตัวไอดอลในวงการ K-Pop9
ยิ่งสังกัดค่ายเพลงยิ่งใหญ่และยิ่งได้รับความนับถือมากเท่าไหร่ ยิ่งมีผู้สมัครมากขึ้นเท่านั้น เฉพาะ Big Hit เองมีการรีวิวผู้สมัครมากกว่า 20,000 รายต่อปี “เราพึ่งทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์” ชินซอนจอง หัวหน้าแผนกพัฒนาศิลปินรุ่นใหม่ผู้มีความสามารถจาก Big Hit อธิบาย “ไดเรกเตอร์ผู้ทำการคัดเลือกของเราตระเวนไปทุกที่ๆ อาจได้เจอผู้มีความสามารถที่มีแวว เช่น ที่สถาบันสอนเต้น เป็นต้น และเรายังเฝ้าติดตามสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียทุกประเภท ไดเรกเตอร์ผู้ทำการคัดเลือกจะระบุตัวผู้สมัครที่มีภาพลักษณ์หรือแสดงให้เห็นถึงความสามารถที่เรามองหา และจะติดต่อพวกเขาไปว่าสนใจจะเข้ามาออดิชั่นกับสังกัดของเราหรือไม่” ผู้สมัครจะได้รับการประเมินด้วยตัวชี้วัดหลายอย่าง ชินกล่าว “เกณฑ์สำคัญคือความสามารถของผู้สมัคร, ศักยภาพในการบรรลุบทบาทหน้าที่ที่เฉพาะเจาะจงในวง และทัศนคติในการผลักดันตัวเอง” คนที่จะเป็นดาวเด่นใช้เวลาเป็นปีๆ ในการออดิชั่นเดือนละหลายครั้งตามสังกัดต่างๆ ก่อนที่จะรักษาโอกาสในการเป็นศิลปินฝึกหัดเอาไว้ได้ในที่สุด
(2) ฝึกฝนความสามารถ ผู้สมัครที่ผ่านการออดิชั่นจะได้รับข้อเสนอ ‘สัญญาการเป็นศิลปินฝึกหัด’ ชั่วคราว “ทุกๆ ผู้สมัคร 20,000 ราย เราจะทำการคัดเลือกออกมาเหลือศิลปินฝึกหัดราว 30 ราย” ชินกล่าว หากศิลปินฝึกหัดตกลงเซ็นสัญญา พวกเขาจะได้รับอนุญาตให้เข้าระบบพัฒนาความสามารถอย่างเป็นกิจจะลักษณะของสังกัด “ภายในสัญญาของการเป็นศิลปินฝึกหัด จะมีเงื่อนไขระบุว่าศิลปินฝึกหัดไม่สามารถเซ็นสัญญากับสังกัดอื่นได้ในขณะที่พวกเขาเป็นศิลปินฝึกหัด” ชินอธิบาย “เมื่อพวกเขาได้เปิดตัวเป็นวง พวกเขาจะได้เซ็นสัญญาที่มีรายละเอียดซับซ้อนยิ่งขึ้น”
ศิลปินฝึกหัดจะได้รับการอบรบและฝึกหัดอย่างเข้มข้นตลอดการขัดเกลาความสามารถรอบด้าน ตั้งแต่การร้อง, การเต้น, การเดินแบบ, การแสดง และมีเดีย “เราให้ความสำคัญกับการฝึกประหนึ่งเป็นวิทยาลัย” นายบังอธิบาย “เราจัดคลาสเรียนและทำงานร่วมกับศิลปินฝึกหัดเพื่อคิดค้นตารางการฝึกฝนที่ดีที่สุดสำหรับพวกเขา ถ้าพวกเขาอาศัยอยู่ในโซลอยู่แล้ว ก็อาศัยอยู่กับครอบครัวต่อไปได้ แต่ถ้าพวกเขามาจากต่างจังหวัด ทางสังกัดก็เล็งเห็นว่าเป็นเรื่องที่เราสมควรลงทุนให้กับพวกเขา เราจึงจัดหาที่พักให้กับพวกเขาด้วย”
ระบบการฝึกหัดศิลปินใช้เวลา 6 วันต่อสัปดาห์ “หลังจากผู้สมัครเสร็จสิ้นการเรียนที่โรงเรียนในแต่ละวัน พวกเขาก็จะมาฝึกที่สังกัด การฝึกครอบคลุมทุกแง่มุมในการเป็นศิลปิน เราจัดการฝึกร้องเป็นรายบุคคลหรือคลาสเรียนอื่นๆ ที่อาจจำเป็นสำหรับพวกเขา ศิลปินฝึกหัดบางรายอาจยังไม่มีความเข้าใจว่าชอบดนตรีแบบไหนอย่างถ่องแท้ หรือจะสร้างสรรค์ผลงานเพลงของตัวเองขึ้นได้อย่างไร วิชาสุนทรียศาสตร์แห่งดนตรี (Music Appreciation) จึงถูกบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกอบรมรวมอยู่ด้วย” ชินกล่าว “ระบบการฝึกหัดศิลปินวางโครงสร้างเป็นระบบแข่งขันแบบ ‘ไม่เลื่อนขั้นก็ปลดออก (Up-or-Out)’ ที่มีการประเมินผลเป็นประจำเพื่อประเมินความก้าวหน้าของศิลปินฝึกหัด หากศิลปินฝึกหัดผ่านเกณฑ์ 3-6 เดือน พวกเขามีแนวโน้มที่จะถูกเก็บตัวไว้อย่างน้อยอีก 1 ปีเพื่อฝึกอบรมเพิ่มเติม โดยเพื่อให้มั่นใจได้ว่าพวกเขาสามารถขัดเกลาผลงานสร้างสรรค์ของตนเองได้ในมาตรฐานระดับมืออาชีพ ไอดอลส่วนใหญ่จะได้รับการฝึกฝนอย่างน้อย 3 ปีก่อนที่จะได้เดบิวต์
สังกัดค่ายเพลงส่วนใหญ่รับภาระค่าใช้จ่ายทุกส่วนของหลักสูตรฝึกหัดศิลปิน ค่าใช้เหล่านั้นอาจเป็นส่วนสำคัญ บางรายงานชี้ให้เห็นว่า การฝึกฝนผู้มีความสามารถอาจเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงถึง 100,000 เหรียญสหรัฐต่อปีต่อศิลปินฝึกหัดหนึ่งคน ดังนั้นกว่าศิลปินกลุ่มโดยเฉลี่ย 6-7 คนจะมีความพร้อมที่จะเดบิวต์ก็อาจมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นถึงราว 2 ล้านเหรียญสหรัฐ10 “หนึ่งในจุดแข็งที่สุดของวงการ K-Pop คือศักยภาพที่ปราดเปรียวในการฝึกฝนความสามารถ” นายบังชี้ “ระบบของเราที่ Big Hit มีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าและใช้เวลานานกว่าสังกัดส่วนใหญ่ นอกเหนือจากการฝึกฝนผู้สมัครของเราให้เป็นนักร้องแล้ว เราสอนการเข้าสังคม, การดูแลสุขภาพใจและสุขภาพกาย และมีหลักสูตรให้คำปรึกษา แม้ว่ามันอาจไม่ใช่ระบบการศึกษาที่เป็นทางการ แต่เราก็พยายามที่จะทำให้พวกเขาซึมซับคุณสมบัติที่พวกเขาควรมีในสังคมของเรา”
(3) เปิดตัวเป็นศิลปิน ไม่ใช่ศิลปินฝึกหัดทุกรายที่จะได้สัมผัสกับการเปิดตัวสู่ตลาด นายบังชี้ “สำหรับศิลปินกลุ่มที่มีสมาชิก 6 หรือ 7 คน เราจะฝึกฝึนศิลปินฝึกหัด 20 ถึง 30 รายในระยะเวลาประมาณ 3 ปี แต่ก็ไม่ใช่ศิลปินฝึกหัดทุกรายที่จะใช้เวลาถึง 3 ปีเต็ม ศิลปินฝึกหัดทั้งหมดที่ได้รับการฝึกฝนเพื่อฟอร์มเป็นวงที่กล่าวมามีจำนวนเกือบ 40 ถึง 60 ราย ในบางครั้ง ศิลปินฝึกหัดบางรายที่ได้มาเดบิวต์ (ในตลาด) เราได้ฝึกฝนเขาร่วมกับศิลปินฝึกหัดเป็นโหลที่ไม่ได้เดบิวต์” กระทั่งสังกัดใหญ่ๆ ก็เดบิวต์ศิลปินใหม่เพียงไม่กี่รายในช่วงระยะเวลาดังกล่าว
ที่ Big Hit เมื่อการเดบิวต์ศิลปินใกล้เข้ามา สังกัดและศิลปินจะทำงานร่วมกันเพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ของวง นายบังอธิบาย “เมื่อเรามีวงที่พร้อมจะเดบิวต์ พวกเขาจะย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ด้วยกันในบ้านหลังเดียวกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งอาจยาวนานถึง 1 ปีครึ่งก่อนที่จะถึงกำหนดการเดบิวต์จริง สมาชิกแต่ละคนจะเตรียมตัวสำหรับการเดบิวต์ นอกจากนั้นพวกเขาจะผ่านการประเมินเพื่อนร่วมวงเป็นเวลา 3 ถึง 6 เดือน เพื่อตัดสินว่าใครคือผู้ที่เหมาะสมจะเป็นหัวหน้าวงมากที่สุด, วาดภาพว่าวงอยากจะไปในทิศทางไหน และวางบทบาทของตัวเองในฐานะวง”
วงไอดอลมีแนวโน้มที่จะมีหัวหน้าวงเป็นผู้ที่มีอายุเยอะที่สุด และทำหน้าที่เป็นแกนหลักเมื่อมีสมาชิกเข้ามารวมตัวเพิ่ม หรือทำหน้าที่เป็นตัวแทนภาพลักษณ์ของวงได้ดีที่สุด สมาชิกคนอื่นอาจถูกวางตำแหน่งเป็น ‘นักร้องนำ’, ‘นักเต้นนำ’, ‘วิชวล’ (สมาชิกที่มีคาริสม่าหรือมีเสน่ห์ทางร่างกายที่น่าดึงดูดมากที่สุด) และ ‘น้องเล็ก’ (สมาชิกที่อายุน้อยที่สุดของวง)
ในบางครั้ง ศิลปินกลุ่มที่ประสบความสำเร็จแล้วก็มีการใช้ ‘ระบบจบการศึกษา’ เมื่อสมาชิกชุดเดิมยุติการทำกิจกรรม หรือถูกแทนที่ด้วยศิลปินใหม่ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นศิลปินที่มีอายุน้อยกว่า
สัญญาระหว่างสังกัดและผู้มีความสามารถ
เมื่อศิลปินฝึกหัดใกล้ที่จะเดบิวต์ พวกเขาจะทำการเซ็นข้อตกลง ‘สัญญาการเป็นศิลปิน’ อย่างเต็มรูปแบบกับสังกัดค่ายเพลง สัญญาเหล่านั้นล้วนมีเงื่อนไขจำนวนหนึ่งที่พบเห็นได้บ่อยดังนี้:
อายุสัญญา มาตรฐานอายุสัญญาเริ่มต้นของศิลปินในวงการ K-Pop ในกรณีอยู่ใต้เงื่อนไขสังกัดที่ตนเซ็นสัญญาแต่เพียงผู้เดียว (Exclusive Basis) จะอยู่ที่ราวๆ 7 ปี “อายุสัญญา 7 ปีเป็นตัวกำหนดโครงสร้างของวงการ” นายบังกล่าว “กว่าจะฝึกฝนศิลปินฝึกหัดให้สามารถเดบิวต์ออกไปได้ในที่สุดนั้นใช้เวลายาวนาน ซึ่งต้องลงทุนล่วงหน้าเป็นจำนวนมาก ศิลปินฝึกหัดไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายในส่วนนั้น เพราะมันเป็นการลงทุนของสังกัดเอง หลังจากพวกเขาเดบิวต์แล้ว อาจใช้เวลาร่วมหลายปีกว่าจะถึงจุดคุ้มทุน ซึ่งหากพวกเขาไม่ประสบความสำเร็จ มันก็คือการขาดทุนที่สังกัดต้องเป็นฝ่ายแบกรับ” ความนิยมของไอดอลส่วนใหญ่มักซบเซาลงก่อนที่สัญญาที่เซ็นครั้งแรกจะจบลง เรียกว่าเป็นปรากฏการณ์ ‘คำสาปเจ็ดปี’
ค่าใช้จ่ายของศิลปินฝึกหัด ในกรณีที่ศิลปินฝึกหัดฝ่าฝืนเงื่อนไขหรือพยายามที่จะยกเลิกสัญญาทั้งหมด ค่าใช้จ่ายที่สังกัดแบกรับภาระเอาไว้จะถูกถ่ายโอนกลับไปยังศิลปินฝึกหัด
จุดคุ้มทุนและการปันผลกำไร เมื่อศิลปินทำเงินได้ถึงจุดคุ้มทุน (เช่น ชดเชยค่าใช้จ่ายทั้งหมดของวง) ศิลปินจึงจะมีสิทธิ์ได้รับการปันผลกำไร การให้คำจำกัดความคำว่าจุดคุ้มทุนแตกต่างกันไปในแต่ละสังกัด แต่มักครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายเบื้องต้นจากช่วงที่เป็นศิลปินฝึกหัดและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในระหว่างนั้น (อาทิ ค่าจ้างทีมงานและการบริหารจัดการ, ค่าผลิตคอนเทนต์ และค่าใช้จ่ายของศิลปินในการดำรงชีวิต) ซึ่งโดยปกติแล้ว การปันผลกำไรแปรผันไปตามการหมุนเวียนของรายได้ด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น สัญญาของ B.A.P ศิลปินกลุ่มชายจากสังกัด TS Entertainment ที่เดบิวต์ในปี 2012 และยุติการทำกิจกรรมของวงลงในปี 2019 มีการระบุเอาไว้ว่าศิลปินจะได้รับค่าตอบแทน 10% จากกำไรของยอดขายของแต่ละอัลบั้ม และ 50% ของกำไรจากการปรากฎตัวในแต่ละงาน11
ข้อจำกัดของไลฟ์สไตล์ ไอดอลยึดถือกฎเกณฑ์ทางความประพฤติที่มีความเข้มงวด ซึ่งครอบคลุมถึงข้อห้ามในการออกเดท, การดื่มเหล้า และข้อกำหนดอื่นๆ ทางศีลธรรม12 การฝ่าฝืนกฎอาจนำไปสู่ผลที่ตามมามากมาย รวมถึงการถูกพักงานและการยกเลิกสัญญา
สัญญาของศิลปิน K-Pop กลายเป็นที่ฉาวโฉ่ถึงเงื่อนไขที่มีความเข้มงวด เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ศิลปินชื่อดังจำนวนไม่น้อยที่ออกมาดำเนินคดีความทางกฎหมายเพื่อให้หลุดพ้นจากสัญญาของตน (สาเหตุที่ข้อตกลงในการปันผลกำไรของ B.A.P เป็นที่รับทราบสู่สาธารณะเกิดจากการที่พวกเขายื่นฟ้องต้นสังกัด TS Entertainment ในปี 2014 เพื่อให้หลุดพ้นจากสัญญา) ในปี 2015 สมาชิก 3 รายจากศิลปินกลุ่มวง EXO-M จากสังกัด SM Entertainment ซึ่งในขณะนั้นเป็นศิลปินชื่อดังที่สุดในเอเชีย ยื่นฟ้องต้นสังกัดจากกรณีข้อกำหนดในสัญญาไม่เป็นธรรมและมีเงื่อนไขในการทำงานที่ไม่สมเหตุสมผล ท่ามกลางความคับข้องใจอื่นๆ เกิดขึ้น หลังจากที่มีการตรวจสอบสังกัดค่ายเพลงใหญ่ทั้งแปดแห่ง (ได้แก่ SM, YG และ JYP ไม่รวม Big Hit) ในปี 2017 และพบว่าบางสังกัดกำหนดให้ศิลปินฝึกหัดที่ต้องการยกเลิกสัญญาต้องจ่ายค่าปรับเป็นจำนวน 2 ถึง 3 เท่าของเงินที่สังกัดได้ลงทุนในช่วงการเป็นศิลปินฝึกหัด คณะกรรมการการค้ายุติธรรมแห่งเกาหลีใต้จึงได้มีการจำกัดการชำระหนี้คืนเป็นจำนวนเต็ม หากสังกัดค่ายเพลงไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าได้ลงทุนเงินจำนวนดังกล่าวให้กับศิลปินโดยตรง13 คณะกรรมการฯ ยังขอให้สังกัดค่ายเพลงยุติการบังคับให้ศิลปินต่อสัญญาเมื่อสิ้นสุดอายุสัญญา และยุติการยกเลิกสัญญาอย่างฉับพลันโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า หรือด้วยเหตุผลที่กำกวม ซึ่งล้วนเป็นแนวทางปฏิบัติที่ค่อนข้างพบเห็นได้บ่อย การปฏิรูปนี้กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการตลอดทั่วทั้งวงการ นายบังแย้ง “เนื้อหาโดยส่วนใหญ่ของสัญญาระหว่างศิลปิน ณ ปัจจุบันมามุ่งเน้นที่การรักษาสิทธิ์ในการตัดสินใจของศิลปินมากขึ้น ซึ่ง Big Hit ยึดมั่นกับแนวทางปฏิบัตินี้มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งแล้ว”
การปล่อยเพลง
ศิลปิน K-pop มักปล่อยผลงานเพลงใหม่มาพร้อมกับกิจกรรมที่ล้นทะลัก (เรียกกันว่า ‘คัมแบ็ก’) ตลอดระยะเวลาหนึ่งปีตามปฏิทิน การปล่อยผลงานส่วนใหญ่จะเป็นซิงเกิ้ลหรือ EP (Extended Play) ที่ประกอบด้วยซิงเกิ้ลหลักและเพลงอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง โดยปกติแล้ว EP จะเป็นการผลิตซ้ำและต่อยอดจากผลงานเดิมด้วยการเพิ่มคอทเทนต์เข้ามาใหม่ เรามักไม่ค่อยพบเห็นการปล่อยอัลบั้มเต็มนัก ซึ่งการปล่อยอัลบั้มเต็มมักเป็นแพ็กเกจรวมผลงานซิงเกิ้ลล่าสุดของวง
สังกัดค่ายเพลงเผยแพร่เพลงในรูปแบบแผ่นและดิจิตอล ในขณะที่ความนิยมของแผ่น CD ลดลงอย่างฮวบฮาบในภูมิภาคต่างๆ แฟนเพลง K-Pop กลับยังคงซื้ออัลบั้มแผ่นเพื่อสนับสนุนศิลปินคนโปรด14 สังกัดค่ายเพลงต่างๆ พยายามอย่างเต็มที่เพื่อทำให้การจำหน่ายอัลบั้มแผ่นน่าดึงดูดด้วยแท็กติกต่างๆ อาทิ เพิ่มคอนเทนต์พิเศษ, ใช้อัลบั้มเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าอีเวนต์โปรโมตเฉพาะกิจ และใส่ตั๋วชิงโชคสำหรับงานมีตแอนด์กรีตและอีเวนท์อื่นๆ สำหรับแฟนคลับ
ชาร์ตเพลงจำนวนมากรายงานยอดขายอัลบั้มและเพลงในเกาหลีใต้ ชาร์ตที่ทรงอิทธิพลมากที่สุด ได้แก่ ชาร์ต Gaon ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว แห่งเกาหลีใต้ แต่แฟนๆ ผู้หิวกระหายติดตามชาร์ตจำนวนมาก และเฝ้าติดตามความสำเร็จที่เพลงๆ หนึ่งคว้าอันดับ 1 ได้พร้อมๆ กันบนชาร์ตเพลงใหญ่ทุกชาร์ต อย่าง ‘การออลคิล’ ที่ต้องการอย่างตั้งใจ (ดูอัลบั้มที่ทำอันดับสูงสุดในปี 2018 และปี 2019 ในข้อมูลประกอบที่ 4)
แคมเปญการตลาดสำหรับการปล่อยเพลงใหม่มักเปิดตัวพร้อมกับการแสดงในรายการเพลงที่ออกอากาศทางเครือข่ายโทรทัศน์เกาหลีที่เป็นที่รู้จักกันดี รายการใหญ่แต่ละรายการมีวันออกอากาศเป็นประจำในหนึ่งสัปดาห์ และสร้างสนามแข่งที่มีประสิทธิภาพให้ไอดอลได้มาปรากฎตัว การแข่งขันให้ได้มาซึ่งแอร์ไทม์นั้นมีความเข้มข้น คิมชินกยู ประธานบริหารแผนกการบริหารจัดการศิลปินจาก Big Hit กล่าว “รายการเพลงในเกาหลีใต้จะมีศิลปินมาออกรายการราว 60 วง และแข่งขันกันราว 15 ถึง 20 สล็อต” รายการจะออกอากาศทั้งการแสดงสดและการแสดงที่บันทึกเทปไว้ล่วงหน้า (ที่เรียกกันว่า ‘สเตจ’) ซึ่งนำมาสู่การเปิดเผยชาร์ตรายสัปดาห์ของรายการ (แต่ละชาร์ตมีวิธีการคำนวณคะแนนต่างกันออกไป แต่โดยส่วนใหญ่มักอ้างอิงจากผลรวมยอดขาย, ความถี่ในการถูกกล่าวถึงบนโซเชียลมีเดีย และคะแนนโหวตจากแฟนๆ) “เวลาโปรโมตอัลบั้ม เราจะทำการติดต่อไปยังสถานีโทรทัศน์ล่วงหน้าประมาณสองเดือน” นายคิมเสริม “แนวคิดและไอเดียของเราไม่ได้ถูกนำเสนอในรายการอย่างเต็มรูปแบบเสมอไป แต่เราก็ดำเนินงานเกี่ยวกับสเตจการแสดงของศิลปินกับสถานีโทรทัศน์อย่างใกล้ชิด”
การแสดงในรายการเพลงที่ถูกบันทึกไว้กลายเป็นเครื่องมือการโปรโมตที่สำคัญ คลิปวิดีโอที่สถานีโทรทัศน์นำไปโพสต์ลงแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น YouTube มักมียอดเข้าชมนับล้านครั้ง ศิลปินแต่ละกลุ่มต่างแข่งขันกันเพื่ออยู่อันดับสูงๆ บนแพลตฟอร์มเหล่านั้น โดยศิลปินที่ทำอันดับ 1 ได้ต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสัปดาห์ก็จะได้รับรางวัลพิเศษไป ส่วนแฟนๆ K-Pop ก็จับตาเฝ้าดูความสำเร็จเหล่านั้นอย่างใจจดใจจ่อ
ในการโปรโมตผลงานเพลงของตนเอง ศิลปิน K-Pop จะมีการบันทึกมิวสิกวิดีโอ, ทำการแสดงสดไปทั่วประเทศ, ปรากฎตัวในรายการวาไรตี้ชื่อดัง เช่น Weekly Idol, ออกอีเวนต์ในห้างสรรพสินค้าและงานเทศกาลต่างๆ และเข้าร่วมงานแฟนมีตติ้ง ตารางงานของศิลปินจะถูกวางไว้อย่างแน่นขนัดตลอดการโปรโมต ซึ่งอาจใช้เวลาร่วมหลายเดือนไปโดยปริยาย นายคิมเซจิน รองหัวหน้าแผนกระเบียบการของศิลปินจาก Big Hit กล่าว “เราวางตารางกิจกรรมเหล่านั้นล่วงหน้าถึงหนึ่งปี”
การมีปฏิสัมพันธ์กับแฟนๆ
วงการ K-pop มีคอมมูนิตี้แฟนคลับจากทั่วโลกที่มีการปฏิสัมพันธ์และความตื่นตัวสูง แทบจะมากกว่าแฟนๆ ของดนตรีแนวอื่น โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงความถี่ที่แฟนๆ K-Pop มีปฏิสัมพันธ์กับศิลปินบนโซเชียลมีเดีย (ผ่านการไลก์บน Instagram, การเมนชั่นบน Twitter เป็นต้น) แฟนๆ K-Pop ทำผลงานมากกว่าแนวเพลงอื่นอย่างมีนัยสำคัญ15
สังกัดค่ายเพลงส่งเสริมและสนุนกิจกรรมเกี่ยวกับแฟนคลับโดยส่วนใหญ่ พวกเขาจะสร้างคอมมูนิตี้ออนไลน์ (‘แฟนคาเฟ่’) ของศิลปินแต่ละกลุ่มให้แฟนๆ ได้มามีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน, รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับศิลปิน และส่งข้อความถึงศิลปิน ในกรณีที่สังกัดค่ายเพลงอนุญาตให้ศิลปินสร้างโพรไฟล์ของตนเองบนโซเชียลมีเดีย แอคเคาต์เหล่านั้นจะค่อนข้างมีความสำคัญอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น แอคเคาต์ของศิลปินกลุ่มชายวง EXO ที่มีผู้ติดตามถึง 7 ล้านแอคเคาต์บน Instagram (ดูข้อมูลประกอบที่ 5) ในขณะที่แอคเคาต์ส่วนตัวของสมาชิก Chanyeol (ชานยอล) มีผู้ติดตามถึง 20 ล้านแอคเคาต์
โดยส่วนใหญ่แล้ว สังกัดค่ายเพลงจะก่อตั้งระบบสมาชิกแฟนคลับอย่างเป็นทางการให้ผู้สนับสนุนได้เข้าร่วมด้วยการชำระค่าสมาชิกรายปี โดยแฟนคลับจะได้รับบัตรสมาชิกและสิทธิประโยชน์มากมาย รวมถึงสิทธิพิเศษในการเข้าชมคอนเสิร์ต, ซื้อสินค้าสุดพิเศษ และโอกาสในการเข้าร่วมอีเวนต์พิเศษเป็นการตอบแทน16 นอกเหนือจากมอบโอกาสให้แฟนๆ ผู้ทุ่มเทมากกว่าใครได้สร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับศิลปินแล้ว แฟนๆ ยังมีการกำหนดแนวทางของการมีปฏิสัมพันธ์อีกด้วย พฤติกรรมของแฟนๆ ที่คลั่งใคล้ (ที่เรียกกันว่า ‘ซาแซง’) อาจทำให้เหล่าไอดอลต้องอยู่บนความเสี่ยง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีทั้งการที่แฟนๆ พยายามบุกรุกที่พักของไอดอล, ขโมยข้อมูลและของใช้ส่วนตัว ไปจนกระทั่งการทำร้ายร่างกาย ได้กลายเป็นสิ่งที่พบเห็นได้บ่อยอย่างน่าสลดใจ17
“มันเป็นปัญหาใหญ่” นายคิมกล่าว “เราพบเห็นแฟนๆ จำนวนไม่น้อยค้นพบตารางงานและสถานที่ทำงานของศิลปินอย่างแม่นยำ และติดตามไปในทุกๆ ที่ที่พวกเขาไป”
เมื่อพูดถึงการหาวิธีแสดงการสนับสนุนศิลปินคนโปรด แฟนๆ K-Pop มีความสร้างสรรค์อย่างมาก แท็กติกที่มีความนิยมอย่างมากในกรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ คือการระดมทุนเช่าพื้นที่โฆษณาขนาดบิลบอร์ดในที่สาธารณะซึ่งมีราคาสูงถึง 5,000 เหรียญสหรัฐต่อสัปดาห์ บนป้ายบิลบอร์ดเหล่านั้น แฟนๆ จะแสดงรูปของศิลปินพร้อมข้อความแสดงถึงความรักที่มีต่อศิลปิน รวมถึงชื่อของแฟนคลับผู้เป็นผู้นำในการจัดทำ เหล่าแฟนๆ จะมาถ่ายรูปเซลฟี่หน้าป้ายบิลบอร์ดเหล่านี้ตลอดทั้งวันและแปะสติกกี้โน้ตเอาไว้ ส่วนแฟนเบสส่วนใหญ่ผู้ตื่นตัวกับความสำคัญของยอดสตรีมและกิจกรรมออนไลน์อื่นๆ ที่มีผลต่อชาร์ตเพลง มักหาหนทางขับเคลื่อนเหล่าผู้ติดตาม (ผ่านเครือข่ายแอคเคาต์โซเชียลมีเดียขนาดใหญ่) ให้เข้ามาออนไลน์ระหว่าง ‘ฤดูกาลคัมแบ็ก’ หรือช่วงเวลาอื่นๆ ที่มีความสำคัญ
Big Hit Entertainment
ช่วงแรกของสังกัด
นายบังชีฮยอก ผู้มีความทะเยอทะยานในด้านดนตรีมาตั้งแต่เยาว์วัย เข้าทำงานในตำแหน่งนักแต่งเพลงและโปรดิวเซอร์ที่สังกัด JYP Entertainment ในยุค 1990 เขาสร้างชื่อให้กับตัวเองอย่างรวดเร็วด้วยการแต่งและเรียบเรียงผลงานเพลงฮิตหลายเพลงให้กับศิลปินกลุ่มชายวง g.o.d และช่วยให้พวกเขาขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของวงการ K-Pop นอกจากนั้นนายบังยังสร้างสรรค์ผลงานเพลงฮิตให้กับ Rain, Wonder Girls และศิลปินตัวท็อปอื่นๆ อีกมากมาย เมื่อถึงช่วงต้นยุค 2000 บทบาทของนายบังก็ได้ขยับขยายอย่างมีนัยสำคัญ “ผมไม่ได้เป็นเพียงโปรดิวเซอร์อีกต่อไป ในขณะที่คุณพัคจินยองมุ่งดูแลทางด้านธุรกิจในอเมริกา ผมรับหน้าที่งานผลิตเพลงโดยส่วนใหญ่ในเกาหลี มีรายละเอียดหลายอย่างมากขึ้นที่ผมต้องให้ความสำคัญ ซึ่งในท้ายที่สุดผมจึงพูดคุยกับคุณพัคว่าสิ่งเหล่านั้นมันมีผลกระทบต่อผมอย่างไร เขาบอกว่าถ้าผมรู้สึกอย่างนั้น มันอาจจะดีกว่ากับพวกเราทุกคนถ้าผมออกจากสังกัด และเดี๋ยวเราก็คงหาทางทำงานร่วมกันนอกสังกัด JYP ได้เอง”
นายบังออกไปเสี่ยงดวงและก่อตั้งสังกัด Big Hit Entertainment ขึ้นในช่วงต้นปี 2005 (นายบังกล่าว “ชื่อสังกัดเป็นการล้อกับชื่อเล่น ‘Hitman’ ของผม”) ความสัมพันธ์ระหว่างนายบังและนายพัคทำให้ Big Hit พร้อมออกตัวเดินหน้าต่อได้ทันที นายบังกล่าว “JYP ส่งศิลปินฝึกหัดจำนวนหนึ่งมาให้เดบิวต์ภายใต้การบริหารจัดการร่วมกัน ซึ่งเราในฐานะ Big Hit รับผิดชอบการวางแผนอัลบั้ม, การพัฒนาต่อยอด, การโปรโมต และการบริหารจัดการทั้งหมด และแบ่งสรรกำไรในกิจกรรมเหล่านี้ร่วมกับ JYP แม้ว่า ณ ตอนนั้นเรายังไม่มีวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ที่ชัดเจน แต่เราก็มีศิลปินฝึกหัดเหล่านี้เข้ามา เราจึงเริ่มบริหารจัดการสิ่งต่างๆ ให้กับพวกเขา” ศิลปินเดี่ยวรายแรกของ Big Hit คือ อิมจองฮี ผู้ประสบความสำเร็จระดับหนึ่งในตลาดเพลงเกาหลีใต้ อย่างไรก็ดี เมื่ออิมจองฮีมุ่งทำกิจกรรมในตลาดอเมริกามากกว่า รายได้ของ Big Hit จึงตกลงจนถึงสภาวะที่เกือบล้มละลาย หลังจากนั้นไม่นาน Big Hit จึงเปลี่ยนทิศทางมาที่ตลาดไอดอล โดย JYP ยื่นข้อเสนอมอบศิลปินกลุ่มชายวง 2AM ให้กับเราภายใต้การบริหารจัดการร่วมกันอีกครั้ง เมื่อความนิยมของ 2AM มีมากขึ้น Big Hit เองก็โด่งดังมากขึ้นเช่นกัน “2AM ประสบความสำเร็จอยู่ 2 ถึง 3 ปี ซึ่งพวกเราเองก็ประสบความสำเร็จระหว่างช่วงนั้นเช่นกัน” นายบังกล่าว “แต่แล้วรายได้ก็เริ่มลดลงจนพวกเราต้องเริ่มต่อสู้ดิ้นรน ช่วงที่ถดถอยนี้เป็นสิ่งที่ยากลำบากสำหรับผมมากๆ ครับ”
ทบทวนอนาคตของ Big Hit Entertainment
การต่อสู้ดิ้นรนเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้นายบังและประธานบริหารร่วมอย่างนายยุนต้องทบทวนกลยุทธ์ของพวกเขาใหม่ “ในปี 2011 พวกเรายุติกิจกรรมที่กำลังดำเนินอยู่เพื่อวิเคราะห์ว่าเรากำลังทำอะไรพลาดพลั้งไป และจำเป็นต้องมีสิ่งใดเพื่อพัฒนาขึ้น” นายยุนกล่าว “เราตั้งคำถามสำคัญบางประการกับตัวเราเอง: ไอดอลคืออะไร? เราอยู่ในธุรกิจแบบไหน? แฟนคลับเป็นใคร? และลักษณะนิสัยของพวกเขาเป็นอย่างไร? เราต้องตีโจทย์ให้แตกว่าต้องใช้สมการไหนเพื่อให้ได้มาซึ่งความสำเร็จที่พวกเราต้องการ” เป็นเวลาร่วมหลายเดือนที่พนักงานของ Big Hit หยุดงานประจำที่ทำอยู่และทุ่มเทให้กับการค้นคว้าตลาดไอดอลและหาแนวคิดเพื่อหนทางข้างหน้า ผลิตผลในครั้งนั้นก่อให้เกิดเป็นสิ่งที่นายบังเรียกว่า ‘เวิร์กช็อป’ ซึ่งจัดขึ้นเป็นเวลาสามวัน โดยฝ่ายบริหารของสังกัดได้มาวิเคราะห์และหารือกันเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาค้นพบ
เวิรก์ช็อปดังกล่าวก่อให้เกิดข้อมูลเชิงลึกที่เป็นวงกว้างให้กับตลาดเพลง นายบังกล่าว “ยกตัวอย่างเช่น คุณอาจคิดว่าเทคโนโลยีดิจิตอลที่มีการพัฒนาขึ้นจะเป็นสิ่งที่รวมตัวผู้คนได้ง่ายดายยิ่งขึ้น แต่เรากลับพบว่าตามจริงแล้วผู้คนกับรู้สึกตัดขาดจากกันมากกว่าที่เป็น เราจึงต้องหาหนทางที่จะช่วยพวกเขา, มอบแรงบันดาลใจให้กับพวกเขา และเยียวยาพวกเขา” ผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปได้มีการวิเคราะห์คู่แข่งและพิเคราะห์แนวทางปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพที่สุดอีกด้วย นายบังกล่าว “เราทำการศึกษาแม่แบบของระบบไอดอล K-Pop และหนทางที่จะต่อยอดระบบสู่แบบแผนทางธุรกิจที่ยั่งยืน” ไม่นานนับจากนั้น ผู้บริหารของ Big Hit ก็ได้นำสิ่งที่เรียนรู้จากเวิร์กช็อปมาปรับใช้กับศิลปินของสังกัด ลู่ทางใหม่นั้นได้ปรับเปลี่ยนทุกแง่มุมที่ Big Hit นำศิลปินเข้าสู่ตลาดอย่างแท้จริง รวมถึงกระทั่งการทำให้คอนเทนต์ครีเอทีฟเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น นายยุนกล่าว “ผมคิดว่าข้อสรุปที่เราได้มาเมื่อปี 2011 เราได้ค้นพบกับโสมชั้นดี อย่างที่คนเกาหลีมักพูดกัน”
ข้อมูลเชิงลึกเหล่านั้นฝังรากลึกและแพร่หลายในวัฒนธรรมองค์กรของ Big Hit “ที่ Big Hit วัฒนธรรมของเรามาจากศิลปินและแฟนๆ ของเรามากกว่าสังกัดไหนๆ ที่ทำธุรกิจไอดอล เรามุ่งเน้นที่จะดูแลความเชื่อมั่นระหว่างสังกัดและศิลปินของเรา” นายยุนกล่าวเสริม “เราให้ความสำคัญกับแนวคิดในการ ‘ประสบความสำเร็จไปด้วยกัน’ เรามุ่งหวังที่จะทลายแนวปฏิบัติของวงการที่มีความเป็นลำดับขั้นอย่างมาก ที่ซึ่งตัวศิลปินอยู่จุดต่ำสุดของวงการ” หนึ่งในกรณีที่นำมาใช้จริงก็คือการเอ่ยถึงศิลปินด้วยคำนำหน้าที่สุภาพ ซึ่งเป็นลักษณะทางภาษาของภาษาเกาหลีที่ทำให้เห็นถึงความอาวุโสระหว่างผู้พูด เป็นแนวทางปฏิบัติที่พบเห็นได้ไม่บ่อยนักในวงการใหญ่ๆ
Big Hit Entertainment ในปี 2020
ปี 2020 สังกัด Big Hit เติบโตขึ้นโดยมีพนักงานถึง 400 รายและมีรายได้ทัดเทียมสามสังกัดยักษ์ใหญ่ (ดูข้อมูลประกอบที่ 6) นายบังกล่าว “ในปี 2011 เราทำรายได้ราว 6 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีพนักงาน 20 ถึง 30 ราย ในปี 2016 เราทำรายได้ถึง 29 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีพนักงาน 50 ถึง 60 ราย สมัยนั้นเราค่อนข้างมีความรอบคอบในการจ้างพนักงานเพราะเราเคยผ่านช่วงยากลำบากมาเมื่อก่อนหน้านี้ แม้จะรู้สึกว่าเราเริ่มที่จะทำกำไรอย่างยั่งยืนได้แล้วก็ตาม จนกระทั่งปี 2018 เราถึงเปิดรับพนักงานมากขึ้นอย่างจริงจัง ตอนนี้เรามีพนักงานอยู่ราว 400 ราย และทำรายได้ถึง 489 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อปีที่ผ่านมา”
Big Hit มีบริการสนับสนุนศิลปินของตนอย่างเต็มรูปแบบ แผนกการพัฒนาศิลปินจะเป็นฝ่ายคัดเลือกและฝึกฝนศิลปินฝึกหัด เมื่อพวกเขาได้เดบิวต์แล้ว แผนกการบริหารจัดการศิลปินและแผนกระเบียบการของศิลปิน มีหน้าที่จัดการดูแลศิลปิน ส่วนในแผนกการผลิตงานเพลงนั้น Big Hit ทำหน้าที่ควบคุมสตูดิโอภายใน, กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการคัดสรรและพัฒนาศิลปิน (A&R หรือ Artist and Repertoire) และการดำเนินงานผลิต นอกจากนั้นยังมีแผนกการวางแผนและจัดงานคอนเสิร์ต, แผนกการจัดการด้านลิขสิทธิ์และการจำหน่ายสินค้า สำหรับในแง่ของภาพลักษณ์ของศิลปินและการแสดง ทีมวิชวล-ครีเอทีฟจะเป็นผู้รับหน้าที่ดูแล บังอูจอง หัวหน้าแผนกการสร้างสรรค์คอนเทนต์จาก Big Hit กล่าว “ทีมผู้สร้างภาพยนตร์, สารคดี, ดีวีดี และโฟโต้บุ๊ก เป็นทีมที่แข็งแกร่งประกอบด้วยสมาชิก 30 ราย” นอกจากนั้น Big Hit ยังมีอีกหลายแผนกที่สนับสนุนการทำงาน อาทิ แผนกกลยุทธ์ลูกค้า และแผนกการตลาด
บริษัทในเครือผู้พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิตอลอย่าง beNX เป็นผู้จัดการดูแลสองแอพพลิเคชั่น ได้แก่ แอพพลิเคชั่น Weverse แพลตฟอร์มคอมมูนิตี้ที่ศิลปินและแฟนคลับสามารถโพสต์คอนเทนต์เอ็กซ์คลูซีฟและสื่อสารกันได้ ซึ่งมีผู้ใช้งานราวสามล้านแอคเคาต์และรองรับการใช้งานในภาษาเกาหลี, อังกฤษ และญี่ปุ่น และแอพพลิเคชั่น Weverse Shop แพลตฟอร์มจำหน่ายสินค้าออฟฟิเชียลของ Big Hit
ณ เดือนมีนาคมปี 2020 Big Hit มีศิลปินอยู่สามกลุ่มในสังกัด (ดูข้อมูลประกอบที่ 7) ได้แก่ BTS, Tomorrow X Together (หรือ ‘TXT’) และ GFriend ศิลปินกลุ่มชายวง TXT เดบิวต์ในช่วงต้นปี 2019 และสร้างฐานที่มั่นร่วมกับแฟนๆ ได้อย่างรวดเร็ว อัลบั้มแรกของ TXT อย่าง The Dream Chapter: Magic ทำอันดับสูงสุดบนชาร์ตรายสัปดาห์ของ Gaon ส่วนศิลปินกลุ่มหญิงวง GFriend ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังกัด Big Hit เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2019 เมื่อตอนที่สังกัดเข้ารับช่วงต่อกิจการค่ายเพลงร่วมวงการอย่าง Source Music ปัจจุบัน ศิลปินรายใหญ่ที่สุดของ Big Hit คือ BTS นั่นเอง
BTS: ศิลปินกลุ่มผู้ประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย
ฟอร์มวง
ความสำเร็จของ BTS มีรากฐานมาจากเดโม่ของ คิมนัมจุน ผู้ที่ปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันดีภายใต้ชื่อในวงการว่า RM ซึ่งหนึ่งในโปรดิวเซอร์ของ Big Hit อย่าง Pdogg พามาให้นายบังได้รู้จัก “ตอนผมฟังเดโม่ของ RM ผมตั้งเป้าหมายกับตัวเองเอาไว้เลยว่าจะต้องเดบิวค์คนๆ นี้” นายบังหวนคิด “คนที่ยังเด็กขนาดนี้แล้วสามารถใส่จิตวิญญาณลงไปในเพลงได้ ด้วยความสามารถทางดนตรีเท่าที่เขามี? ผมแค่รู้สึกว่ายังไงก็ต้องจับเขามาเดบิวต์ให้ได้”
เดิมทีนายบังตั้งใจที่จะรายล้อม RM ด้วยนักดนตรีแนวเดียวกันและรวมตัวเป็นวงฮิปฮอป แต่หลังจากเวิร์กช็อปในปี 2011 สังกัดจึงเปลี่ยนทิศทางของคอนเซ็ปต์ของวง นายบังกล่าว “เราคิดว่าน่าจะลองชิมลางแนวทางไอดอลดู เราจึงเริ่มเฟ้นหาผู้สมัครที่มี ‘ความเป็นไอดอล’ มากขึ้น” ท้ายที่สุด แรพเปอร์อินดี้อย่าง SUGA (ชูก้า) และนักเต้นใต้ดินอย่าง j-hope (เจโฮป) ผู้เป็นสมาชิกที่เหลืออยู่ก็ถูกฟอร์มตัวขึ้นเป็นวงโดยมี RM เป็นศูนย์กลาง สมาชิกอีกสี่ราย ได้แก่ นักร้องและนักเต้นที่มีความสามารถอย่าง Jin (จิน), Jimin (จีมิน), Jung Kook (จองกุก) และ V (วี) ก็ได้เข้ามาร่วมวงหลังจากจุดเปลี่ยนในครั้งนั้น
นายบังตัดสินใจยึดมั่นในสีสันความเป็นฮิปฮอปของวงต่อไป เขากล่าว “ผมค่อนข้างคุ้ยเคยกับเพลงอเมริกัน และต้องการให้ความคิดของวงได้ถ่ายทอดออกมาผ่านเนื้อเพลง” ในตอนนั้น กระทั่งใน Big Hit เองยังมีน้อยคนนักที่คาดหวังถึงความสำเร็จระดับโลกของ BTS “ฉันไม่คิดว่าจะมีใครคิดว่าพวกเขาจะกลายเป็นซูเปอร์สตาร์” ชินซอนจอง ผู้ควบคุมพัฒนาการของวงในขณะเป็นศิลปินฝึกหัด หวนคิด “แต่เราทุกคนรู้เลยว่าจะฟอร์มวงดีๆ โดยมี RM เป็นหัวหน้าวงขึ้นได้”
ปี 2013 ถึง 2017: จากความสำเร็จระดับปานกลาง สู่ฐานแฟนคลับซูเปอร์สตาร์ระดับโลก
BTS เดบิวต์อย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายนปี 2013 ด้วยอัลบั้ม 2 COOL 4 SKOOL (ดูรายชื่ออัลบั้มของ BTS ที่ข้อมูลประกอบที่ 8) ซิงเกิ้ลหลัก No More Dream ไม่ได้รับความนิยมมากนัก ทำอันดับสูงสุดที่อันดับ 10 บนชาร์ตอัลบั้มของ Gaon ด้วยยอดขายเพียง 19,000 ก็อปปี้ในเดือนแรกที่เปิดตัว18 “ในช่วงเริ่มต้นของ BTS พวกเราเล่นบทบาทที่สุดแสนจะธรรมดาในวงการ K-Pop” นายบังกล่าว “ทุกอย่างที่เราทำก็เพื่อดิ้นรนให้อยู่รอดในตลาดและสร้างฐานแฟนคลับ ณ ตอนนั้นเราไม่ได้นึกถึงตลาดต่างประเทศเลย” มินิอัลบั้มถัดมา O!RUL8,2? ก็ทำผลงานได้ปานกลาง จนกระทั่งมินิอัลบั้ม Skool Luv Affair ที่ปล่อยออกมาในเดือนมกราคมปี 2014 ที่พวกเขาเริ่มเรียกความสนใจจากแฟนๆ ได้ ไม่กี่เดือนถัดมาหลังจากนั้นในงานแฟนมีทติ้งครั้งแรกของ BTS ต้นสังกัด Big Hit ก็ได้ทำการเปิดตัวชื่อแฟนคลับของ BTS อย่างเป็นทางการ ในชื่อ ARMY
BTS ปล่อยอัลบั้มถัดมาอย่าง Dark & Wild ในเดือนสิงหาคมปี 2014 และทำยอดขายได้มากกว่า 100,000 ก็อปปี้ในเกาหลีใต้ภายในสิ้นปี19 งานเฉลิมฉลองวัฒนธรรมเกาหลีใต้ในกรุงลอสแองเจลิสอย่างงาน KCON ที่ BTS ได้รับเชิญไปขึ้นแสดงเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า BTS ก็ได้สั่งสมจุดยืนในตลาดอเมริกาไว้ด้วยเช่นกัน นายบังชี้ “ปฏิกิริยาที่ผู้ชมมีต่อ BTS แตกต่างจากที่พวกเขามีต่อศิลปิน K-Pop รายอื่นที่เราเคยเห็นมาก่อนในอเมริกา” พวกเขาเริ่มทัวร์คอนเสิร์ตในต่างประเทศเป็นครั้งแรก และปิดฉากปีนั้นด้วยการปล่อยอัลบั้มภาษาญี่ปุ่นอัลบั้มแรกอย่าง Wake Up ซึ่งประกอบด้วยเพลงต้นฉบับและเพลงที่ทำการบันทึกเสียงใหม่
เมื่อถึงปี 2015 BTS ได้กลายเป็นดาวเด่นในเกาหลีใต้ พวกเขาคว้าที่หนึ่งเป็นครั้งแรกในรายการเพลงจากซิงเกิ้ลหลักอย่าง I Need U จากมินิอัลบั้มที่สาม The Most Beautiful Moment in Life Pt. 1 โดยในปีถัดมาพวกเขาได้ปล่อยอัลบั้มรีแพ็กเกจ The Most Beautiful Moment in Life: Young Forever ซึ่งทำอันดับสูงสุดบนชาร์ตอัลบั้มรายสัปดาห์ของ Gaon ซิงเกิ้ลหลักอย่าง Fire มีซาวด์ที่แตกต่างจาก K-Pop อย่างมีสไตล์ นายบังกล่าว “ทีมงานบางคนในสังกัดอยากที่จะทำเพลงที่ดึงดูดตลาดเกาหลีใต้ซึ่ง BTS ประสบความสำเร็จไปแล้ว ตัวผมไม่ได้เห็นด้วย ผมรู้สึกว่ามันถึงเวลาที่จะทดลองดูว่าเราจะสามารถประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่กว่าเดิมในต่างประเทศได้หรือไม่ เราจึงทำเพลง Fire ที่มีซาวด์เป็นอเมริกันมากกว่าเกาหลีออกมา และด้วยเพลงนี้เอง BTS จึงไปถึงตลาดอเมริกา”
อัลบั้มถัดมาของ BTS อย่าง Wings กลายเป็นอัลบั้มที่ขายดีที่สุดในเกาหลีใต้ในปี 2016 โดยทำอันดับสูงสุดบนชาร์ตอัลบั้มรายปีของ Gaon และทำอันดับสูงสุดที่อันดับ 26 บนชาร์ต Billboard 200 ในอเมริกา ซึ่งเป็นอันดับสูงสุดที่ศิลปิน K-Pop เคยทำได้ ณ ขณะนั้น20 นายบังตระหนักเลยว่าเขามีวงที่ดังระเบิดอยู่ในมือ “ตอนนั้นเองที่ผมพูดคุยกับสมาชิกและบอกกับพวกเขาว่า เป้าหมายของเราต้องไปไกลกว่าช่วงที่รุ่งเรืองที่สุดของศิลปินกลุ่มชายสัญชาติอังกฤษ-ไอริชผู้สร้างปรากฏการณ์อย่าง One Direction”
BTS เริ่มทัวร์คอนเสิร์ตในต่างประเทศเป็นครั้งที่สองเพื่อโปรโมตอัลบั้ม Wings ในปี 2017 โดยได้ทำการแสดง 40 รอบใน 12 ประเทศ BTS ปล่อยผลงานชิ้นแรกจากซีรี่ส์ Love Yourself อย่างมินิอัลบั้ม Love Yourself: Her และได้กลายเป็นอัลบั้มที่ขายดีที่สุดในเกาหลีใต้ในปีนั้น21 นอกจากนั้นในปี 2017 BTS ได้รับเกียรติคว้ารางวัล Top Social Artist จากงานประกาศรางวัล Billboard Music Awards ในอเมริกาอีกด้วย
ปี 2018 และ 2019: ความสำเร็จที่ไม่เคยมีมาก่อนและการเจรจาสัญญาใหม่
อัลบั้มถัดมาอย่าง Love Yourself: Tear ซึ่งเปิดตัวในเดือนพฤษภาคมปี 2018 กลายเป็นความสำเร็จทางการค้าที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันในเกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกา โดยเปิดตัวที่อันดับ 1 บนชาร์ต Billboard 200 ส่วนอัลบั้ม EP ต่อเนื่องอย่าง Love Yourself: Answer ก็ได้กลายเป็นอัลบั้มแรกที่จำหน่ายได้มากกว่า 2 ล้านก็อปปี้ในเกาหลีใต้ และคว้าอันดับ 1 บนชาร์ต Billboard อเมริกาเป็นครั้งที่สอง22
ในปีเดียวกันนั้น สัญญาของสมาชิก BTS ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเจรจาอีกครั้ง นายยุนชี้ “มีเรื่องราวความขัดแย้งมากมายที่เกิดขึ้นเมื่อศิลปิน K-Pop ขึ้นมาถึงจุดนั้น แต่เราต้องการที่จะแสดงให้เห็นว่าเราหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านั้นได้” นายบังยังกล่าวเสริมอีกว่า “เราพูดคุยกันว่าเราจะทำให้ความสำเร็จนี้ดำเนินต่อไปอีก 7 ปีได้หรือไม่ สมาชิกบอกกับเราว่า ‘เราจะให้เวลาพวกคุณอีก 7 ปี แต่พวกคุณก็ต้องให้การยอมรับอย่างที่พวกเราควรสมควรจะได้รับจากความสำเร็จที่พวกเราคว้ามาได้ และแสดงออกมาให้เห็นในสัญญา’” นายยุนหวนคิด “ไม่มีสักเหตุการณ์เดียวที่มีทนายหรือเจ้าหน้าที่ปรากฎตัวอยู่ด้วยและทุบโต๊ะระหว่างการหารือเหล่านี้ เราไม่ได้พูดคุยถึงเรื่องตัวเงินเท่าไหร่นัก สิ่งที่เราพูดคุยกันก็คือ ‘เราจำเป็นต้องมีสิ่งใดเพื่อนำเสนอให้กับแฟนๆ และกับผู้บริโภคของเรา’” นายบังชี้ “พอเรามานั่งเซ็นสัญญากันจริงๆ ก็มีเพียงแค่เราและสมาชิก” เขาอธิบาย “คนเกาหลีมักเลี่ยงที่จะนำที่ปรึกษาทางกฎหมายเข้ามาร่วมเจรจาระหว่างทำข้อตกลงกับคนที่พวกเขาสนิท อาจเป็นเพราะพวกเขาเชื่อว่ามันเป็นมารยาทที่ไม่ดี เราแนะนำให้สมาชิกคอยปรึกษาทนายหรือผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ อยู่ตลอด ผมเองก็ไม่รู้หรอกว่ามีการปรึกษาหารือประเภทนี้เกิดขึ้นจริงๆ ไหม” สมาชิก BTS ต่อสัญญากับ Big Hit ในเดือนตุลาคมปี 2018 ยืดอายุสัญญาไปอีก 7 ปี
BTS เริ่มทัวร์คอนเสิร์ตในต่างประเทศเป็นครั้งที่สาม BTS World Tour: Love Yourself ในเดือนสิงหาคมปี 2018 มีสถานที่จัดคอนเสิร์ตบางแห่งที่เป็นสเตเดียมที่ใหญ่ที่สุดในโลกรวมอยู่ด้วย นายยุนกล่าว “กระทั่งตอนที่ BTS ทำการแสดงในสถานที่จัดคอนเสิร์ตแค่ 2,500 ที่นั่ง เราก็พูดคุยกันแล้วว่าจะทำยังไงให้วันหนึ่งได้ไปแสดงที่สเตเดียม Wembley” (พวกเขาจำหน่ายบัตรคอนเสิร์ตจำนวน 90,000 ที่นั่งหมดลงภายใน 90 นาที23) ทัวร์คอนเสิร์ตจำนวน 62 รอบในระยะเวลากว่า 14 เดือน ดึงดูดผู้ชมกว่า 2 ล้านรายและทำรายได้เฉียด 200 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 201924 ในปีเดียวกันนั้นเอง BTS ปล่อยอัลบั้ม Map of the Soul: Persona ทำยอดขายได้มากกว่า 3 ล้านก็อปปี้ในเดือนแรกที่วางจำหน่าย และกลายเป็นอัลบั้มที่ขายดีที่สุดตลอดกาลในเกาหลีใต้25 ความสำเร็จครั้งนี้ทำให้แฟนมีทติ้งประจำปีครั้งที่ห้าของ BTS ยิ่งพิเศษไปกว่าเดิม ด้วยมหกรรมที่มีทั้งการแสดงสด, สวนสนุก และสวนอาหาร ซึ่งจัดขึ้นเป็นเวลา 4 วันในกรุงโซลและกรุงพูซาน
ในเดือนสิงหาคมปี 2019 Big Hit และ BTS แสดงจุดยืนที่ไม่ค่อยพบเห็นได้บ่อยนักในวงการ K-Pop พวกเขาเห็นพ้องต้องกันว่าตัวศิลปินสมควรได้หยุดพักจากการทำงานเป็นระยะเวลาหนึ่งเดือนเพื่อฟื้นฟูร่างกาย ก่อนที่จะปิดฉากเวิลด์ทัวร์คอนเสิร์ต Love Yourself “เรารู้สึกว่าเพิ่มวันหยุดให้พวกเขา 3 หรือ 4 วันมันไม่ได้ช่วยอะไร” นายบังกล่าว “ผมไม่คิดว่าระบบในวงการ K-Pop ที่ศิลปินปล่อยผลงาน 3 อัลบั้มต่อปี คือสิ่งที่ยั่งยืนทางกายและทางใจต่อตัวศิลปิน” ผู้บริหาร Big Hit รู้ดีว่าพวกเขากำลังเสี่ยงดวง นายยุนกล่าว “ทุกวันนี้ การที่ไอดอลจะไปพักผ่อน… เป็นอะไรที่ต้องเดิมพัน ต่อให้ไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับตัวศิลปิน แต่ก็มีความหวาดกลัวเกิดขึ้นจริงๆ ว่าแฟนๆ จะเลิกสนับสนุนไป”
ในตอนนั้น BTS ทำลายสถิติจำนวนมากบนแพลตฟอร์มดิจิตอล มิวสิกวิดีโอของพวกเขากลายเป็นไวรัลบนแพลตฟอร์มเผยแพร่วิดีโออย่าง YouTube (ดูข้อมูลประกอบที่ 9) คูมี-กยอง ผู้นำทีมจากแผนกการสื่อสารดิจิตอลจาก Big Hit แย้ง “YouTube กลายเป็นส่วนสำคัญที่สุดของเราในการโปรโมตทางดิจิตอล” คลิปวิดีโอออฟฟิเชียลมีแนวโน้มในการกระตุ้นให้เกิดคลิปวิดีโอที่หลากหลายโดยแฟนๆ ตามมา ตั้งแต่คลิปวิดีโอรีแอ็กชั่น ไปจนถึงคลิปเต้นคัฟเวอร์ แต่ Big Hit เองก็มีการโพสต์คอนเทนต์อื่นๆ ร่วมด้วย สิ่งหนึ่งที่มีมาแต่แรกเริ่มและแฟนๆ ชื่นชอบก็คือซีรี่ส์วิดีโอในรูปแบบสั้นๆ ที่เผยภาพ BTS แบบสบายๆ อย่าง Bangtan Bomb บังอูจอง หัวหน้าแผนกการสร้างสรรค์คอนเทนต์จาก Big Hit กล่าว “เรามีกล้องที่คอยติดตามศิลปินของเราอยู่ตลอดเวลา โดยที่พวกเขายินยอมและเข้าใจ เราเผยภาพสมาชิกระหว่างพวกเขาพักผ่อนและเล่นสนุกสนานกัน แต่ก็รวมถึงโมเมนต์ที่จริงจังในเบื้องหลังด้วย และยังมีการเผยให้เห็นถึงการมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างสมาชิก” แต่ละเอพิโสดจะถูกโพสต์ทุกๆ 2-3 วัน และเก็บเกี่ยวยอดเข้าชมนับล้าน “เราเป็นรายแรกที่ปล่อยฟุตเทจเบื้องหลังอย่างสม่ำเสมอขนาดนี้ ซึ่งเดี๋ยวนี้สังกัด K-Pop ส่วนใหญ่หันมาเลียนแบบแนวทางนี้เช่นกัน”
“YouTube มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการสร้างฐานแฟนคลับของ BTS” ชเวแจฮวา ประธานบริหารแผนกการตลาดจาก YouTube แห่งเกาหลีใต้ (จบการศึกษาจากสถาบันธุรกิจ มหาวิทยาลัยฮาร์วารด์ ประจำปีการศึกษา 2013) กล่าว “เราลงทุนในการผลิตสารคดี Burn The Stage ซึ่งเฝ้าติดตาม BTS ระหว่างเวิลด์ทัวร์คอนเสิร์ต Wings คลิปวิดีโอสารคดีดังกล่าวมีแฟนๆ นับล้านเข้าชมจากทั่วโลก” เธอกล่าวเสริม “ความสำเร็จของ BTS เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ โดยมาจากแฟนๆ โดยตรง ฉันได้ดูคลิปวิดีโอใน YouTube ที่แฟนๆ ชาวอเมริกัน ผู้ตื่นตัวต่อแนวเพลงป็อปเกาหลี บอกเล่าให้ฟังว่าพวกเขาพยายามโน้มน้าวสถานีวิทยุท้องถิ่นให้เปิดเพลงของ BTS ได้อย่างไร ด้วยการส่งเค้กและดอกไม้ถึงผู้จัดการสถานีวิทยุ แฟนๆ ชาวอเมริกันเหล่านี้มารู้จักศิลปินเกาหลีวงนี้ได้อย่างไร? มันแสดงให้เห็นเลยว่าคอนเทนต์ของเราเผยแพร่ไปทั่วโลก”
BTS สร้างรากฐานที่ยิ่งใหญ่ไปทั่วแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมากมายด้วยเช่นกัน ศิลปินที่มีสังกัดคอยดูแลอยู่นี้มักเผยคลิปวิดีโอสั้นๆ และเซลฟี่จากสมาชิก ควบคู่ไปกับประกาศเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ของวง สมาชิกของวงไม่ได้มีแอคเคาต์บนแพลตฟอร์มอย่าง Instagram หรือ Twitter เป็นของตัวเอง แต่พวกเขามีอิสระในการโพสต์บนโพรไฟล์ของแต่ละคนบนแพลตฟอร์ม Weverse ของ Big Hit นายบังกล่าว “บางครั้งสมาชิกก็จะมาขอคำปรึกษาว่าถ้าพวกเขาโพสต์สิ่งที่พวกเขาคิดเอาไว้ จะมีประเด็นอะไรตามมาหรือไม่ และเราก็ให้ความเห็นไปว่ามันมีความเสี่ยงที่จะลงคอนเทนต์นั้นๆ ไหม แต่เราจะไม่แทรกแซงการตัดสินใจของพวกเขา เราปล่อยให้พวกเขาดูแลแอคเคาต์ของพวกเขาเอาเอง”
BTS ในปี 2020
เมื่อถึงเดือนมีนาคมปี 2020 BTS ทำสถิติอีกครั้งผ่านผลงานอีกหนึ่งอัลบั้มอย่าง Map of the Soul: 7 สนับสนุนด้วยซิงเกิ้ลหลักอย่าง On ภายในเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์นับตั้งแต่ปล่อยอัลบั้มในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ Map of the Soul: 7 ก็ได้กลายเป็นอัลบั้มที่ขายดีที่สุดในประวัติศาสตร์เกาหลีใต้ โดยทำยอดขายได้มากกว่า 4 ล้านก็อปปี้ ส่วนในฝั่งอเมริกาก็ทำอันดับสูงสุดบนชาร์ต Billboard 200 ด้วยยอดขายรวมในสัปดาห์แรกมากกว่า 400,000 ก็อปปี้26 อัลบั้มวางจำหน่ายออกมาจำนวน 4 แพ็กเกจให้สะสม (ประกอบด้วยตัวอัลบั้ม, โฟโต้บุ๊ก, โฟโต้การ์ด, โปสเตอร์ และไอเท็มอื่นๆ) โดยเปิดตัวที่อันดับ 1 ในหลายประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย, แคนาดา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, ไอร์แลนด์, ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร แม้พวกเขาจำต้องเลื่อนเวิลด์ทัวร์คอนเสิร์ต Map of the Soul หลายแห่งในเอเชียออกไปเนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 แต่ก็ยังมีตารางทัวร์อันน่าสะพรึงที่กำลังใกล้เข้ามา ครอบคลุมสเตเดียมมากกว่า 30 แห่ง ในเกาหลีใต้, อเมริกา และยุโรป (ข้อมูลก่อนประกาศยกเลิกและเลื่อนการทัวร์บางแห่ง)
อำนาจทางเศรษฐกิจของ BTS เป็นสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ อ้างอิงจากรายงานการศึกษาฉบับหนึ่งที่ทรงอิทธิพล BTS มีส่วนสนับสนุนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของเกาหลีใต้ถึง 4.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าสายการบินแห่งชาติของเกาหลีใต้อย่าง Korean Air เป็นที่คาดการณ์ว่าผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจตลอด 10 ปีจาก BTS จะพุ่งสูงเกือบถึง 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าการแข่งขังกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว พย็องชัง ในปี 2018 รายงานเดียวกันนี้ยังคาดคะเนอีกว่า 1 ใน 13 ของชาวต่างชาติเฉียด 800,000 ราย เดินทางมาเยือนเกาหลีใต้ทุกๆ ปีเพราะ BTS27 ด้วยพลังความโด่งดังของ BTS นี้ Big Hit ได้ทำข้อตกลงในการโฆษณาสินค้าจำนวนมากกับ BTS ได้แก่ ผู้ผลิตยนตรกรรม Hyundai (รถยนต์รุ่น Palisade SUV หมดสต็อกเป็นเดือนๆ หลังจากปรากฏภาพ BTS กับรถยนต์รุ่นดังกล่าว), แบรนด์ชุดกีฬา FILA, แบรนด์ผู้ผลิตของสะสม Line Friends, แบรนด์เครื่องสำอางจากเกาหลีใต้ VT Cosmetics และ Mediheal และแบรนด์ผู้ผลิตของเล่น Mattel นอกนั้นพวกเขายังทำกิจกรรมส่งเสริมด้านมนุษยธรรมร่วมกับองค์การ UNICEF อีกด้วย28
BTS และ Big Hit จะรักษาความสำเร็จของพวกเขาเอาไว้ได้หรือไม่?
BTS
แม้ว่า BTS จะไปขึ้นไปถึงระดับที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนสำหรับศิลปิน K-Pop ก็ยังมีการตั้งคำถามเกิดขึ้นว่าพวกเขาจะรักษาความสำเร็จของตนไว้ได้หรือไม่ หนึ่งสาเหตุของความคลางแคลงใจนี้มาจากวัฎจักรตามปกติของศิลปิน K-Pop นายบังชี้ “ศิลปินกลุ่มส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จสูงสุดก่อนสัญญาจะครบ 7 ปี การที่ BTS สามารถรักษาและเพิ่มพูนความนิยมปีแล้วปีเล่ามาได้อย่างยาวนานจึงแทบจะเป็นปาฏิหารย์” แล้ว BTS จะไม่ใช่แค่ทำลาย แต่บดขยี้ ‘คำสาปเจ็ดปี’ ของวงการ K-Pop ให้เป็นผุยผงได้หรือไม่?
อีกหนึ่งสาเหตุที่น่ากังวลเป็นพิเศษ นั่นก็คือสมาชิก BTS จำเป็นต้องเข้ารับใช้ชาติตามหน้าที่ของพลเมืองชายชาวเกาหลีใต้เป็นเวลา 18 เดือนก่อนอายุ 28 สมาชิก Jung Kook (จองกุก) เป็นสมาชิกที่อายุน้อยที่สุด อายุ 22 ปี, ส่วน Jin (จิน) เป็นสมาชิกที่อายุมากที่สุด อายุ 27 ปี และ SUGA (ชูก้า) ผู้ที่เพิ่งอายุครบ 27 ปี ใกล้จะถึงช่วงอายุมากที่สุดที่สามารถเข้ารับใช้ชาติได้ หัวหน้าวง RM อายุ 25 ปี แฟนๆ จะเปิดรับการออกผลงานต่อไปด้วยจำนวนคนที่น้อยลงหรือไม่ หรือ Big Hit จะต้องหาหนทางที่สร้างสรรค์กว่านั้น?
ศิลปินรายอื่นของ Big Hit
ในขณะเดียวกันนั้น หนึ่งคำถามที่สร้างแรงกดดันให้กับ Big Hit ก็คือ ผู้บริหารของสังกัดจะหาหนทางสร้างความสำเร็จที่ท่วมท้นอย่างของ BTS ขึ้นอีกครั้งด้วยศิลปินวงอื่นได้หรือไม่ ในหกปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ BTS เข้าสู่ตลาดในปี 2013 สังกัดให้ความสำคัญกับศิลปินกลุ่มสุดดังระเบิดของตนโดยไม่ได้เดบิวต์ศิลปินใหม่อื่นๆ เลย (GFriend เข้ามาอยู่ในสังกัดผ่านการเข้าซื้อกิจการ Source Music และ TXT ก็เพิ่งมาเดบิวต์ในปี 2019) สิ่งเหล่านี้ถือเป็นกลยุทธ์ที่ผิดแผกในโลกแห่งวงการ K-Pop “ณ ตอนนั้น การกำหนดให้การปฏิบัติต่อศิลปินมีพื้นฐานอยู่บนความเชื่อมั่นในวัฏจักรของศิลปินเป็นสิ่งที่เป็นแนวทางปฏิบัติปกติในวงการ K-Pop หมายความว่าหากศิลปินเติบโตขึ้นถึงระดับหนึ่ง คุณก็จะเลิกลงทุนกับพวกเขา และหันเหทรัพยากรที่มีไปให้กับศิลปินรายอื่นหรือศิลปินฝึกหัด” นายบังอธิบาย “เรานึกว่า BTS ขึ้นสู่จุดสูงสุดของความนิยมในเกาหลีใต้แล้ว เราไตร่ตรองที่จะสับเปลี่ยนทรัพยากรของเราไปให้ศิลปินกลุ่มใหม่ แต่เรากลับรู้สึกว่า BTS ยังคงมีศักยภาพอยู่มาก เราจึงตัดสินใจที่จะผลักดันพวกเขาต่อไป และพบว่ามันเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้ว” กลยุทธ์ดังกล่าวดำเนินไปสู่ลู่ทางที่ถูกต้องหรือไม่ หรือสมควรแก่เวลาแล้วที่จะให้ความสำคัญกับศิลปินรายอื่นมากขึ้น?
ผู้บริหารของ Big Hit มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนในการเปิดตัวศิลปินกลุ่มสุดดังระเบิดวงถัดไป “ไม่นานมานี้เองที่เราเริ่มรู้สึกว่าเรามีสมการที่ถูกต้องและการวิธีการสื่อสารที่ถูกต้องอยู่ในมือ เรารู้ว่าหนทางที่ดีที่สุดในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับแฟนๆ และสร้างฐานแฟนคลับจะต้องทำอย่างไร” นายยุนกล่าว “เรานำสมการนั้นมาปรับใช้กับ TXT และกับศิลปินรายอื่นที่เราอาจต้องการที่จะเดบิวต์ได้” ผู้บริหารของ Big Hit ค้นพบสมการความสำเร็จแล้วจริงๆ หรือไม่ และพวกเขาจะสามารถใช้สมการนั้นเพื่อปั้นศิลปินรายอื่นในแฟ้มผลงานของสังกัดได้หรือไม่? และการที่สังกัดค่ายเพลงจะนำสมการมาจัดการความสัมพันธ์กับผู้มีความสามารถที่พวกเขามีนั้นมีนัยสำคัญอย่างไร?
นายบังกล่าว “ผมเชื่อว่าอนาคตของ K-Pop สดใสมากๆ ครับ” ระหว่างกดปิดหน้าบทความที่ยกย่องความสำเร็จครั้งล่าสุดของ BTS ในการทำอันดับสูงสุดบนชาร์ต และทำงานต่อ
ที่มา | (1)
แปลจากอังกฤษเป็นไทยโดย CANDYCLOVER
ทาง CANDYCLOVER มีความยินดีหากผู้อ่านเล็งเห็นประโยชน์ของคอนเทนต์นี้ และต้องการนำไปประกอบเอกสารหรือสื่อทางการศึกษา เผยแพร่ต่อบนโซเชียลมีเดีย รวมถึงนำไปผลิตของที่ระลึก เช่น Giveaway สำหรับแจกฟรี มิใช่การจัดจำหน่าย
หากต้องการนำข้อมูลไปใช้อ้างอิง กรุณาติดต่อทางอีเมลล์ bts.candyclover@gmail.com และรอการตอบกลับที่ระบุว่าอนุญาตแล้วเท่านั้น ยกเว้นกรณีการนำข้อมูลที่ “แปล เรียบเรียง หรือจัดทำโดย CANDYCLOVER” ไปรีโพสต์ ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ รีโพสต์บนแฟนเพจ เว็บไซต์ หรือเว็บบอร์ด ที่มิใช่แพลตฟอร์มของ CANDYCLOVER พร้อมใส่เครดิตเองโดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงนำไปเป็นคอนเทนต์ทางสื่อโทรทัศน์ หรือกระทำการใด ๆ ก็ตามที่เข้าข่ายแอบอ้างผลงาน หากพบเห็นจะดำเนินคดีทางกฎหมายให้ถึงที่สุด
หากท่านชื่นชอบคอนเทนต์ที่ CANDYCLOVER นำเสนอ สามารถให้การสนับสนุนพวกเราได้ง่าย ๆ เพียง 1.) ไม่สนับสนุนแอคเคาต์ที่แอบอ้างข้อมูลที่แปลโดย CANDYCLOVER 2.) รีพอร์ตแอคเคาต์ดังกล่าวผ่านระบบของแพลตฟอร์มที่ท่านพบเห็นโพสต์ที่เข้าข่าย โดยเลือกหัวข้อ “ละเมิดลิขสิทธิ์” 3.) สนับสนุนค่ากาแฟทาง Ko-fi หรือ Patreon