เส้นทางกอดใจไปกับบังทัน: เธอผู้ซึ่งได้รับการเยียวยา และ ฉันผู้ที่ได้รับที่พักใจ
ป้าคนหนึ่งที่พึ่งเลยวัย 40 ปีมาหมาด ๆ ดู BTS ได้ทั้งคืนได้อย่างไรกัน ? “BTS เข้ามาในจิตใจและเยียวยาฉันที่เจ็บช้ำและทำให้ฉันรับรู้ถึงความสุขของการมีชีวิตอยู่อีกครั้ง” ข้อความจาก คุณ คิม ซ็อง ย็อน จากเธอผู้ซึ่งได้รับการเยียวยา สะท้อนถึงความรู้สึกของ ฉันผู้ที่ได้รับที่พักใจจาก บังทัน ฯ เช่นกัน
บทความในตอนนี้ผู้เขียนหยิบหนังสือที่มีชื่อว่า BTS ODYSSEY เขียนโดย คุณคิม ซ็อง ย็อน ฉบับแปลเป็นภาษาไทยมีชื่อว่า “เส้นทางกอดใจไปกับบังทัน” จากสำนักพิมพ์ Blooms แปลเป็นภาษาไทยโดย คุณ CANDYCLOVER ของเรานั่นเอง
สำหรับหนังสือเล่มนี้ คุณคิม ซ็อง ย็อน ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของตัวเอง จากประสบการณ์ที่ได้รับการเยียวยาทางจิตใจจาก BTS เด็กหนุ่มที่เธอเปรียบดัง “ดอกไม้ป่า” ที่มีความงดงามในแบบฉบับของตัวเอง เนื้อหาจากหนังสือเล่มนี้หากใครที่เป็น army ก็คงจะพยักหน้าตามกันได้ไม่ยากนัก แต่สำหรับผู้อ่านที่ยังไม่ใช่กลุ่มแฟนคลับอยากให้ลองเปิดใจอ่านกันดูนะคะ อาจจะมีข้อถกเถียงขึ้นในใจกันบ้างก็ถือเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว เพราะเราต่างมีความชอบและแรงบันดาลใจที่แตกต่างกันไปนั่นเอง เรามาลองดูเรื่องราวของคุณคิมซองยอนกันเลยค่ะ
จากเรื่องราวที่ คุณคิม ซ็อง ย็อน ได้แบ่งปันเกี่ยวกับประสบการณ์การได้รับการเยียวยาของเธอ จนกระทั่งเธอได้รับอิสรภาพทางจิตใจนี้ ผู้เขียนขอยกหลักคำสอนอริยสัจ 4 หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา มาประกอบในการอธิบาย เพื่อที่เพื่อนผู้อ่านจะได้นึกภาพตามกันได้ง่ายขึ้น (รับบทครูสังคมในร่างอาร์มี่แล้วหนึ่ง ฮ่าๆๆ) ซึ่งในหลักคำสอน อริยสัจ 4 นั่นประกอบไปด้วย ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ได้แก่
ทุกข์ : การมีอยู่ของทุกข์
สมุทัย : เหตุแห่งทุกข์
นิโรธ : ความดับทุกข์
มรรค : หนทางนำไปสู่ความดับทุกข์ นั่นเอง
ความทุกข์เกิดขึ้นกลางใจ
คิม ซ็อง ย็อน เป็นหญิงชาวเกาหลีที่ได้พบรักกับสามีชาวฝรั่งเศสและได้แต่งงานกัน เธอได้ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ประเทศที่เธอไม่คุ้นเคยและต้องเริ่มสิ่งใหม่นับจากศูนย์เลยก็ว่าได้ การไร้อำนาจในการควบคุมชีวิตของตัวเองในต่างแดน ความคาดหวังจากตัวของเธอเอง ที่สภาพความเป็นจริงต่างจากสิ่งที่เธออยากให้เป็น ความรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมทั้งในประเทศฝรั่งเศส หรือแม้กระทั่งประเทศเกาหลีของเธอเอง ความเกลียดชังที่เธอมีต่อตัวเองและต่อผู้คน ในสภาวะความรู้สึกไร้คุณค่า ไร้ตัวตน ทำให้เธอสูญเสียตัวตนในที่สุดและนั่นทำให้เธอเกิดความทุกข์ขึ้นกลางใจเป็นความรู้สึกที่ไม่มีใครสามารถเข้าใจความรู้สึกนั้นของเธอได้
ความทุกข์ของเธอนั้นมีสาเหตุนะ
การได้ย้ายไปใช้ชีวิตอยู่ในยุโรปของ คิม ซ็อง ย็อน นั้นเป็นที่น่าอิจฉาของใคร ๆ หลาย ๆ คน แต่สำหรับเธอแล้ว กลับเป็นเรื่องที่ทำให้เธอทุกข์ใจ เพราะการกลายเป็นแม่บ้านเต็มตัว เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว การไม่สามารถใช้ภาษาฝรั่งเศสในการสื่อสารได้คล่อง แม้กระทั่งเวลาที่ลูกไม่สบาย เวลาที่สามีต้องไปทำงานไกล ๆ เธอต้องอาศัยเพื่อนร่วมงานของสามีพาเธอไปส่งโรงพยาบาล
ในประเทศที่มีการเหยียดเชื้อชาติอย่างรุนแรง การมองดูภาพที่ลูกสาวถูกเพื่อน ๆ เหยียดด้วยสายตา การล้อเลียนต่าง ๆ บวกกับสายตาที่ผู้ปกครองของเพื่อน ๆ ของลูกมองมายังเธอ ซึ่งสื่อสารเป็นภาษาฝรั่งเศสได้ไม่คล่อง เธอจึงกลายเป็นแม่ที่ไม่เอาไหนในสายตาของลูกสาว ซึ่งนั่นนับว่าเป็นความเจ็บปวดของคนเป็นแม่ แม่ที่ไม่สามารถทำให้ลูกสาวภูมิใจในตัวเธอได้ในขณะนั้น
เสียงหัวเราะของคนในครอบครัวฝั่งสามีกลับทำให้เธอเป็นทุกข์ สายตาชินชาจากคนรอบข้างบวกกับความคาดหวังของตัวเอง ความคาดหวังซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง ความกดดันจากสังคมภายนอกบวกกับความกดดันที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของเธอเอง คือสาเหตุที่ก่อให้เกิดความทุกข์ขึ้นกลางใจของเธอ จนกระทั่งเธอประสบกับสภาวะสูญเสียตัวตน ในสภาวะเช่นนี้เธอจึงกลายเป็นคนไม่มีคุณค่าในตัวเอง เพราะเธอไร้อำนาจในการควบคุมสิ่งต่าง ๆ นั่นเอง
การแสวงหาหนทางนำความทุกข์ออกจากใจ
จากที่ คิม ซ็อง ย็อน ได้เขียนในประวัติของเธอ เราจะเห็นได้ว่าเธอได้ศึกษาเกี่ยวกับ พระพุทธศาสนา และ ในขณะเดียวกันเธอเองได้ศึกษาลัทธิเต๋าอีกด้วย จนกระทั่งเธอได้พบกับปรัชญาของ คาร์ล ยุง เธอได้ศึกษาเกี่ยวกับการสำรวจจิตไร้สำนึก ตามแนวทฤษฎีของ คาร์ล ยุง*
จดหมายข่าวเกี่ยวกับยุงจากสถาบัน เซ.เก.ยุง ประจำประเทศเกาหลีใต้ กลับช่วยชีวิตเธอ ในวันที่เธออยากจบชีวิตตัวเองลง ด้วยประโยคที่ว่า “ความเมตตาชนะความยุติธรรม” แล้วเธอยังได้เข้าใจถึงความทุกข์ที่เกิดขึ้นในตัวเธอเองอีกด้วย
จากประโยคในหนังสือที่ว่า “สิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของฉัน สงครามของฉันไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตา เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในจิตใจนั่นเอง” กล่าวง่าย ๆ นั่นก็คือสภาพความเป็นจริง กับสิ่งที่เธออยากให้เป็นนั้นต่างกัน ความรู้สึกภายในของเธอจึงขัดแย้งกันเอง และ ตัวเธอเองก็ยังไม่สามารถหาหนทางที่จะออกจากจุดนั้นได้
เธอมี คาร์ล ยุง เป็นเพื่อนใจ เธอใช้กรอบการรับรู้ (Archetype) ในการรักษาตัวเอง จนกระทั่งวันหนึ่งเธอได้พบเจอกับ BTS โดยบังเอิญ แล้วเธอก็ได้ค้นหนทางดับทุกข์ พบกับอิสรภาพทางจิตใจของเธอเองอย่างสมบูรณ์ ในแบบของเธอ
หัวใจของเธอได้รับอิสรภาพเมื่อความทุกข์ของเธอได้รับการเยียวยา
การได้พบเจอกับเด็กหนุ่มทั้ง 7 เด็กหนุ่มที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความฝัน เด็กหนุ่มที่ใช้ความรักนำทางความฝันของพวกเขา เด็กหนุ่มที่เต็มไปเต็มเปี่ยมไปด้วยความใสซื่อ ถ้อยคำและบทเพลงที่กลั่นออกมาด้วยความจริงใจ เป็นจุดให้เธอกลับมามีความหวังขึ้นในหัวใจ ความมีชีวิตชีวากลับคืนสู่หัวใจของเธออีกครั้ง
BTS สามารถทำให้เธอเข้าถึงแนวทางแนวคิดของ คาร์ล ยุง โดยสมบูรณ์ด้วยประสบการณ์ทางจิตใจของเธอเอง ด้วยถ้อยคำจากเด็กหนุ่มซึ่งเปรียบเสมือนดวงดาวทั้ง 7 ของเธอ คือถ้อยคำที่ว่า “ให้เรายอมรับทางด้านดีและด้านไม่ดีในตัวเอง แสดงความเป็นตัวเองของเราออกมา และจงรักตัวเองนะ” ซึ่งสอดคล้องกับคำแนะนำของ คาร์ล ยุง ที่ให้กับผู้ป่วยของเขา คือ “จงกลับไปใช้ชีวิตของตัวเองเสีย”
ซึ่งตัว คุณคิม ซ็อง ย็อน เองยังได้เขียนไว้อีกว่า “BTS เข้ามาในจิตใจและช่วยเยียวยาฉันที่เจ็บช้ำและทำให้ฉันรับรู้ถึงความสุขของการมีชีวิตอีกครั้ง” บทเพลงและท่าทีของดวงดาวทั้งเจ็ดของเธอทำให้เธอได้เข้าถึงหลักคำสอนของ คาร์ล ยุง ได้อย่างแท้จริง
การกลับมาใช้ชีวิตของตัวเองตามโลกแห่งความเป็นจริง การยอมรับตัวตนของตัวเอง ทำให้เธอกลับมารักตัวเองจนกล้าแสดงความเป็นตัวเองออกมา
ถึงเส้นทางที่เธอเดินผ่านมาจะไม่ราบรื่น ถึงเธอจะไม่รู้หนทางในอนาคต แต่ ณ ตอนนี้เธอได้ค้นพบดวงดาวที่เปล่งประกายอย่างงดงามในตัวเธอแล้วล่ะ
จากเรื่องราวของ คุณคิม ซ็อง ย็อน เธอผู้ซึ่งได้รับการเยียวยา สะท้อนถึงตัวผู้เขียน ผู้ที่ได้รับที่พักใจจาก บังทัน ฯ เช่นเดียวกัน
เพราะเมื่อครั้งที่ผู้เขียนเอง ต้องพบเจอกับสภาวะแห้งแล้งทางจิตใจ ในวันที่ความอึดอัดถ่วงหนักอยู่ตรงกลางหัวใจ ในวันที่ตัวผู้เขียนเองพยายามดึงตัวเองออกจากความรู้สึกเหล่านั้น กลับได้ค้นพบกับคำว่า ยอมรับและโอบกอดความผิดพลาดของตัวเอง จากสุนทรพจน์ของ นัม จุน ทำให้สภาวะแห้งแล้งของจิตใจได้ค้นพบแหล่งน้ำที่ซุกซ่อนอยู่ในพื้นที่ของจิตใจของตัวเอง ผู้เขียนเองได้นำพาจิตใจที่ยังอ่อนแอเข้าไปพักในร้านเวทมนตร์ที่อบอุ่นในจักรวาลของบังทันและอาร์มี่ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้จักพวกเขาเลยด้วยซ้ำ แค่รู้สึกว่าที่นั่นคือที่ ๆ ปลอดภัย และสามารถวางใจในตัวพวกเขาได้ ซึ่งมันก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ
ในที่ ๆ ทำให้เรารู้สึกตัวเล็กลง ที่ ๆ ทำให้เรารู้สึกเคว้งคว้างไร้ตัวตน ที่ ๆ ถูกดูถูก ดูแคลน ในที่ ๆ ถูกตัดสินกันง่าย ๆ จากเชื้อชาติกำเนิด ในที่ ๆ คุณค่าในตัวเองหลุดลอยไปพร้อมกับความหวัง และแล้วแสงแห่งความหวังกลับเข้ามาอีกครั้งหนึ่งพร้อมกับความสดใส แต่สิ่งที่เป็นเส้นทางก่อนใจนั้นกลับถูกมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ ถึงตรงนี้ จากเรื่องราวของ คุณคิม ซ็อง ย็อน และผู้เขียน ในฐานะผู้ที่เคยประสบกับสภาวะห่อเหี่ยว สิ้นยินดียินร้าย และ ในฐานะ ARMY คนหนึ่ง ยังขอยืนยันความเชื่อของตัวเอง ณ ตอนนี้ ที่ว่า “ไม่มีอะไรไร้สาระเกินไปหรอกถ้าหากว่าสิ่งนั้นสามารถทำให้คน ๆ หนึ่งกลับมามีความหวังขึ้นมาได้อีกครั้ง”
ขอบคุณ คุณคิม ซ็อง ย็อน ที่ได้ออกมาแบ่งปันเรื่องราวการได้รับการเยียวยานี้ให้พวกเราได้อ่าน การขยายเรื่องราวดี ๆ ผ่านตัวหนังสือสามารถให้กำลังใจใครอีกคนหนึ่งได้อย่างที่ คุณคิม ซ็อง ย็อน พูดไว้จริง ๆ ค่ะ
หากคุณผู้อ่านท่านใดที่สนใจอยากจะอ่านเรื่องราวเต็ม ๆ ก็สามารถหาซื้อหนังสือ BTS ODYSSEY ได้แล้ว จากร้านขายหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ หรือจะสั่งทางออนไลน์กันได้เลยนะคะ
สุดท้าย เพราะการได้ฟังเรื่องราวสามารถเติมเต็มพลังใจได้ และผู้เขียนเองก็เชื่อว่า เพื่อน ๆ อาร์มี่ เอง ก็คงได้รับการโอบกอดจาก บังทัน ฯ ด้วยเช่นกัน ดังนี้แล้ว ผู้เขียนเองก็อยากฟังเรื่องราวเหล่านั้นจากเพื่อน ๆ อาร์มี่เช่นกันค่ะ หากเพื่อน ๆ คนไหน อยากจะแบ่งปันเรื่องราวเหล่านั้น ก็สามารถส่งข้อความมาทาง อีเมล sugadalek07@gmail.com นี้ได้เลย มาแบ่งปันเรื่องราวดี ๆ และมาเพิ่มกำลังใจให้แก่กันและกันนะคะ
* คาร์ล กุสทัฟ ยุง เป็นนักจิตบำบัดและจิตแพทย์ชาวสวิส ผู้ก่อตั้งสำนักจิตวิทยาวิเคราะห์ (Analytical Psychology)
เขียนโดย: I AM LUCKY 23
(อาร์มี่ อีกคนหนึ่งที่กำลังเก็บตังค์ซื้อ อาร์มี่บอมบ์ เช่นเดียวกับ คุณ บอกอ ค่ะ)