ภาวะหมดไฟ

BTS กับตัวตนที่ถูกบดขยี้หลังประสบความสำเร็จ

โครงสร้างของอุตสาหกรรม K-Pop ที่บีบบังคับให้แข่งขันและสร้างผลงาน

คนเราจะเติบโตขึ้นได้อย่างไร ถ้าไม่ได้รับอนุญาตให้มีแม้แต่ช่องว่างให้เผชิญ ภาวะหมดไฟ

เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ที่ผ่านมา BTS เกริ่นถึงการเปลี่ยนแปลงสำคัญในการทำกิจกรรมของวง ผ่านคลิปวิดีโอที่ปล่อยในชาแนลออฟฟิเชียลทาง YouTube เนื้อหาโดยสรุปคือ หลังจากที่ BTS ได้มุ่งทำกิจกรรมของวงมาจนถึงปัจจุบัน จากนี้ไปพวกเขาจะเริ่มทำกิจกรรมเดี่ยว อีกทั้งต้องการเวลาพักผ่อนและเติมพลัง ทันทีที่ปล่อยคลิปวิดีโอดังกล่าวออกมานั้น ก็เกิดความโกลาหลไปด้วยหัวข้อที่ปลุกปั่น เช่น ‘การแยกวง’ ‘การยุติกิจกรรม’ ฯลฯ แต่ก็อย่างที่พวกเขาได้ระบุอย่างชัดเจนในคลิปวิดีโอว่าพวกเขาไม่ได้แยกวง แต่ให้ถือเสียว่าเป็นสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป หนึ่งในสาเหตุที่ BTS เลือกการเปลี่ยนแปลงนั้นมาจาก ภาวะหมดไฟ หรือ Burnout Syndrome ที่ไม่อาจหลบเลี่ยงได้ในโครงสร้างอุตสาหกรรม K-Pop ณ ปัจจุบัน คำว่า เบิร์นเอาต์ มีความหมายตามพจนานุกรมว่า พลังหมด, ผลาญไปจนหมด, คุกรุ่นจนเกิดความเสียหาย และภาวะหมดไฟก็หมายถึง อาการเซื่องซึมระหว่างที่รู้สึกว่าร่างกายและจิตใจเหนื่อยล้าสุดขีด หลังจากหมกมุ่นกับงานมากเกินไป ในปี 2019 องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดกลุ่ม ภาวะหมดไฟ ว่าเป็นภาวะความผิดปกติที่เกิดจากการทำงาน (Occupational Phenomenon) ซึ่งตลอดระยะเวลาไม่กี่ปีมานี้ ก็มีหนังสือเกี่ยวกับภาวะหมดไฟถูกตีพิมพ์ออกมาอย่างต่อเนื่อง เกาหลีเองก็มีสภาพแวดล้อมที่จะทำให้ตกอยู่ในภาวะหมดไฟได้ง่าย เพราะเป็นประเทศที่มุ่งเน้นความอุตสาหะ และ ‘สมรรถนะทางจิตใจ’ อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับมาตรฐานที่ถูกกำหนดไว้ มากกว่าคุณลักษณะเฉพาะของปัจเจกบุคคล กับการทำงานให้หนัก เมื่อผสานลักษณะเฉพาะของเกาหลีเหล่านี้เข้ากับระบบตามแนวคิดเสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism) แล้ว อุตสาหกรรม K-Pop จึงเป็นโรงละครที่ปะทุแสงสีตระการตา ในวันนี้ เราจะมาพิจารณากันว่า การพรรณนาถึง ‘การเติบโต’ ว่าเป็นคุณงามความดีนั้นถูกต้อนให้กลายเป็น ‘การขูดรีดตัวเอง’ และการเผาผลาญจนมอดไหม้ได้อย่างไร

มันคือคำพูดเดียวกับที่ RM ลีดเดอร์จากวง BTS เอ่ยถึงต่อมาในวิดีโอที่กล่าวไปข้างต้น “ทั้งตัววงการ K-Pop และระบบการเป็นไอดอลมันไม่ปล่อยให้คนเราได้เติบโต เราต้องถ่ายทำ และทำอะไรสักอย่างอยู่ตลอด จนไม่มีเวลาให้ตัวเองได้เติบโต” เมื่อดูกันแค่ผิวเผินก็หมายความว่า พวกเขาเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานมากเกินไป แต่เมื่อมองเชื่อมโยงเข้ากับอุตสาหกรรม K-Pop โดยองค์รวม ก็จะเห็นถึงแง่มุมที่ขัดแย้งกันปรากฏอยู่อย่างชัดเจน ประโยคที่กล่าวว่า ไม่ปล่อยให้คนเรา ‘ได้เติบโต’ นั้นหมายความว่า ไม่ได้รับเวลาในการเติบโตและฟื้นฟูตัวเอง นั่นก็เพราะ ‘แรงงาน K-Pop ที่ต้องถ่ายทำอะไรสักอย่างอยู่ตลอด’ ขายความเพ้อฝันอันทำให้หัวใจพองโตที่เรียกว่า ‘การเติบโต’ BTS เดบิวต์มาจากสังกัด Big Hit Entertainment (ปัจจุบันคือ HYBE) ที่เคยเป็นสังกัดขนาดเล็ก-กลางเมื่อปี 2013 และไม่ได้ดังพลุแตกมาตั้งแต่แรก แต่พวกเขาก็ตบเท้าสู่บันไดแห่งความนิยมอย่างค่อยเป็นค่อยมาจนมาถึงปัจจุบัน ภูมิหลังเหล่านี้ทำให้ความสำเร็จของ BTS ยิ่งฟังดูดราม่า พวกเขาให้ความสำคัญกับความทะเยอทะยานและความอุตสาหะ การเติบโตขึ้นเพราะสิ่งเหล่านี้จึงเป็นที่มาของความสำเร็จ ถ้าพูดในเชิงเกาหลีหน่อย ก็คือคำว่า ‘ความดุเดือด (독기)’ นั่นเอง

อุตสาหกรรม K-Pop ชื่นชมและขยันขายความดุเดือดกับพัฒนาการที่มาจากความดุเดือด ทุก ๆ รายการออดิชั่นมักมี ‘คาแร็กเตอร์ที่บกพร่องในช่วงแรก แต่เติบโตขึ้นผ่านความอุตสาหะ’ ที่กลายเป็นเมมเบอร์ยอดนิยม จนได้เดบิวต์อยู่ไม่เคยขาด อีกทั้งการเติบโตยังเป็นเครื่องพิสูจน์ความรักและความจริงใจที่ไอดอลมีต่อแฟน ๆ ไอดอลแทบทุกรายให้คำมั่นว่าพวกเขา ‘จะตั้งใจทำงานยิ่งขึ้น’, ‘จะแสดงภาพลักษณ์ที่เติบโตยิ่งขึ้น’, ‘จะเป็น XXX ที่มีพัฒนาการยิ่งขึ้น’ ในสองพยางค์ของคำว่าการ ‘เติบโต’ จึงบรรจุอะไรเอาไว้มากมาย ความนิยมที่เพิ่มมาก ‘ยิ่งขึ้น’, ยอดขายอัลบั้มที่เพิ่มมาก ‘ยิ่งขึ้น’, หุ่นที่เพรียวบาง ‘ลง’, ใบหน้าที่ดูเด็ก ‘ลง’, การเต้นและร้องที่ช่ำชอง ‘ยิ่งขึ้น’, ปริมาณการฝึกซ้อมที่เพิ่มมาก ‘ยิ่งขึ้น’, การสื่อสารกับแฟน ๆ ให้บ่อย ‘ยิ่งขึ้น’… ห้ามพึงพอใจและหยุดอยู่กับปัจจุบัน และห้ามฝีมือตกลงจากแต่ก่อน ปณิธานต่อการเติบโตไม่ใช่สิ่งที่ใครสั่งให้ทำ จริงอยู่ที่สังกัดต่างก็บีบบังคับและมีคำสั่งต่อไอดอลในสังกัด แต่ไอดอลเหล่านี้ก็สมัครใจทำ เพราะมันทำให้พวกเขาเป็นที่รัก เพราะมันเป็นเส้นทางก้าวไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า

ฮันบย็องชอล วิเคราะห์ในหนังสือ ‘สังคมที่เหนื่อยล้า (2012)’ เอาไว้ว่า หากสังคมแห่งระเบียบวินัยสนับสนุนแนวคิดที่ว่า “ห้ามทำอะไร” และ “ต้องทำอะไร” ไปจนถึงศตวรรษที่ 20 หลังจากศตวรรษที่ 21 เป็นต้นไป สังคมแห่งการสร้างผลงานก็จะสนับสนุนแนวคิดที่ว่า ‘ไม่ว่าอะไรคุณก็ทำได้’ ความเกินพอดีของด้านบวกที่ว่า ทุก ๆ อย่างเป็นไปได้นั้นหอมหวาน ปัจเจกชนสามารถวิ่งไปสู่ที่โล่งแจ้งที่เรียกว่าความสมัครใจและอิสรภาพโดยไม่มีขีดจำกัด ท้ายที่สุดแล้ว ความเชื่อที่ว่า ‘จะทำได้ถ้าตั้งใจทำ’ จึงนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า ‘สาเหตุที่ฉันทำไม่ได้ก็เพราะฉันไม่ได้ตั้งใจที่จะทำ’ เหมือนสำนึกที่ว่า ‘แค่ลงมือทำก็พอ’ ในยุคเผด็จการทางทหาร การไม่ทำทั้ง ๆ ที่ทำได้กลายเป็นสิ่งที่ผิดบาป แนวคิดเสรีนิยมใหม่ที่เน้นย้ำความสมัครใจและความเป็นไปได้ จึงผลักต้นตอและวิธีแก้ปัญหาให้เป็นภาระของปัจเจก และเน้นย้ำการรับผิดชอบตัวเองต่อผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น รูปแบบที่คุ้นเคยกันดีก็เห็นจะเป็น “ขี้เกียจถึงได้จน” “ไม่รู้จักดูแลตัวเองถึงได้อ้วน” คำกล่าวที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังเหล่านี้ ขาดการพิจารณาเชิงโครงสร้างในเรื่องของความยากจน กับความเข้าใจเกี่ยวกับความอ้วนในเชิงสังคม-พันธุกรรม และเป็นกรณีตัวอย่างของการพัฒนาตนเองกับวาทกรรมการเติบโตที่รังแต่จะทำให้คนโทษตัวเอง สิ่งที่ไม่เปลี่ยนไปจากกรอบนี้ที่มีเป้าหมายเป็นการเติบโตคือ ความขี้เกียจ ความไม่ขยันหมั่นเพียร ไม่เอาการเอางาน ทำตัวน่าสมเพช และการปล่อยปละละเลยตัวเองที่สามารถเป็นคนที่ดีกว่าได้ K-Pop คือโลกที่จะขับไล่ไอดอลที่มีฝีมือตกต่ำลงและมีรูปลักษณ์ภายนอกเปลี่ยนแปลงไป หรือกล่าวคือ ‘ดูถดถอยลง’ ออกไปทันที และยังเรียกร้องเอาแต่ของใหม่เหมือนการปล่อยสินค้ารุ่นใหม่ ไอดอลจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเติบโตให้ได้มากยิ่งขึ้น แฮมเลต บทละครของเช็กสเปียร์ส ส่งเสียงเรียกร้องไว้ว่า “จะอยู่หรือจะตาย นั่นแหละคือปัญหา” ในปี 2022 ไอดอล K-Pop จึงส่งเรียกร้องออกมาว่า “จะอยู่หรือจะตาย คำตอบได้ถูกกำหนดเอาไว้แล้ว” ต่อให้อดหลับอดนอนและไม่มีอาหารตกถึงท้อง ก็ห้ามหยุดซ้อมเพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า ถ้าไม่สามารถแสดงภาพลักษณ์ที่สดใหม่และดียิ่งกว่าเก่าออกมาได้ ก็จะโดนประณามว่าไม่อยากหาเงินหรือสูญเสียความตั้งใจเดิมไปแล้ว ดังนั้นถ้าพวกเขาไม่อ่อนเพลียก็คงจะประหลาดน่าดู

ความปรารถนาภายในของตัวเองที่ต้องพัฒนายิ่งขึ้น มีพลังรุนแรงและยากที่จะต้านทานเสียยิ่งกว่าแรงบีบคั้นจากภายนอก ปลาปักเป้าไม่ได้ตายเพราะพิษของตัวเอง ทว่า พิษที่ถูกเตรียมการไว้ในจิตใจของมนุษย์อย่างเต็มเปี่ยมต่างหาก ที่ผลักดันตัวเราเพื่อเติบโตและกัดกร่อนตัวเราอย่างช้า ๆ ถึงแม้ผู้เขียนจะยกไอดอลมาเป็นตัวอย่าง แต่ใคร ๆ ต่างก็ลำบากที่ต้องพัฒนาตนเองกันทั้งนั้น นอกจากหน้าที่การงานที่ถูกกำหนดไว้แล้ว ยังต้องศึกษาเศรษฐกิจและภาษาต่างประเทศ ไหนจะต้องดูแลตัวอย่างพิถีพิถันให้ร่างการแข็งแรงและมีความมั่นใจ ไหนจะต้องตื่นเช้าเพื่อมีเวลาให้ตัวเอง แม้แต่การพักผ่อนก็ถูกจัดวางเอาไว้เพื่อผลิตและพัฒนา แต่มนุษย์ไม่ใช่คาแร็กเตอร์ในเกมที่จะได้เลเวลอัปเป็นขั้น ๆ เมื่อทำคเวสต์และเลี้ยงคาแร็กเตอร์นั้นอย่างเต็มที่ ร่างกายและจิตใจของเราเองก็เจ็บปวดเพราะมนุษย์เราไม่ใช่ดาบที่ทำจากเหล็กกล้า ฝีมือของมนุษย์เราตกต่ำลงเป็นธรรมดาเมื่อผ่านวัยรุ่งเรืองที่ร่างกายจะกระปรี้กระเปร่าที่สุด และเราก็อาจจะทำสิ่งที่ทำได้ดีเมื่อวานได้ไม่ดีในวันนี้ เพราะมนุษย์เราไม่ใช่วัตถุที่ถูกตั้งโปรแกรมไว้ ร่างกายและจิตใจมนุษย์เป็นสิ่งที่ใช้แล้วหมดไป ไม่ใช่กราฟที่โค้งขึ้นไปจนกว่าจะตาย หมายความการเติบโตอาจเป็นไปอย่างเชื่องช้าหรือไม่เชื่องช้าก็ได้ การเติบโตต้องอาศัยพลัง ซึ่งมันเป็นเรื่องไม่จบไม่สิ้นสำหรับคนเรา ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถทุ่มเทพลังทั้งหมดที่มีและสร้างการเปลี่ยนที่เห็นกับตาได้ในทุกขณะ และสิ่งเหล่านี้มันก็เป็นเรื่องธรรมดา

สิ่งที่ดำรงอยู่ตามปัจเจกจะเปล่งประกายหลากหลายสีสัน โดยไม่พยายามนำพาตัวเองไปจุดสูงสุด และเผาไหม้อย่างมหาศาลจนกลายเป็นเถ้าถ่านได้อย่างไรกัน? แม้จะดูเป็นไปไม่ได้ แต่มันคือปัญหาที่เราต้องคิดทบทวนให้ได้ แม้จะฟังดูห่างไกล แต่เราจำเป็นต้องพูดคุยถึงความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างสังคมที่ให้ความสำคัญกับการแข่งขันและการสร้างผลงาน ทางหนึ่งคือการทำให้ผู้คนเห็นภาพวิถีของการดำรงชีวิตที่มีหลากหลายรูปแบบ ศิลปินสาว IU เคยตอบแฟน ๆ ที่ถามว่า “พี่เอาชนะเวลาที่รู้สึกเหนื่อยได้อย่างไรคะ?” ว่า “บางทีฉันก็แพ้ค่ะ” คำตอบนี้นับเป็นวาทะเด็ดของ IU ที่ถูกกล่าวถึงอยู่บ่อย ๆ เพราะมันโค่นสิ่งที่ควรจะเป็นที่ว่า ‘เราต้องเอาชนะสิ่งที่ยาก’ และทำให้ผู้คนตกตะลึงด้วยความรู้สึกแปลกใหม่ ประธานสังกัดในสมัยที่ IU ยังเป็นศิลปินหน้าใหม่บอกกับเธอว่า “มือโปรไม่ควรสนุกและต้องทรมานไปตลอด” แต่เธอกลับตอบว่า “ถ้าต้องเป็นมือโปรที่ทรมาน ฉันขอเป็นแค่มือสมัครเล่นก็แล้วกัน” เราไม่รู้หรอกว่าเมื่อโยนความเป็นไปได้เล็ก ๆ เหมือนโยนเมล็ดพันธุ์ลงไปในดิน จะมีอะไรงอกเงยขึ้นมา เพราะอันที่จริงเราจะคิดแบบนี้ก็ได้เหมือนกัน จองจีอึม ผู้เขียนหนังสือ ‘ความเศร้าของโรคสมาธิสั้น (ADHD) ในวัยเยาว์’ เคยทวีตข้อความไว้ว่า “หลังจากฉันโดนวินิจฉัยว่าเป็นโรค ADHD เป้าหมายในชีวิตฉันไม่ใช่การทำให้ตัวเองครบถ้วนสมบูรณ์ดี แต่เป็นการสร้างความยุ่งเหยิงที่คาดคะเนได้ การยอมรับว่าไม่ว่าฉันจะทำอะไร ถึงจุดหนึ่งแล้วมันก็คงจะยุ่งเหยิงอยู่ดี และฉันก็แค่ใช้ชีวิตไปตามนั้น กลับทำให้ฉันควบคุมตัวเองได้” ถ้าหากว่าการเติบโต ‘ให้ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ดี’ คือการเติบโตแบบที่โลกต้องการ ตัวเราก็จะยอมรับว่าตัวเองไม่เหมาะสม และตั้งเป้าหมายของตัวเองขึ้นมา เมื่อเรารับรู้ถึงขอบเขตที่เป็นไปได้ และยอมรับว่ามีสิ่งที่ ‘ทำไม่ได้’ เมื่อนั้นมาตรฐานก็จะเปลี่ยนจาก ‘การเติบโต’ ไปเป็น ‘ขอบเขต’ ที่มีลักษณะเฉพาะตัว การเติบโตอาจเป็นสิ่งที่ดี แต่ความก้าวหน้าและแนวโน้มที่พุ่งสูงขึ้นก็ไม่ใช่ทิศทางเดียวสู่การเปลี่ยนแปลงเช่นกัน

ที่มา | The Kyunghyang Shinmun 
แปลและเรียบเรียงจากเกาหลีเป็นไทยโดย CANDYCLOVER.COM

DMCA.com Protection Status

ทาง CANDYCLOVER มีความยินดีหากผู้อ่านเล็งเห็นประโยชน์ของคอนเทนต์นี้ และต้องการนำไปประกอบเอกสารหรือสื่อทางการศึกษา เผยแพร่ต่อบนโซเชียลมีเดีย รวมถึงนำไปผลิตของที่ระลึก เช่น Giveaway สำหรับแจกฟรี มิใช่การจัดจำหน่าย

หากต้องการนำข้อมูลไปใช้อ้างอิง กรุณาติดต่อทางอีเมลล์ bts.candyclover@gmail.com และรอการตอบกลับที่ระบุว่าอนุญาตแล้วเท่านั้น ยกเว้นกรณีการนำข้อมูลที่ “แปล เรียบเรียง หรือจัดทำโดย CANDYCLOVER” ไปรีโพสต์ ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ รีโพสต์บนแฟนเพจ เว็บไซต์ หรือเว็บบอร์ด ที่มิใช่แพลตฟอร์มของ CANDYCLOVER พร้อมใส่เครดิตเองโดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงนำไปเป็นคอนเทนต์ทางสื่อโทรทัศน์ หรือกระทำการใด ๆ ก็ตามที่เข้าข่ายแอบอ้างผลงาน หากพบเห็นจะดำเนินคดีทางกฎหมายให้ถึงที่สุด

หากท่านชื่นชอบคอนเทนต์ที่ CANDYCLOVER นำเสนอ สามารถให้การสนับสนุนพวกเราได้ง่าย ๆ เพียง 1.) ไม่สนับสนุนแอคเคาต์ที่แอบอ้างข้อมูลที่แปลโดย CANDYCLOVER 2.) รีพอร์ตแอคเคาต์ดังกล่าวผ่านระบบของแพลตฟอร์มที่ท่านพบเห็นโพสต์ที่เข้าข่าย โดยเลือกหัวข้อ “ละเมิดลิขสิทธิ์” 3.) สนับสนุนค่ากาแฟทาง Ko-fi หรือ Patreon

About the Author /

bts.candyclover@gmail.com

I go by the name Candy, a co-founder, admin, designer, translator, writer of and for CANDYCLOVER. I'm a graphic/UI designer and a self-taught Korean translator who's passionate about telling success stories of BTS in the form of mixed media from graphic to web-based experiences. Now, I'm also pursuing my career as a professional Korean translator. My recent book-length translation projects are: I AM BTS (TH Edition), BTS The Review (TH Edition) and more to come!

Post a Comment