เปิดอกนักคิดผู้อยู่เบื้องหลัง BTS การสร้างผนึกกำลังอันยิ่งใหญ่แห่งวงการ K-Pop

ครั้งหนึ่งนายบังชีฮยอกเคยเป็นศิลปินนักร้อง หากแต่ปัจจุบัน CEO บริหารร่วมของสังกัด Big Hit Entertainment ผู้นี้ เป็นที่รู้จักในฐานะนักคิดผู้อยู่เบื้องหลัง BTS ศิลปินกลุ่ม K-Pop และบอยแบนด์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ผู้นำทัพในการเปิดตลาดอเมริกาแก่ศิลปินจากเกาหลี ประธานบังฯ เริ่มงานใน=วงการ K-Pop ด้วยการเป็นนักแต่งเพลง (ชื่อที่ใช้: “Hit Man”) ที่ทำงานร่วมกับ JYP หนึ่งในสังกัดที่ถูกขนานนามว่าเป็นกลุ่ม “3 ยักษ์ใหญ่” ผู้ครองตลาดเพลงเกาหลีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่แล้วประธานบังฯ ก็แยกตัวออกไปเปิดบริษัทของตัวเองในปี 2005 ปัจจุบัน Big Hit คือหนึ่งในกรณีศึกษาที่น่าสนใจที่สุดของอุตสาหกรรมดนตรี ด้วยการประสบความสำเร็จจากศิลปินที่มีความนิยมสุดทรงพลัง และสร้างผลตอบแทนอย่างมั่งคั่งนั่นเอง

ตลอดหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ประธานบังฯ เปิดอกกับ TIME ถึงต้นกำเนิดของ BTS, ความแตกต่างระหว่างศิลปินตะวันตก และแม่แบบศิลปิน K-Pop รวมถึงเรื่องน่าทึ่งที่เขาประสบพบเจอในวงการ K-Pop “จะมาพูดแนวๆ ว่า A นำไปสู่ B มันเป็นอะไรที่ยากสำหรับผม” เขากล่าว “แต่สิ่งที่ผมพูดได้ก็คือ BTS ประสบความสำเร็จในตลาดอเมริกาด้วยสูตรที่แตกต่างจากกระแสนิยมหลักของอเมริกา ความจงรักภักดีของแฟนๆ ที่สร้างขึ้นผ่านการสื่อสารกับแฟนๆ โดยตรง มีส่วนช่วยเป็นอย่างมาก” เขาหยิบยก Disney และ Apple เป็นแบรนด์ตัวอย่างที่สร้างฐานแฟนคลับที่เชื่อมั่นและจักรวาลที่ซับซ้อนได้คล้ายคลึงกัน แต่เน้นย้ำว่าสำหรับเขาแล้ว ผลิตผล ซึ่งก็คือตัวเพลง คือสิ่งที่สำคัญที่สุด

ประธานบังฯ ผู้ถ่อมตัวต่ออิทธิพลที่ตนสร้าง แต่กระหายที่จะทำหน้าที่ของเขาให้ชัดเจนนั้น เน้นย้ำถึงดวงกับจังหวะเวลา และพยายามที่จะชี้ชัดถึงสิ่งที่ทำให้ BTS ไม่เหมือนใคร ในขณะเดียวกันเขาก็ระแวดระวังที่จะไม่ทำการคาดเดาถึงอนาคต  “ถ้าคุณจะถามว่าพวกเขาจะร้องเพลงภาษาอังกฤษไหม? เขาจะอยู่ในอเมริกาไปได้นานเท่าไหร่? เขาจะเซ็นสัญญากับสังกัดใหญ่ไหม? ผมคงบอกได้ว่าศิลปินต้องตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีที่สุดในทุกโอกาส และผมคงจะไปบอกว่าเขาควรทำอะไรไม่ได้”

TIME: K-pop มีความโดดเด่นในเรื่องของระบบฝึกหัดศิลปิน ซึ่งไอดอลที่มีความทะเยอทะยานนั้นเอง หลังจากถูกเฟ้นหาตัวมา ต้องอาศัยการฝึกกันเป็นปีๆ ก่อนที่จะได้รับการนำเสนอต่อผู้ชม คุณเจอและพาเมมเบอร์ทั้งเจ็ดของ BTS มาฝึกได้อย่างไร?

บังชีฮยอก: Pdogg โปรดิวเซอร์คนหนึ่งของเราเอาเทปเดโม่ของ RM มาให้ผมฟัง เขาบอกว่า “นี่เป็นสิ่งที่เด็กๆ เขากำลังอิน” RM ผู้ที่ตอนนี้เป็นลีดเดอร์และแรพเปอร์ของวง ณ ตอนนั้นอายุเพียง 15 ปี ผมจับเขาเซ็นสัญญาทันที ผมเคยคิดจะปั้นวงฮิปฮอป ไม่ใช่วงไอดอล แต่พอคำนึงถึงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ผมเลยคิดว่าแม่แบบศิลปิน K-Pop มันสมเหตุสมผลกว่า เด็กฝึกหัดของเราหลายคนแยกตัวออกไปเพราะพวกเขาไม่ได้อยากจะเป็นวงไอดอล แต่อยากที่จะเป็นวงฮิปฮอป ในตอนนั้น RM, SUGA และ J-HOPE เลือกที่จะอยู่ และเป็นเสาหลักทางดนตรีของ BTS จากตรงนั้นเอง พวกเราทำการเฟ้นหาผ่านการออดิชั่นและเพิ่มเมมเบอร์ที่มีคุณภาพเชิงไอดอลเข้าไปในวง

ตอนที่คุณเริ่มทำ Big Hit คุณคงลองมาแล้วหลายทางในงานเพลงป็อป เพราะอะไรถึงตัดสินใจปั้นวงไอดอล? 

ณ ตอนที่ผมเริ่มตั้งบริษัท ยอดขายอัลบั้มกำลังตกฮวบ ยอดขายดิจิตอลเองก็ไม่พอที่จะชดเชยได้ แต่วงไอดอล K-Pop ได้เปรียบตรงที่พวกเขามีโอกาสมากมายที่จะทำให้รายได้ไหลเวียนเข้ามาในรูปแบบต่างๆ ซึ่งแฟนๆ ของพวกเขาก็มีความทะเยอทะยานอย่างถึงที่สุดจนทำให้รายได้ของคอนเสิร์ตมาทดแทนยอดขายอัลบั้มที่กำลังตก นี่ก็เป็นอีกช่วงครับที่ทั่วโลกต่างบอกว่า สิ่งที่จะมาแทนที่อุตสาหกรรมดนตรีที่ถูกโค่นลงได้คือ การแสดงสด แล้วถ้าหากว่าแม่แบบที่มีพื้นฐานเป็นการแสดงจะมามีในเกาหลีใต้ ผมคิดว่ายังไงก็ต้องเป็นวงไอดอล K-Pop

คุณคิดว่าสิ่งใดเป็นปัจจัยที่แตกต่างที่พา BTS มาอยู่บนเส้นทางที่ไม่เหมือนใคร?

ความจริงใจ, ความสม่ำเสมอ และศักยภาพในการทำให้แนวความเชื่อในแต่ละยุคสมัยเป็นรูปธรรมขึ้นมาครับ เมื่อตอนที่พวกเขารวมตัวเป็นวงไอดอล ผมสัญญากับพวกเขาเอาไว้ว่าพวกเขาจะได้ทำเพลงที่ตัวเองอยากทำ รวมถึงเพลงแนวฮิปฮอป ด้วยความเป็นฮิปฮอป พวกเขาเลยถ่ายทอดความคิดของตัวเองออกมาได้ ซึ่งเราไม่เข้าไปก้าวก่ายหรอกครับ ถ้าบริษัทรู้สึกว่าพวกเขาไม่ตรงไปตรงมาต่อความรู้สึกที่ตั้งใจจะถ่ายทอด เราถึงจะเข้ามาบอกว่าเรารู้สึกอย่างไร ผมรักษาสัญญาที่ให้ไว้ และผมรู้เลยว่ามันส่งผลกระทบขนาดไหน ส่วนตัวผมมองว่าศิลปินไม่จำเป็นต้องบอกเล่าสิ่งที่ตัวเองนึกคิดเสมอไป แต่ผมเชื่อว่า ณ ตอนนั้น BTS หยิบยกสิ่งที่วัยรุ่นทั่วโลกกำลังใฝ่หามากกว่าครับ

BTS ไม่เคยปุบปับเปลี่ยนเกียร์และเส้นทางที่เดินเลย พวกเขามั่นคง ซึ่งผมว่านี่คือสิ่งที่ทำให้คนทั่วไปคล้อยตาม พวกเขาไม่เลี่ยงที่จะพูดถึงความชอกช้ำที่คนยุคนี้รู้สึก พวกเขาเคารพความแตกต่าง, ความยุติธรรม, สิทธิของวัยรุ่น และกลุ่มคนในสังคมที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียง ผมคิดว่าปัจจัยเหล่านี้ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ช่วยพวกเขาครับ

ปีนี้ที่ BTS เป็นศิลปินที่ขายอัลบั้มได้มากที่สุดในอเมริกา มีความหมายต่อคุณอย่างไรบ้าง?

กรณีของ BTS เป็นสิ่งที่น่าขำมากสำหรับผม ผมคาดการณ์ว่ายอดขายอัลบั้มจะตกลงอย่างต่อเนื่อง และคิดว่าการแสดงและรูปแบบของความจงรักภักดีต่อศิลปินจะเป็นคำตอบ แต่ก็อย่างที่พูดไปนั่นล่ะครับ ผมให้ความสำคัญกับคุณภาพของอัลบั้มเพราะผมเป็นโปรดิวเซอร์หัวเก่า ผมถึงได้ทำโปรดักชั่นที่โฟกัสที่ตัวอัลบั้ม ด้วยเพลงและการสื่อสารที่ดี ยอดขายมันก็ตามมาเอง อุตสาหกรรม K-Pop มีแนวโน้มยอดขายอัลบั้มเพิ่มมากขึ้น ตรงกันข้ามกับเทรนด์ตลาดโลก แต่ส่วนตัวแล้วผมบอกไม่ได้หรอกว่าเพราะอะไร เพราะผมไม่ได้เชื่อว่ามันจะเป็นแบบนี้ตลอดไป

เพราะเหตุใด BTS ถึงประสบความสำเร็จในการเป็นศิลปินที่ก้าวข้ามสู่อเมริกา ในขณะที่ศิลปิน K-Pop อื่นๆ มากมายพยายามอย่างหนักเพื่อให้ได้รับการยอมรับ?

โดยพื้นฐานแล้ว ผมเชื่อว่าความสำเร็จของ BTS ในอเมริกาเป็นเรื่องของดวง ไม่ใช่เพราะกลยุทธ์แพรวพราวของผม หรือเพราะ BTS เป็นวงที่ใช่สำหรับตลาดอเมริกา หากแต่เป็นถ้อยความที่เข้าถึงใจผู้คนพอสมควร ซึ่งเผยแพร่ไปอย่างรวดเร็วผ่านดิจิตอลมีเดีย และเป็นเพราะ BTS ไปแตะประเด็นที่ยังไม่เคยได้รับการพูดถึง ณ ขณะนั้นในอเมริกา วัยรุ่นอเมริกันถึงตอบสนองต่อพวกเขา เห็นได้จากตัวเลขต่างๆ ที่เกิดขึ้นครับ

หนึ่งในแรงผลักดันที่คุณส่งเสริมในปีนี้คือ “จักรวาล” ที่คุณสร้างให้แต่ละวง ซึ่งเชื่อมโยงแฟนๆ เข้ากับศิลปิน นอกเหือจากการแสดงและอัลบั้ม

ด้วยตัว BTS และไอดอล K-Pop แฟนๆ อยากที่จะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของไอดอลที่พวกเขารักนอกเหนือจากคอนเสิร์ต แต่ไม่มีโปรดักต์ตัวไหนที่จะเติมเต็มความต้องการที่กล่าวมานั้นได้ ตัวผมเองเกลียดการต่อยอดที่ทำไปเพียงเพื่อขอให้ได้ต่อยอด ยังไงมันก็ยังต้องยืนพื้นด้วยดนตรี ผมถึงไปในแนวทางนี้ หลายๆ คนเชื่อว่าเพราะไอดอล K-Pop ครองสถานะความเป็น “นักร้อง” แต่แฟนๆ ของนักร้องทั่วไปมันแตกต่างออกไป แฟนๆ เหล่านั้นอาจไปดูคอนเสิร์ต ซื้อเพลงซื้ออัลบั้ม หรือซื้อเสื้อที่เกี่ยวกับนักร้องที่ติดตาม แต่แฟนๆ ของไอดอล K-Pop เขาอยากที่จะใกล้ชิดกับไอดอลของพวกเขา BTS เป็นวงเดียวที่มีกำลังซื้อแทบจะทุกประเทศทั่วโลกที่มากพอตัว ผลที่ตามมาคือ การทำงานกับแฟนด้อม BTS กลายเป็นหนึ่งในเซอร์วิสที่ใหญ่ที่สุดที่ Big Hit ให้บริการแล้ว

คุณรู้ได้อย่างไรว่าพวกเขาจะถ่ายทอดอะไรลงไปในเพลง หรือนำเสนอตัวเองทางโซเชียลมีเดียอย่างไร?

ถ้าให้พูดตรงๆ ตามมาตรฐานของศิลปินส่วนมาก ศิลปิน K-Pop ต้องมีความสามารถในการแสดงระดับโลดโผน ต้องร้องเพลงได้เพอร์เฟค หุ่นก็ต้องเป๊ะ ซึ่งล้วนแล้วแต่อาศัยการฝึกเข้มงวดที่เน้นการพัฒนาความสามารถ ถึงอย่างนั้น ผมก็เชื่อมาตลอดว่าเด็กฝึกหัดควรจะเข้าสังคมได้ดี สมัยเมมเบอร์ BTS เป็นเด็กฝึกหัด มีปัญหาภายในเรื่องโซเชียลกับสตาฟกันเยอะมาก เขาบอก “เลือกทางเซฟๆ ดีกว่า โซเชียลมีเดียมันทิ้งร่องรอยให้แทรคได้ ซึ่งมันอาจจะแว้งกลับมาทำร้ายเราในอนาคตได้” มันยากสำหรับเด็กในการทำตามกฎ ก็เลยลำบากอยู่เหมือนกัน แต่เป็นเพราะผมเชื่อว่ามันไม่ผิดที่จะเรียนรู้จากความผิดหากทำผิด ระบบการฝึกที่ผมสร้างขึ้นมาถึงได้ค่อนข้างเสรี

ค่ายเราใช้เวลาเยอะมากในการสอนเด็กฝึกเรื่องชีวิตในฐานะศิลปิน รวมถึงการใช้โซเชียลมีเดีย หลังจากที่ให้คำแนะนำไปแล้ว เราเลือกที่จะปล่อยศิลปินให้เดินตามทางของเขาเอง และเปิดช่องให้พวกเขาขออะไรก็ตามที่พวกเขาต้องการ ผมว่ามันช่วยให้ความจริงใจส่งผ่านไปถึงแฟนๆ พอ BTS ประสบความสำเร็จ ผมเปลี่ยนระบบฝึกหัดศิลปินให้เป็นเหมือนโรงเรียน ให้มีการแนะแนวและฝึกสอน และให้นักเรียกมีโอกาสได้ทำงานร่วมกัน

ไม่นานมานี้ ทั้งอดีตไอดอล และไอดอลปัจจุบันในวงการ K-Pop เข้าไปพัวพันสิ่งผิดกฎหมาย จากกรณีพิพาทในวงการ K-Pop นั้นคุณคิดว่าคุณได้มอบเครื่องมือที่ช่วยป้องกันจากสิ่งเหล่านั้นแก่ BTS และเด็กฝึกหัดคนอื่นแล้วหรือไม่ 

ผมเองก็ไม่แน่ใจ จริงอยู่ว่าการที่ผมให้อิสระกับพวกเขามากมาตั้งสมัยเป็นเด็กฝึกหัดและสั่งสอนพวกเขาเรื่องความรับผิดชอบ เป็นตัวอธิบายได้ว่ามันป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องฉาว แต่นั่นมันคือผลที่เกิดตามมาจากสิ่งที่ทำลงไป ตอนนี้ระบบฝึดหัดศิลปินค่อนข้างเหมือนสถาบันทางการศึกษา ในการทำงานของทีม พวกเราพูดคุยกันเยอะมากว่าจะทำอย่างไรที่จะจัดหาสภาพแวดล้อมที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้แก่ศิลปินเหล่านี้ แต่จะพูดว่าเราเลี่ยงเรื่องฉาวในวงการ K-Pop ได้แล้วก็ออกจะฟันธงเกินไป

แนวคิดหนึ่งที่ค่อนข้างเป็นที่รับรู้เกี่ยวกับวงการ K-Pop คือความเชื่อที่ว่ากลุ่มกรรมการของค่ายนั้นๆ เป็นผู้ผลิตเพลง หรือไม่ก็เชื่อว่าเป็นระบบรอคำสั่งจากเบื้องบน ที่ผู้ใหญ่เป็นผู้ป้อนเครื่องมือต่างๆ แก่ศิลปินที่ยังเยาว์วัย

ตอนแรกผมเองก็เชื่อว่ามีเรื่องเพ้อฝันที่ฝังรากลึกเกี่ยวกับศิลปินร็อค ว่าศิลปินร็อคจะแสดงออกอย่างถ่องแท้จากจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกๆ คนจะยอมรับว่าการแสดงออกเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกตัวตนของพวกเขา และเพลงคุณภาพจะเกิดขึ้นได้ผ่านกระบวนการเหล่านี้เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว การอุทิศตัวเป็นเวลานานเพื่อฝึกฝนและขัดเกลาความสามารถด้านดนตรี เป็นกลยุทธ์ที่ใช้กันในหลายแขนงวิชาชีพศิลปะ อย่างนักบัลเล่ต์เองก็ปลีกตัวไปฝึกฝนแค่การเต้นบัลเล่ต์ แต่คุณไม่มีทางได้ยินใครบอกว่าบัลเล่ต์ไม่มีจิตวิญญาณหรือไม่ใช่ศิลปะหรอก ผมว่ามันอยู่ที่แนวคิดครับ

ศิลปินในอเมริกาจะทำงานในวงการใต้ดินเป็นเวลาหลายปีก่อนที่จะมาร้องเพลงกับสังกัดใหญ่ ในขณะที่เกาหลี เทียบช่วงเวลาดังกล่าวได้กับเวลาที่ใช้ในการเป็นเด็กฝึกหัด ผมมองว่ามันเป็นสิ่งที่คนยังถกเถียงกันอยู่ว่าระบบไหนสร้างศิลปินที่ดีกว่ากัน นอกจากนั้น ผมไม่ช่วยด้วยซ้ำกับคำพูดที่บอกว่าผลลัพธ์จะออกมาดีที่สุดถ้าศิลปินร้องเพลงของตัวเอง สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ศิลปินเป็นนักแสดง และการแสดงที่ดีจะจูงใจผู้ชมได้ ผมมองว่าหากเด็กฝึกใช้เวลาไปกับการฝึกฝนทักษะ แต่ไม่ได้เรียนรู้ประสบการณ์ชีวิต สุดท้ายแล้วมันจะกลายสิ่งที่เรามานั่งคำนึงว่าตัวเด็กจะเป็นศิลปินที่เข้าใจโลกอย่างลึกซึ้งได้หรือไม่

การที่ศิลปินที่คุณทำงานด้วยมีเหตุหรือประเด็นเกี่ยวกับสังคมที่พวกเขาสนใจ มันสำคัญต่อคุณขนาดไหน? BTS มีเรื่องราวเกี่ยวกับ “การรักตัวเอง” ที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน ควบคู่ไปกับงานที่พวกเขาทำร่วมกับองค์การสหประชาชาติ และความตรงไปตรงมาต่อประเด็นอย่างปัญหาสุขภาพจิต

ไม่ว่าจะอยากพูดถึงประเด็นสังคมหรือไม่ก็เป็นทางเลือกของแต่ละคน สิ่งที่ผมต้องการก็คืออยากให้พวกเขาจริงใจ ถ้าให้แต่งเรื่องขึ้นมา พูดเลยว่าผมรับไม่ได้ แต่ทั้งผมและค่ายจะไปบังคับให้ศิลปินพูดหรือไม่พูดถึงประเด็นสังคมมันก็ไม่ได้ ส่วนตัวแล้วผมเชื่อว่าศิลปะเป็นหนึ่งในตัวกลางสู่การเปลี่ยนแปลงที่แข็งแกร่งที่สุดตัวหนึ่ง และผมเองก็อยากให้ศิลปินพูดถึงประเด็นทางสังคม พวกเขาจะพูดตอนที่เขาอยากจะพูด ผมจะไม่ไปบอกเขาว่าเขาควรทำอะไรหรือไม่ทำอะไร ผมว่าความเชื่อที่ว่า โปรดิวเซอร์สามารถควบคุมศิลปินได้เป็นหนึ่งในความเชื่อที่ผิดๆ ในอุตสาหกรรม K-Pop เลย เราทำแบบนั้นไม่ได้หรอกครับ ถึงเวลาที่ศิลปินอยากจะสื่อสารอะไรออกมา ผมเชื่อว่าหน้าที่ของผมคือกลั่นกรองถ้อยความเหล่านั้นให้สื่อถึงความจริงใจและมีคุณค่าทางธุรกิจครับ

คุณพูดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับ “ศิลปินร็อค” ศิลปินในอเมริกามักได้รับการสรรเสริญจากความเป็นขบถ ผู้คนให้ค่ากับการไม่ขึ้นกับใครและการต่อสู้กับ “ระบบ”

ผมว่าวัฒนธรรมเอเชียและตะวันตกแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่ถ้าหากจะมาพูดคุยกันว่าอิทธิพลพวกนั้นสื่อความเป็นขบถต่อสังคมออกมาอย่างไร เกาหลีก็ถือว่ามีการปฏิวัติหลายอย่าง แต่ในเรื่องของความสัมพันธ์ของแต่ละบุคคล ยังไงเราก็ต้องเคารพผู้ที่อาวุโสกว่า มันก็ยากที่จะเปรียบเทียบด้วยการพูดออกมา หรือบอกว่าศิลปินตะวันตกก็แบบนึง ศิลปินเอเชียก็แบบนึง แต่โดยรวมแล้ว สังกัด ศิลปิน และโดยเฉพาะศิลปิน K-Pop พยายามหาช่องทางที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุดครับ

แต่ถ้าพูดถึงการต่อสู้กับระบบ ศิลปินอเมริกันจำนวนมากก็ทำงานควบคู่ไปกับการจัดการที่สังกัดมี ตราบเท่าที่ได้ปล่อยให้ทำเพลงที่พวกเขาต้องการทำ ไม่นานมานี้ ศิลปินหลายต่อหลายคนไม่ยอมเซ็นสัญญากับสังกัดใหญ่ เพราะช่องทางทำกำไรช่องทางอื่นมีมากขึ้น แต่ผมว่านั่นก็ไม่ถือว่าเป็นปรปักษ์กับระบบซะเท่าไหร่ แต่ตามจริงแล้วกลับมีศิลปินตะวันตกที่พูดถึงประเด็นสังคมน้อยกว่าแต่ก่อนครับ

คุณให้โอกาสเมมเบอร์ BTS ในการปล่อยผลงานเดี่ยวเสมอ คุณคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาไม่เหมือนใครในวงการ K-Pop หรือไม่?

ผมไม่คิดว่าเอกลัษณ์ของพวกเขาแต่ละคนมาจากอิสระที่เขามีนะครับ ศิลปิน K-Pop จำนวนไม่น้อยที่พอประสบความสำเร็จได้ระดับหนึ่ง ก็เริ่มหันมาคำนึงถึงเส้นทางสายโซโล่ เริ่มพูดคุยกับค่าย และเดินหน้าทำผลงานเดี่ยว แต่ไม่ใช่ว่าเพราะ Big Hit ให้อิสระมากกว่าหรอกครับ สิ่งที่ Big Hit ไม่เหมือนกันใครคือ Big Hit ไม่โปรดิวซ์งานโซโล่ให้ งานของเราคือการตอกย้ำภาพลักษณ์ในฐานะวง แต่แน่นอนว่าเมมเบอร์แต่ละคนก็มีตัวตนเป็นของตัวเอง เราจึงส่งเสริมและสนับสนุนการทำมิกซ์เทปและปล่อยเพลงฟรี ซึ่งมันทำให้ศิลปินได้แสดงความเป็นตัวเองออกมาภายใต้ภาระผูกพันที่น้อยกว่าการออกงานโซโล่อย่างเป็นทางการ พอเราเริ่มมาทางนี้ หลายสังกัดก็เริ่มเดินหน้าออกเพลงฟรีหรือทำมิกซ์เทปที่ไม่ออฟฟิเชียลมากขึ้น นอกเหนือจากการปล่อยงานโซโล่ ผมเชื่อว่า Big Hit มีส่วนช่วยตลาดเพลงในทางหนึ่งด้วยเหมือนกันครับ

คุณเพิ่งรับช่วงต่อกิจการ Source Music และแสดงความสนใจในการปั้นเกิร์ลกรุ๊ปวงใหม่ ตอนนี้ไปถึงขั้นตอนไหนแล้ว?

พูดถึง GFriend จาก Source Music แล้ว คอนเทนท์ที่พวกเขาปล่อยออกมาจนถึงตอนนี้ถือว่ายอดเยี่ยมเลยครับ สิ่งที่พวกเรากำลังพยายามทำคือการขัดเกลาและปรับปรุงเค้าโครงเรื่องราวและคอนเซปต์ เพื่อที่ว่าโปรเจคที่ต่อไปจะดูสมเหตุสมผลว่าพวกเขามาสู่สไตล์ใหม่นี้ได้อย่างไร นอกจากนั้นพวกเราก็จะโปรโมทการออดิชั่นเฟ้นหาสมาชิกวงเกิร์ลกรุ๊ปกับ Source Music ด้วยครับ ผมพยายามที่จะแบ่งกลุ่มตลาด โดยยังคงรักษาไว้ซึ่งคุณสมบัติของ

สิ่งหนึ่งที่เรายังไม่ได้เอ่ยถึงเลยคือ ARMY คุณวางแผนทำหลายอย่างที่จะเข้าถึงแฟนๆ ตั้งแต่การพัฒนาแอพพลิเคชั่น Weverse และ Weply ไปจนถึงการทำภาพยนตร์ แฟนๆ BTS และผู้ติดตาม Big Hit จะไ้เห็นอะไร?

อย่างแรกเลยคืออัลบั้มถัดไปครับ ตอนนี้กำลังไปได้สวยเลย อย่างที่คุณรู้ว่าหลายต่อหลายคนบอกว่า BTS คือ The Beatles ในยุคสมัยแห่ง YouTube หรือไม่ก็ The Beatles แห่งศตวรรษที่ 21 ผมรู้ครับว่าแม้พวกเขายังไม่ได้ประสบความสำเร็จถึงขั้นนั้น แต่ผมก็รู้สึกเป็นเกียรติ ผมเชื่อว่าการขนานนามนี้มีนัยยะอยู่ เพราะพวกเขา BTS สร้างฐานแฟนคลับที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกขึ้นมาได้ ซึ่งไม่ใช่อะไรที่เกิดขึ้นบ่อยๆ, พวกเขาปรับลำดับในการขายสินค้าผ่านฐานแฟนคลับขนาดมหึมา, พวกเขากำลังสร้างการสื่อสารรูปแบบใหม่ และทำให้แนวความเชื่อในแต่ละยุคสมัยเป็นรูปธรรม และกลั่นกรองออกมาเป็นถ้อยความทางดนตรีในรูปแบบใหม่ขึ้นมา ด้วยแนวทางเหล่านี้เองที่ทำให้ผู้คนนึกถึง The Beatles ครับ

ผมหวังว่าจะรักษาการขนานนามที่ทรงเกียรตินี้ และคงความเป็นบุคคลที่มีความกล้าหาญเหมือน The Beatles ต่อไปในอนาคต การจะขึ้นไปถึงจุดนั้นได้ คงจะดีไม่น้อยถ้า BTS ยังคงเป็นที่จดจำต่อไปผ่านอารีน่าใหญ่ๆ ระดับโลก คงจะดีไม่น้อยถ้าพวกเขาได้รับการตอบรับจาก Grammy เหล่า ARMY เองก็รอคอยการแสดงของ BTS ที่งาน Grammy มาอย่างยาวนาน ถือเป็นโชคดีของเราที่ได้เป็นสมาชิก Recording Academy (สถาบันศิลปะวิทยาการการบันทึกเสียงแห่งสหรัฐอเมริกา) ผมจึงอยากพูดคุยกับทีม Grammy มากขึ้น เพราะผมเชื่อว่าพวกเรามีสิ่งที่เป็นเครื่องหมายเชิงสัญลักษณ์ที่จะทุ่มเทให้ครับ

ที่มา | TIME
แปลจากอังกฤษเป็นไทยโดย CANDYCLOVER

DMCA.com Protection Status

ทาง CANDYCLOVER มีความยินดีหากผู้อ่านเล็งเห็นประโยชน์ของคอนเทนต์นี้ และต้องการนำไปประกอบเอกสารหรือสื่อทางการศึกษา เผยแพร่ต่อบนโซเชียลมีเดีย รวมถึงนำไปผลิตของที่ระลึก เช่น Giveaway สำหรับแจกฟรี มิใช่การจัดจำหน่าย

หากต้องการนำข้อมูลไปใช้อ้างอิง กรุณาติดต่อทางอีเมลล์ bts.candyclover@gmail.com และรอการตอบกลับที่ระบุว่าอนุญาตแล้วเท่านั้น ยกเว้นกรณีการนำข้อมูลที่ “แปล เรียบเรียง หรือจัดทำโดย CANDYCLOVER” ไปรีโพสต์ ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ รีโพสต์บนแฟนเพจ เว็บไซต์ หรือเว็บบอร์ด ที่มิใช่แพลตฟอร์มของ CANDYCLOVER พร้อมใส่เครดิตเองโดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงนำไปเป็นคอนเทนต์ทางสื่อโทรทัศน์ หรือกระทำการใด ๆ ก็ตามที่เข้าข่ายแอบอ้างผลงาน หากพบเห็นจะดำเนินคดีทางกฎหมายให้ถึงที่สุด

หากท่านชื่นชอบคอนเทนต์ที่ CANDYCLOVER นำเสนอ สามารถให้การสนับสนุนพวกเราได้ง่าย ๆ เพียง 1.) ไม่สนับสนุนแอคเคาต์ที่แอบอ้างข้อมูลที่แปลโดย CANDYCLOVER 2.) รีพอร์ตแอคเคาต์ดังกล่าวผ่านระบบของแพลตฟอร์มที่ท่านพบเห็นโพสต์ที่เข้าข่าย โดยเลือกหัวข้อ “ละเมิดลิขสิทธิ์” 3.) สนับสนุนค่ากาแฟทาง Ko-fi หรือ Patreon

 

About the Author /

bts.candyclover@gmail.com

I go by the name Candy, a co-founder, admin, designer, translator, writer of and for CANDYCLOVER. I'm a graphic/UI designer and a self-taught Korean translator who's passionate about telling success stories of BTS in the form of mixed media from graphic to web-based experiences. Now, I'm also pursuing my career as a professional Korean translator. My recent book-length translation projects are: I AM BTS (TH Edition), BTS The Review (TH Edition) and more to come!

Post a Comment