ศิลปะสำหรับ RM คือ โชคดีที่ได้ค้นพบ มากกว่าประสบโดยบังเอิญ
RM ศิลปินบอยแบนด์ดาวรุ่ง โอบรับบทบาทใหม่: ผู้อุปถัมภ์งานศิลปะ | บทความแปลจาก The New York Times
หัวหน้าวง BTS ผู้นี้ ให้การสนับสนุนเหล่าศิลปินที่ได้รับการยอมรับ ผู้มีสัญชาติเดียวกับเขา อีกทั้งยังศึกษา ซื้อหา และพูดคุยกับผลงานเหล่านั้นเป็นครั้งคราว “ผมรู้สึกได้ว่าพวกเขาจับจ้องมองอยู่” เขากล่าวเช่นนั้น
“ที่นี่คือโลกยูโทเปีย”
รายงานจากกรุงโซล — RM หัวหน้าวงดนตรีป็อบสัญชาติเกาหลี BTS เยือนสถานี Grand Central Terminal ใน นครแมนฮัตตัน ครั้งแรกเพื่อทำการแสดงในรายการ “Tonight Show” ของ Jimmy Fallon เมื่อต้นปี 2020 ก่อนการล็อกดาวน์ เมมเบอร์ทั้งเจ็ดจากวง BTS นำเสนอการแสดงซิงเกิล “ON” สุดครึกโครมกลางดึกในห้องโถงว่าง ๆ กลางสถานีร่วมกับทีมเต้นกลุ่มใหญ่
ปลายปีที่แล้ว RM กลับไปในฐานะคนทั่วไป “มันให้ความรู้สึกแปลกจริงๆครับ กับการอยู่ใน Grand Central ครั้งที่สองร่วมกับผู้คนมากมาย” เขาเล่าให้ผมฟังในบ่ายวันหนึ่ง ณ สำนักงานใหญ่ ของ Hybe กรุงโซล บริษัทบันเทิงผู้อยู่เบื้องหลังวงบอยแบนด์ ครั้งนี้เขาเล่าให้ฟังว่า “ผมไปกับเพื่อน ๆ ในฐานะนักท่องเที่ยวคนหนึ่งซึ่งต้องซื้อตั๋ว” พวกเขาขึ้นรถไฟ Metro-North มุ่งหน้าสู่ Dia Beacon สถานที่สุดงดงามด้านศิลปะแนวมินิมอลในหุบเขาฮัดสัน เขากล่าวว่า “ที่นี่คือโลกยูโทเปีย” ที่นั่นมีห้องจัดแสดงห้องหนึ่งอุทิศแด่ศิลปินคนโปรดของเขา อง คาวาระ (On Kawara) ผู้ใช้เวลาสร้างสรรค์ผลงานสีเข้มสุดเรียบง่ายที่บันทึกวันที่ที่สร้างสรรค์ผลงานชิ้นนั้นขึ้นด้วยข้อความสีขาว
Dia คือสถานที่ที่ RM ในวัย 27 มาแวะชมล่าสุดระหว่างเดินทางชมงานศิลป์ที่ครอบคลุมหลายประเภท ตลอดไม่กี่ปีที่ผ่านมาที่เขาสะสมผลงานและยังมีความคิดจะเปิดพื้นที่จัดแสดงงานศิลป์
แฟน ๆ ผู้กระตือรือร้นของ BTS (อาร์มี่) ตามไปเยือนสถานที่ต่าง ๆ ที่ RM ไป อาศัยโพสต์ของ RM บนโซเชียลมีเดียและรายงานข่าวต่าง ๆ ซึ่งช่วยกระตุ้นให้มีผู้ชมไปตามที่ที่เขาไปเยือนมามากยิ่งขึ้น ผู้ซื้อขายงานศิลป์อาวุโส พัคกย็องมี ให้เครดิตนักร้องและแรปเปอร์ผู้นี้ที่ทำให้งานศิลปะเข้าถึงสาธารณชนง่ายขึ้น “เขากำลังขจัดสิ่งกั้นขวางบางประการระหว่างสถาบันศิลป์—พิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี—และคนรุ่นใหม่” เธอให้สัมภาษณ์ในแกลเลอรีของเธอ, PKM ณ กรุงโซล
“เรามีความยินดีอย่างยิ่งที่ RM ผู้ทรงอิทธิพลไปทั่วโลกเป็นผู้มีใจให้งานศิลปะ ”
RM ยังโอบรับบทบาทการเป็นผู้สนับสนุนงานศิลป์ โดยเป็นผู้ให้ยืมประติมากรรมดินเหนียวรูปม้าของศิลปินชาวเกาหลี ควอนจินกยู แก่พิพิธภัณฑ์ศิลปะกรุงโซล เพื่อการจัดแสดงผลงานทั้งหมดของศิลปินท่านนี้จนถึงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และในปี 2020 เขาก็ได้บริจาคทุนทรัพย์จำนวน 100 ล้านวอน (ราว $84,000 ในเวลานั้น) แก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติศิลปะสมัยใหม่และศิลปะร่วมสมัย (MMCA) เพื่อจัดพิมพ์หนังสือศิลปะที่ขาดตลาดขึ้นมาใหม่และกระจายไปตามห้องสมุดต่างๆ สภาศิลปะเกาหลีสังกัดภายใต้รัฐบาล จึงแต่งตั้งให้เขาเป็นผู้สนับสนุนงานศิลป์แห่งปี “เรามีความยินดีอย่างยิ่งที่ RM ผู้ทรงอิทธิพลไปทั่วโลกเป็นผู้มีใจให้งานศิลปะ” ยุนบอมโม ผู้อำนวยการ MMCA กล่าวผ่านอีเมล์
อิทธิพลระดับโลกดังกล่าวแทบจะเทียบเท่าเอาได้ยาก ช่อง YouTube ของ BTS มีผู้ติดตามมากกว่า 70 ล้านคน Instagram ของ RM เพียงคนเดียวมีผู้ติดตาม 37 ล้านคน (MMCA มี 200,000)
VLOG 35 นาทีที่เขาบันทึกภาพการเยือนเทศกาล Art Basel ในสวิสเซอร์แลนด์ ฤดูร้อนที่ผ่านมา มียอดเข้าชมเกือบ 6 ล้านครั้ง สำหรับโลกอันโดดเดี่ยวและเข้าถึงยาก เขาอาจเป็นนักการทูตในฝันเลยก็ว่าได้
“โชคดีที่ได้ค้นพบ มากกว่าประสบโดยบังเอิญ”
น่าประทับใจที่ความหลงใหลในทัศนศิลป์ของ RM หรือชื่อจริงคือ คิมนัมจุน (ผู้ใช้สเตจเนม RM อย่างเป็นทางการในปี 2017 แทนชื่อเล่น Rap Monster) เกิดขึ้นผ่าน “โชคดีที่ได้ค้นพบ มากกว่าประสบโดยบังเอิญ” เขาเติบโตใกล้กรุงโซล พ่อแม่ของเขา “เคยพาผมไปพิพิธภัณฑ์ แต่ผมก็ไม่คิดว่าตัวเองจะชอบขนาดนั้น”
ระหว่างที่เขานั่งพักอยู่ในโรงแรมตอนทัวร์คอนเสิร์ตปี 2018 และกำลังตัดสินใจว่าจะทำอะไรดีในช่วงพักจากการทัวร์ เขาตัดสินใจไปผจญภัยในสถาบันศิลปะแห่งชิคาโก จิตรกรรมของ เซอรา (Seurat) และ โมเนต์ (Monet) สร้างความประทับใจให้กับเขา “ราวกับมีอาการของโรคตื่นศิลปะ (สเตนดาห์ลซินโดรม)” ซึ่งสื่อถึงสภาวะที่งานศิลปะกระตุ้นอาการทางร่างกายแก่ผู้เสพ เช่น อาการวิงเวียนศีรษะหรือหัวใจเต้นเร็ว อาการตื่นตะลึงที่ได้พบเห็นผลงานที่เคยรู้จักจากผลงานจำลองด้วยตาของตัวเอง “มันแบบ ว้าว ผมกำลังมองดูงานศิลป์พวกนี้อยู่ ซึ่งมันเป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมมากครับ”
เมื่อไหร่ที่วกกลับเข้าเรื่องศิลปะ RM ผู้เปี่ยมพลังอยู่แล้วก็ตื่นเต้นขึ้นเป็นพิเศษ แม้จะนั่งอยู่กับล่าม แต่เขามักสลับมาพูดภาษาอังกฤษเสียเอง (เขาพูดได้คล่องแคล่วมาก โดยเคยเล่าว่าเรียนรู้มาจากการดูซีรีส์ “Friends”) “ผมหยุดเรียนไปตอนอายุ 17 ปี เพราะวง BTS นี่แล่ะครับ เพราะการที่ผมเป็นศิลปินฝึกหัด” เขาแจกแจงกิจวัตรทั้งหมดที่เกี่ยวข้องให้ฟัง “แต่หลังจากนั้น 10 ปี ผมก็พบกับศิลปะและเริ่มอ่านหนังสืออีกครั้งอย่างตั้งอกตั้งใจ” เขาเป็นคนมีเสน่ห์และเรียนรู้ไว้ คุณสามารถจินตนาการเขาเป็นนักการเมืองผู้มีประสิทธิภาพหรือศาสตราจารย์ที่แปลกนิด ๆ ผู้เป็นที่รักได้เลยทีเดียว
นับจากวัยเด็ก RM เคยสะสมแสตมป์, เหรียญ, การ์ดโปเกมอน, หินหายาก (“ไม่ใช่หินราคาแพง”) และต่อมาก็ฟิกเกอร์ หุ่น “Companion” ขนาดใหญ่ของ KAWS ตั้งอยู่ในสตูดิโอของเขาที่เต็มไปด้วยงานศิลป์ แต่งานศิลป์ส่วนใหญ่ของเขามีอายุมากกว่าหุ่นชิ้นนี้ โต๊ะของ จอร์จ นากาชิม่า (George Nakashima) ครองสเตชั่นวางคอมพิวเตอร์สำหรับทำงาน โดยมีภาพเขียนแนวแอปสเตร็กต์ชิ้นสำรองสุดเฉียบโดย ยุนฮยองกึน เพียงสามชิ้นแขวนอยู่ด้านบน ส่วนผนังอีกฝั่งหนึ่งมีผลงานศิลป์กว่า 20 ชิ้นแขวนอยู่ หลายชิ้นมาจากศิลปินคนสำคัญชาวเกาหลีจากศตวรรษที่ 20 อย่าง พัคซูกึน ชังอุกจิน และแพ็กนัมจุน
“ผมรู้สึกราวกับพวกเขาจับจ้องมองอยู่”
การทัวร์ต่างแดนตอกย้ำ RM ว่า “รากเหง้าของผมอยู่ในเกาหลี” เขาเน้นสะสมผลงานของศิลปินบ้านเกิด โดยเฉพาะคนรุ่นที่มีชีวิตผ่านสมครามเกาหลีและเผด็จการทหาร รวมถึงวิกฤตการณ์เศรษฐกิจครั้งใหญ่ ศิลปินเหล่านี้ยังเป็นที่รู้จักน้อยเกินไปนอกประเทศของเขา (ผู้ซื้อขายงานศิลป์บอกให้เราทราบว่า ไอดอลรายอื่นๆให้ความสำคัญกับศิลปินเบอร์ใหญ่ที่เป็นที่รู้จักมากกว่า) “ผมรู้สึกได้ถึงหยาดเหงื่อและเลือดเนื้อของพวกเขา” RM กล่าว เชื่อมโยงกับพวกเขาในฐานะ “มนุษย์ผู้เพียรพยามเสนอศิลปะของตน บนโลกใบนี้”
ผู้คนให้การยอมรับหัวหน้าวง BTS ผู้นี้ว่ามีความเป็นผู้ใหญ่กว่าอายุ เมื่อให้นิยามรสนิยมของตัวเอง เขากล่าวว่า “ความเป็นอมตะ” ดึงดูดเขาเข้าหางานศิลป์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เข้ามาเพราะ “บรรยากาศอันรวดเร็ววุ่นวายในอุตสาหกรรม K-pop นี่เอง” เขามีความสนใจในงานศิลป์ในอดีต แต่ก็พยายามศึกษางานศิลป์ใหม่ ๆ เช่นกัน (งานเพลงเดี่ยวของเขา นั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิง คือมีลักษณะเป็นปัจจุบันอย่างเข้มข้นจนเข้าขั้นเป็นงานเชิงทดลอง) เขาโพสต์รูปการแสดงฤดูร้อนที่พื้นที่จัดแสดงไม่ระบุสถานที่ ดูแลโดยเจ้าของแกลเลอรีหน้าใหม่ โนดูยง คนเข้าใจว่า RM ซื้อชิ้นงานที่เขาถ่ายลงโซเชียล แต่อันที่จริงแล้วเป็นเรื่องเข้าใจผิด ถึงอย่างนั้นก็ตาม โพสต์ของ RM ก็เรียกแขกได้แม้เจ้าตัวไม่ระบุชื่อสถานที่ และอาร์มี่ผู้ตั้งอกตั้งใจก็พบ Cylinder หรือสถานที่จัดแสดงของโนเข้า คุณโนกล่าว “พวกเขารู้เรื่องนี้ได้ยังไงกันครับ?”
© Dasom Han for The New York Times
เมื่อถูกรายล้อมด้วยงานของผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งล่วงลับไปแล้ว “ผมรู้สึกราวกับพวกเขาจับจ้องมองอยู่” RM กล่าว “ผมรู้สึกมีแรงบันดาลใจ ผมอยากเป็นคนที่ดีกว่านี้ เป็นผู้ใหญ่ที่ดียิ่งขึ้น เพราะบรรยากาศที่ได้จากงานศิลป์ซึ่งจัดแสดงอยู่นี่เอง” เขาเล่าต่อว่าเมื่อรู้สึกเหนื่อยหรือท้อ “บางครั้งผมก็จะไปยืนตรงนั้น และพูดคุยกับพวกเขา” เป็นต้นว่าไปยืนต่อหน้าภาพเขียนชิ้นสำรองของ ยุนฮยองกึน และเอ่ยถาม “คุณยุนครับ, ทุกอย่างจะเรียบร้อยดีใช่ไหม?”
RM กำลังไตร่ตรองเกี่ยวกับอนาคตของเขา การบังคับเกณฑ์ทหารกำลังใกล้เข้ามา (สมาชิกวงกำลังใช้เวลากับโปรเจ็คเดี่ยวกันในเวลานี้ แม้ทางค่ายของพวกเขาจะเน้นย้ำว่า BTS ไม่ได้พักงานชั่วคราว) สองเดือนก่อนหน้า RM พูดกับ Marc Spiegler ผู้อำนวยการภาคโกลบอลของ Art Basel ผ่านพอร์ดแคสต์ของงานว่าเขาจะเปิดพื้นที่จัดแสดงศิลปะบางอย่าง “ผมต้องการให้มันเงียบสงบจริง ๆ แต่ก็ยังต้องเท่อย่าง Axel” เขากล่าวถึงดีไซน์เนอร์ชาวเบลเยี่ยม ผู้สะสมโบราณวัตถุ และเจ้าของแกลเลอรี Axel Vervoordt (ดีไซน์เนอร์คนโปรดของ Kanye West หนึ่งในแรงบัลดาลใจด้านดนตรีของ RM เช่นกัน)
พื้นที่จัดแสดงที่ RM คิดไว้ยังเป็นเรื่องของอนาคต แต่เขาก็จินตนาการไว้ว่าจะให้มีคาเฟ่ชั้นล่าง และพื้นที่จัดแสดงด้านบนที่นำเสนอผลงานของศิลปินเกาหลีและนานาชาติ ในรูปแบบที่น่าสนใจสำหรับคนรุ่นใหม่ “ผมคิดว่ามีบางอย่างที่ผมในฐานะคนนอกแวดวงศิลปะสามารถมอบให้ได้”
สิ่งที่เรียกว่าแฟน
เขาอาจอ้างว่าตัวเองเป็นคนนอกได้เพียงชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น ไม่นานมานี้เขาเพิ่งได้ผลงานทรงกระบอกสีขาวขุ่นกึ่งโปร่งแสงที่หล่อขึ้นจากแก้วโดย Roni Horn เข้ามาเพิ่มคอลเล็กชันของตัวเอง และกำลังเป็นที่รู้จักในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะ คุณพัค ผู้ซื้อขายงานศิลป์จากกรุงโซลผู้เป็นที่ยอมรับเล่าว่า RM ค้นพบหนังสือเกี่ยวกับ ยุนฮยองกึน ที่แกลเลอรีของเธอไม่ได้เก็บไว้ (เธอคือผู้แทนทรัพย์สินของคุณยุน และเป็นอาร์มี่มา 2-3 ปี ก่อนที่จะได้พบ RM “ฉันศึกษาเรื่องพวกเขาจาก Youtube ค่ะ” เธอกล่าว “มันมีคอนเทนท์เยอะมากเลยนะคะ ต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะเชี่ยวชาญได้”)
ยุน มีชีวิตที่ขมขื่น ตามที่ RM เล่าให้ผมฟัง ถูกคุมขังถึงสี่ครั้งเพราะประเด็นทางการเมือง ครั้งหนึ่งเขาหลบหนีการประหารชีวิตได้อย่างหวุดหวิด พอถึงวัย 40 เขาเริ่มสร้างสรรค์จริยศิลป์ โดยการสาดฝีแปรงฉาดใหญ่ด้วยสีน้ำตาลอมแดงและฟ้าจาง ๆ เหมือนน้ำหมึกลงบนผืนผ้าลินินหรือผืนผ้าใบ “นี่คือการผสมผสานชนิดที่สมบูรณ์แบบระหว่างความเป็นตะวันตกและตะวันออก หรือ สไตล์เอเชีย หรือเกาหลี จริง ๆ ครับ”
เขาโปรดปรานผลงานของศิลปินท่านนี้ยุคใดเป็นพิเศษหรือไม่
“ผมเริ่มชอบภาพวาดของเขาจากทศวรรษ 1970 แต่ตอนนี้กลับอินเรื่องเขา โลกของเขา และชิ้นงานของเขามากๆ ซึ่งผมรักทุกอย่างเลย ไม่เอนเอียงไปที่ผลงานใดเป็นพิเศษอีกต่อไป” RM ตอบ “นั่นคือสิ่งที่เราเรียกว่าแฟนยังไงล่ะครับ”
.
ที่มา | The New York Times [RM, Boy Band Superstar, Embraces New Role: Art Patron] by Andrew Russeth
.