7 ปีที่แล้ว BTS บอกอะไรกับเรา? ย้อนดูเส้นทางการยอมรับและรักตัวเองที่นำมาซึ่งความสำเร็จระดับโลก

เส้นทางที่นำไปสู่ความสำเร็จในระดับปัจจุบันของ BTS ศิลปินปรากฏการณ์ K-Pop ระดับโลกที่สร้างสถิติและจารึกหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่าไม่ว่าจะปล่อยผลงานมากี่ครั้งนั้น ไม่ใช่เส้นทางที่เรียบง่ายหรือสำเร็จรูป พวกเขาผ่านคำวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับ ‘รูปลักษณ์’ และ ‘อัตลักษณ์’ จากคนในวงการเพลง จากผู้ที่ตัดสินพวกเขาจากเปลือกนอกด้วยความคิดเหมารวม คนที่ไม่พยายามเปิดใจฟัง ‘เพลง’ ซึ่งเป็นสื่อกลางที่ผู้คนพูดอย่างสวยหรูว่าเป็นสิ่งที่ข้ามกำแพงทางเชื้อชาติและภาษา แต่เมื่อถึงคราว BTS กลับไม่ใช้ทัศนะเดียวกันนี้ทำความเข้าใจพวกเขา

แต่ BTS ก็ยังคงมีปณิธานแน่วแน่ที่ไม่เสื่อมคลายไปตามกาลเวลา ครั้งหนึ่งพวกเขาถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับ ‘อัตลักษณ์’ ว่างานเพลงและจิตวิญญาณของพวกเขาไม่ใช่ฮิปฮอปของแท้ ครั้งหนึ่งพวกเขาไม่ได้รับการยอมรับเพียงเพราะฉีกกฎเกณฑ์เดิม ๆ และทำสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่า ‘บทเพลง’ วันนี้เราจะพาพวกคุณ ‘อาร์มี่’ ผู้ที่เชื่อมั่นใน BTS หรือแม้แต่ผู้ที่ยังคงคลางแคลงสงสัยในความสำเร็จของพวกเขา ได้ย้อนกลับไปอ่านบทสัมภาษณ์เมื่อ 7 ปีก่อน และบทวิเคราะห์ความสำเร็จสั้น ๆ แล้วคุณจะได้รู้ว่าปณิธานของพวกเขาในวันนั้น ตลอดจนเส้นทางการยอมรับอัตลักษณ์ของตัวเอง ได้กลายเป็นที่ประจักษ์ และนำไปสู่ความสำเร็จของพวกเขาในวันนี้ ที่ทั่วโลกต่างให้การยอมรับได้อย่างไร


พบกับฮิปฮอป: BTS SUGA x RM ‘เพลงที่เพราะก็คือเพลงที่ดี’ 

ในวงการเพลง ณ ปัจจุบัน (ในปี 2015) นั้น ฮิปฮอปกำลังรุ่งเรืองถึงขีดสุด เมื่อถึงวันที่รายการ Show Me The Money หรือ Unpretty Rapstar ออกอากาศ มักมีแต่ชื่อศิลปินฮิปฮอปครองอันดับคำค้นหาในเว็บพอร์ทัลต่าง ๆ และครองอันดับสูง ๆ บนชาร์ตเพลงอย่างไม่ขาดสาย ศิลปินต่างหันไปทำเพลงแนวฮิปฮอปกันมากขึ้น จนพัฒนาการเชิงคุณภาพก็รุดหน้าแซงปริมาณการทำเพลงฮิปฮอปที่เพิ่มมากขึ้น ณ เวลานี้ที่เรียกได้ว่าเป็น ‘ยุคทองของฮิปฮอปเกาหลี’ ขอเชิญมาพบกับศิลปินมากมายทั้งใต้ดินและบนดินผู้นำวงการในช่วง ‘พบกับฮิปฮอป’ กันเลย

“ว่ากันตามตรง เรากลัวที่จะมาให้สัมภาษณ์”

เราทราบดีว่าเหตุใดพวกเขาถึงบอกว่า ‘กลัว’ แต่ก็น่าเสียดายอยู่เหมือนที่คำ ๆ นี้ออกมาจาปาก RAPMONSTER (ปัจจุบันคือ RM) แห่ง BTS ผู้ที่นับว่าเป็น ‘ฮิปฮอปไอดอล’ มากฝีมือที่สุดในวงการเพลง ณ ปัจจุบัน เพียงเพราะพวกเขา BTS โดนดูแคลนว่าเป็น ‘ไอดอล’

แน่นอนว่าในอดีตนั้น มีไอดอลที่เดบิวต์ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ทันมีศักยภาพด้านงานเพลงเพรียบพร้อม หรือนำเสนองานเพลงลวก ๆ ประหนึ่งอาหารกึ่งสำเร็จรูปให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ถึงอย่างนั้น ตลาดไอดอลกว่า 20 ปีที่ผ่านมาก็ได้ลงหลักปักฐานเป็นกระแสนิยมหลัก ส่วนงานเพลงก็มีพัฒนาการมากขึ้นพอสมควร อีกทั้งยังมีหนุ่มสาวผู้มีพรสวรรค์และไอดอลที่มีความสามารถทางดนตรีและผลงานที่โดดเด่นปรากฏให้เห็นในแนวเพลงหลาย ๆ แนว

แต่ก็ยังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ยังติดภาพว่าพวกเขาเหล่านี้ ‘ยังไงเสียก็ยังเป็นไอดอล’ ด้วยเหตุนี้ ‘เพลงฮิปฮอปของ BTS’ จึงเรียกได้เลยว่าเป็นซีรี่ส์การต่อสู้กับอคติที่พวกเขาต้องเผชิญจากการเป็นไอดอล

สายตาของสาธารณชนจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรหลังจากนี้ก็ขึ้นอยู่กับผลงานของไอดอลผู้มีพรสวรรค์เหล่านั้น BTS เองก็เช่นกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือ การ ‘เป็นหรือไม่เป็นไอดอล’ ไม่ควรเป็นเกณฑ์ที่จำแนกว่า ‘เป็นหรือไม่เป็นฮิปฮอป’ โดยเด็ดขาด และข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้นั้นก็คือ BTS เป็นทั้ง ‘ไอดอล’ และ ‘วงฮิปฮอป’ ที่ยอดเยี่ยมนั่นเอง

เพลงที่เพราะก็คือเพลงที่ดี

บทสัมภาษณ์นี้ไม่มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับการโปรโมตมินิอัลบั้ม ‘The Most Beautiful Moment in Life pt.1’ แต่อย่างใด แต่เนื่องจากพวกเขาให้สัมภาษณ์ก่อนโปรโมตเพลง DOPE พอดี เราจึงได้เริ่มพูดคุยกันด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับอัลบั้ม

MV เพลง DOPE

RM กล่าวถึง DOPE เพลงรองในอัลบั้มนี้ “เราเว้นช่วงโปรโมตจากเพลง ‘I Need You’ เพราะต้องการนำเสนอเพลงนี้อย่างจริงจัง แม้เพลงนี้จะเป็นเพลงรองก็ตาม เราไม่ได้เตรียมการต่างหากสำหรับเพลงรอง แต่เพลงนี้เป็นเพลงหนึ่งในอัลบั้มที่เราวางกำหนดการไว้แล้ว เราจึงอยากทำให้ดีครับ เราทั้งถ่ายปกใหม่ ถ่าย MV ใหม่ คิดท่าเต้นใหม่… เราเตรียมการสำหรับการโปรโมตครั้งนี้เหมือนเป็นสิ่งที่ปล่อยออกมาอีกครั้งอย่างเต็มรูปแบบเลยครับ”

SUGA เสริม “เราไม่ได้รู้สึกกดดันอะไร เราเป็นพวกที่เตรียมการไว้เยอะ ๆ อยู่แล้ว”

อัลบั้ม ‘The Most Beautiful Moment in Life pt.1’ นั้นมีสิ่งหนึ่งที่แตกต่างไปจากอัลบั้มที่ผ่านมาของ BTS นั่นคือการไม่มีแทร็ก ‘Cypher (แทร็กที่แรปเปอร์ใช้เล่าเรื่องราวของตัวเองแบบฟรีสไตล์)’ ที่พวกเขาใส่ไว้ในทุกอัลบั้มมาตลอด

RM อธิบาย “มีคนที่รอแทร็ก Cypher อยู่เหมือนกัน แต่พอเราทำแทร็กนี้มาเรื่อย ๆ กระแสตอบรับมันก็น้อยลง คราวนี้เราจึงตั้งใจพักแทร็กนี้เอาไว้ก่อนครับ อัลบั้มนี้ปล่อยออกมาในรอบ 8 เดือน ในขณะที่รอบการปล่อยอัลบั้มก่อนหน้านี้อยู่ในช่วง 4-6 เดือนซึ่งค่อนข้างสั้น เรารู้สึกว่าหากถ้าใส่แทร็ก Cypher ไปด้วยก็คงจะคล้ายเดิมเกินไป เราจึงตัดสินใจพักแทร็กนี้ไว้ก่อนเพื่อให้ผู้คนได้เห็นภาพลักษณ์ของพวกเราที่ดูดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป”

น่าเสียดายที่พวกเขาไม่ได้ใส่แทร็ก Cypher ลงในอัลบั้ม ‘The Most Beautiful Moment in Life pt.1’ แทร็ก Cypher นั้นเป็นแทร็กแสดงอัตลักษณ์ของ BTS ในฐานะศิลปินเพลงฮิปฮอปได้ชัดเจนที่สุด และแสดงให้เห็นว่าแทร็กนี้เกิดขึ้นได้ด้วยความเป็น BTS เพราะเมมเบอร์ลงมือแต่งเพลงและคำร้องด้วยตัวเอง

RM อธิบายถึงแนวทางการทำงานอัลบั้ม “เมมเบอร์ได้มีส่วนร่วมในการทำอัลบั้มมากกว่าครึ่งเลยครับ ประมาณ 60% ได้? ทุก ๆ ครั้งที่จะปล่อยอัลบั้ม พวกเขาก็จะมีส่วนร่วมมากขึ้นเรื่อย ๆ พวกเราแรปเปอร์ไลน์ทั้ง 3 คน ผมกับ SUGA และ j-hope รับหน้าที่เกือบทั้งหมดอยู่แล้ว แต่ตั้งแต่อัลบั้มที่แล้วมา เมมเบอร์คนอื่น ๆ ก็ได้มาลงมือทำแทร็กกันด้วย พอพวกเขาเห็นสิ่งที่เราทำเข้าบ่อย ๆ พวกเขาเองจึงกระหายอยากทำเพลงบ้าง และได้มาลงมือทำอัลบั้มนี้กันเยอะเลยครับ”

ในส่วนนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องเผยให้เห็นคือบทบาทของบังชีฮยอกในฐานะโปรดิวเซอร์หลัก RM กล่าว “ถือเสียว่าเขาเป็นไดเร็กเตอร์ที่คอยตรวจสอบและจับทิศทางก็ได้ครับ เขารับบทบาทปรับสมดุลของอัลบั้มโดยรวม เขาชอบบอกเราว่า ‘อยากเห็นในสิ่งที่พวกนายทำ’ แล้วก็ปล่อยให้พวกเราทำงานไปครับ”

SUGA ยังเผยอีกว่าโปรดิวเซอร์บังชีฮยอกไม่ได้มีเอี่ยวในงานโปรดิวซ์ขนาดนั้น “พอทำเพลงกันเสร็จ เขาก็จะเป็นคนทำหน้าที่ตัดสินใจขั้นสุดท้าย ถึงอย่างไรแล้วเขาก็อาวุโสในด้านงานเพลงมากกว่าเรา เขาจึงเป็นคนตัดสินใจแทนเรา ซึ่งก็มีส่วนช่วยสำหรับเรามาก ๆ เพราะเขามีมุมมองในเพลงสมัยนิยมมากกว่าพวกเรานั่นเอง แม้เพลงรองจะเป็นไปตามที่เราต้องการให้เป็น แต่ยังไงเสีย เพลงไตเติ้ลก็ต้องเป็นไปตามกระแสนิยมของสาธารณชนครับ”

SUGA “คนส่วนใหญ่ในเกาหลีมักนึกถึงคนแต่งทำนองเพลงเมื่อพูดถึงโปรดิวเซอร์ แต่ในความเป็นจริงแล้วเรียกได้ว่าโปรดิวเซอร์คือผู้ที่ทำการสรุปและกำกับควบคุม ผมทำเพลงด้วยความรู้สึกนี้มาตลอดเลยครับ เรามี Pdogg เป็นโปรดิวเซอร์ที่รับหน้าที่ทำแทร็กต่างหาก ซึ่งในส่วนนี้ผมทำหน้าที่รองในงานโปรดิวซ์ครับ”

หลาย ๆ เพลงของ BTS ที่ผสมผสานการริฟฟ์กีตาร์ที่ค่อนข้างเฮฟวี่ลงในบีตฮิปฮอปคือสิ่งที่พิเศษในงานเพลงของ BTS ซึ่ง SUGA เองก็เห็นด้วยกับข้อนี้ “ใช่ครับ ถ้าได้ฟังเพลงในอัลบั้มของพวกเราก็จะพบว่า เราใส่ซาวด์อิเล็กโทรนิกและซาวด์กีตาร์ลงไปเยอะพอสมควร”

RM พูดถึงการจงใจใช้ซาวด์กีตาร์อยู่บ่อย ๆ “ผมมองว่ามันเป็นบทบาทสำคัญที่ทำให้ผู้คนรู้สึกตื่นเต้น ผมจึงให้ความสำคัญในเซสชันนี้มาก ๆ อย่างในกรณีของเพลงไตเติ้ล เราก็ขอให้คนดัง ๆ ในอเมริกาช่วยเล่นดนตรีให้เราด้วย” (ด้วยเหตุนี้ เพลงของ BTS ในเวอร์ชั่นแสดงสดจึงสนุกสนานยิ่งกว่าทั้งสำหรับคนร้องและคนฟัง)

แต่ก็ไม่ใช่ว่างานเพลงของ BTS ตั้งใจทำซาวด์ที่พิเศษ RM อธิบายว่า “พวกเรามีรากฐานอยู่ที่งานเพลงฮิปฮอป แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราตั้งใจตีกรอบอยู่ที่ซาวด์ East Cost, ซาวด์ West Coast หรือ ซาวด์ Old-school Boombap ต่อให้ไม่ใช่ฮิปฮอป ผมคิดว่าในแนว EDM หรือแนวป็อปก็มีกลิ่นอายดี ๆ อยู่เหมือนกัน ซึ่งผมก็ได้รับอิทธิพลมาจากสิ่งเหล่านั้นนี่แหละครับ”

SUGA เองก็ให้ความเห็นเกี่ยวกับสไตล์งานเพลงที่ฟรีสไตล์ “ยุคนี้มันบอกกันไม่ได้ว่าเรามีรากฐานอยู่ที่ไหน เราไม่ใช่วงที่พอใครฟังแล้วรู้เลยว่าเป็นสไตล์จากภูมิภาคไหนเหมือน Kendrick Lamar เราก็แค่ชอบเพลงฮิปฮอปเท่านั้นเองครับ เราอาจจะหยิบยืมซาวด์แบบร็อก ป็อป หรือ EDM มาใช้โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ฮิปฮอปก็ได้ เราตั้งใจที่จะไม่ติดอยู่กับการแบ่งแนวเพลงครับ”

ด้วยคุณค่าในงานเพลงเช่นนี้ งานเพลงของ BTS จึงมีสไตล์เป็นของตัวเองโดยที่ไม่เอาแต่ไล่ตามเทรนด์ เห็นได้จากงานเพลงของพวกเขาที่ใช้ซาวด์อิเล็กโทรนิกน้อยกว่าฮิปฮอปไอดอลวงอื่น ๆ และเน้นเมโลดี้ไลน์ 

SUGA ตอบอย่างรัดกุม “ผมมองว่าถ้าฟังเพลงแล้วรู้สึกเพราะ ก็แสดงว่าเป็นเพลงที่ดีเท่านั้นเลยครับ”

เขายังเผยถึงความมุ่งมั่นที่มีต่อการทำ ‘เพลงที่เพราะ’ ไว้ด้วยว่า “จริง ๆ แล้วเวลาทำเพลงไตเติ้ลนั้น มีสิ่งที่เราต้องไตร่ตรองอยู่หลายอย่างเลยครับ พอฟังแล้วรู้สึกว่ามันเพราะก็เป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็มีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอยู่หลายอย่าง เช่น การแสดง ความแม่นยำในการแรป การร้อง การแบ่งท่อนร้อง ฯลฯ เราคำนวณหลายอย่างสำหรับเพลงไตเติ้ลอยู่พอสมควร เราเรียกขั้นตอนนี้ว่าเป็นการทำเพลงไตเติ้ลโดยเฉพาะ และทำเพลง ๆ เดียวออกมาเป็นเวอร์ชั่นต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ”

นอกจากนั้น RM และ SUGA ยังให้คำมั่นเกี่ยวกับอัลบั้มถัดไปไว้ด้วยว่า “เรากำลังจะเริ่มทำอัลบั้ม ‘The Most Beautiful Moment in Life pt.2’ กันแล้ว เรามองว่าเราช่ำชองและมีพัฒนาการทั้งในด้านจิตใจและงานเพลงมากกว่าตอนเดบิวต์มาก ๆ เราจะกลับมาพร้อมกับงานเพลงดี ๆ ครับ”

ไอดอลกับฮิปฮอป

สาเหตุที่ทำให้ BTS สร้างสรรค์ผลงานได้ลำบากเป็นเพราะอคติที่มองว่าพวกเขาเป็นไอดอล ด้วยความที่พวกเขาเป็นไอดอลนี้เอง พวกเขาเองจึงต้องถอยหลังมาก้าวหนึ่ง อีกทั้งยังต้องเก็บความกระหายที่ยากจะล้มเลิกของตัวเองเอาไว้อีกด้วย

RM เอ่ยปาก “ในช่วงแรก ผมต่อต้านที่จะเดบิวต์เป็นไอดอล เพราะจู่ ๆ วงก็เปลี่ยนไปทั้ง ๆ ที่เดิมทีเราตั้งใจจะเป็นวงแรป แต่พอได้ฝึกซ้อมไป ผมก็คิดได้ว่าผมก็ยังได้ทำเพลงของผมแม้จะเป็นวงไอดอลก็ตาม”

SUGA เผย “เมื่อเราได้ให้ เราก็จะได้อะไรมาครอบครอง เราไม่มีอะไรบกพร่องด้านงานเพลง เราทำในสิ่งที่เราอยากจะทำ”

พวกเขาได้แสดงให้เห็นว่าหลุดพ้นจากข้อถกเถียงว่าเป็นไอดอลหรือฮิปฮอปไปมากเลยทีเดียว

RM เผยความรู้สึกที่แท้จริง “ผมเองก็เข้าใจครับว่าเราต้องเผชิญกับคำดูถูกดูแคลนเมื่อเราถูกเรียกว่าเป็นไอดอล ผมเปิดรับคำพูดพวกนั้นมากขึ้นแล้ว ผมเลิกคิดว่าเพลง ‘ใกล้เคียงฮิปฮอปแค่ไหน’ ถ้าฟังเพลง ๆ นึงแล้วรู้สึกว่า ‘ก็โอเคนะ’ ก็แสดงว่าเพลงมันดี หรือถ้าไม่ก็คือไม่ก็แค่นั้น”

SUGA อธิบายถึงสาเหตุที่ไม่ได้นำพาร์ตฮิปฮอปมาเป็นส่วนดึงดูดความสนใจของผู้ฟัง “คนทำเพลงไม่ใช่คนตัดสินหรอกครับ คนฟังต่างหากที่เป็นคนตัดสิน เพราะฉะนั้นในท้ายที่สุดแล้ว ถ้าเพลงไม่ตรงจริตเรา ๆ ก็ไม่ชอบ ถ้าเพลงตรงจริตเรา ๆ ก็ชอบก็แค่นั้นเลย จริตของคนฟังมันต่างกัน จะให้เราไปบอกเองเลยว่า ‘เพลงนี้เป็นอย่างนี้นะ’ ก็คงไม่ใช่ครับ”

พวกเขาทราบดีว่าอาวุธที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับคนทำเพลงก็คืองานเพลง RM กล่าว “ท้ายที่สุดแล้วผมมั่นใจว่าคนที่จะรับรู้ก็จะรับรู้ คนที่จะชอบก็จะชอบ” SUGA ให้คำมั่นว่าจะเปลี่ยนภาพจำของผู้คนที่มีต่อพวกเขาด้วยงานเพลงดี ๆ “ผมคิดว่าเดี๋ยวภาพจำก็จะค่อย ๆ เปลี่ยนไปครับ ด้วยความที่สมัยนี้เป็นยุคที่คนฟังเพลงเพราะได้ยินมามากกว่าไปหาเพลงฟัง ถ้าหลาย ๆ คนบอกว่าเพลงมันเพราะ ก็แสดงว่ามันเป็นเพลงที่ดี เราก็แค่ทำเพลงดี ๆ ออกมาต่อไป จากนั้นก็รับฟังฟีดแบ็กและทำเพลงที่ดีกว่าเดิมออกมา แล้วก็ให้คนทั่วไปเป็นคนตัดสินครับ”

การเดบิวต์เป็นไอดอลนั้นก็มีข้อได้เปรียบอยู่เหมือนกัน SUGA กล่าว “ผมคิดว่าการเดบิวต์เป็นไอดอลนั้นมีข้อได้เปรียบด้านงานเพลง เรามีโอกาสทำเพลงให้คนจำนวนมากได้ฟัง”

ถึงอย่างนั้นแล้ว พวกเขาก็พูดไม่ได้เหมือนกันว่าเพลงที่ทำให้คนจำนวนมากฟังคือเพลงที่พวกเขาอยากทำจริง ๆ

SUGA เผยถึงความกังวลที่เขามีต่องานเพลงของเขาเองและงานเพลงของ BTS “ผมไม่ได้พึงพอใจในงานเพลงของ BTS ผมก็เลยทำงานเพลงส่วนตัวไปเรื่อย ๆ ว่ากันตามตรง งานเพลงที่ผมอยากทำ ไม่สามารถแสดงออกมาผ่านอัลบั้มของ BTS ได้ 100% ผมทำเพลงให้คนทั่วไปฟังเพราะพวกผมเป็นไอดอล แต่ผมก็พยายามหาจุดกึ่งกลางระหว่างงานเพลงของตัวเองและงานเพลงของ BTS ด้วย”

และวิธีการจัดการกับความกังวลของเขาก็คือการ ‘สร้างสรรค์ผลงาน’ SUGA พูดถึงการพยายามหาจุดสมดุล “แค่จำนวนเพลงที่ผมทำตลอด 2 ปีที่ผ่านมาก็เกิน 60 เพลงแล้วครับ ผมทำเพลงไปมากขนาดนั้นเลย ถ้ารวมงานฟีตเจอร์ริงและงานมิกซ์เทปของ RM ด้วยก็ 80 เพลงได้ แม้แต่ Lil Wayne ก็ยังไม่ทำเพลงขนาดนี้ ผมกำลังพยายามและท้าทายอะไรหลาย ๆ อย่างครับ”

ถ้าอย่างนั้น SUGA และ RM คิดว่า BTS กำลังยืนอยู่จุดไหน 

SUGA ตอบอย่างเหนือความคาดหมาย “ผมว่าเรียกอัลบั้มของ BTS ว่าเป็น ‘เพลงฮิปฮอป’ ก็เกินไปครับ” เขาให้เหตุผลว่า “ผมไม่คิดว่าเดี๋ยวนี้เขาให้ความสำคัญว่า ‘แรปได้ดี’ หรือ ‘นี่คือแนวฮิปฮอป’ เพราะ ‘ทัศนคติ’ ต่างหากที่สำคัญ”

SUGA ยังแสดงให้เห็นถึงความสุขุมต่อข้อถกเถียงที่ยืดเยื้อเกี่ยวกับแนวเพลงไว้อีกว่า “อย่างที่ผมพูดไปเมื่อสักครู่นี้ว่าเพลงที่เพราะก็คือเพลงที่ดี ผมอยากทำอะไรดี ๆ ทำเพลงดี ๆ ไม่ใช่ ‘เพลงที่เพราะเพราะเป็นฮิปฮอป’ แน่นอนว่าแต่ก่อนผมเอาแต่คิดว่า ‘เพราะอะไรกันล่ะ…’ แถมยังไม่ยอมรับภาพจำของคนทั่วไป แต่ตอนนี้ผมกลับอยากทำเพลงที่ทำให้หลาย ๆ คนรู้สึกประทับใจ และเคี่ยวเข็ญว่า ‘เพลงนี้เป็นอย่างนี้’ น้อยลงครับ”

RM เสริม “สิ่งที่น่ากลัวระหว่างมาให้สัมภาษณ์ครั้งนี้นั่นก็เพราะแค่เราอยู่ใต้หัวข้อ ‘พบกับฮิปฮอป’ ก็อาจกลายเป็นข้อถกเถียงขึ้นมาได้ ด้วยตัวคอนเทนต์แบบไอดอล คนที่เขาฟังเพลงฮิปฮอปมานานเลยคิดว่าเพลงของ BTS ห่างไกลจากฮิปฮอปอยู่มาก แต่เราเองก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมหรอกครับ พวกเขาจะคิดว่า ‘พวกนี้ก็ยังมีความเป็นฮิปฮอป’ หรือ ‘พวกนี้ก็แค่ไอดอล’ ก็ไม่เป็นไรเพราะมันก็เป็นเรื่องจริงครับ คนพวกนั้นคงมีนิยามความเป็นฮิปฮอปในแบบของตัวเอง เราไม่ได้ขอให้ยอมรับว่าเราเป็นศิลปินฮิปฮอป เราก็แค่อยากให้เห็นตามที่เห็นนั่นแหละครับ”

จริงอยู่ที่ SUGA และ RM สุขุมต่อข้อถกเถียงที่เกิดขึ้น แต่กว่าพวกเขาจะมาถึงขั้นนี้ได้ก็ต้องสัมผัสความทุกข์ทรมานทางจิตใจที่หนักหน่วงพอสมควร SUGA อาจไม่ได้เอาใจใส่ในเรื่องหยุมหยิมมากนัก แต่ด้วยธรรมชาติของ RM ที่เจ็บปวดกับเรื่องเล็กน้อยไปทุนเดิม เขาเผยว่าเขาเองก็ลำบากอยู่พอสมควร

RM เผยถึงสภาพจิตใจที่มั่นคงเมื่อยอมรับว่าตัวเอง ‘ไม่เอาไหน’ “คนที่ฟัง Mixtape ของผมบอกว่า “ทำไมไอ้นี่ถึงดูด้อยจัง’ มันเป็นธรรมชาติของผมเองครับที่รู้สึกแย่และเจ็บใจ ผมเองก็ยอมรับครับว่า ‘จริง ๆ แล้วผมมันไม่เอาไหน’ ผมไม่ยอมรับเรื่องพวกนี้มาหลายปี แต่คนประเภทนี้ก็ต้องใช้ชีวิตแบบนี้แหละ ผมต้องอาศัยกระบวนการยอมรับตัวเอง แล้วหลังจากนั้นผมถึงจะยกภูเขาออกจากอกได้ ซึ่งผมว่าพอได้พูดถึงเรื่องนี้แล้วก็ทำให้ผมพูดถึงเรื่องอื่น ๆ ได้เยอะขึ้นครับ 

RM ผู้เคยเจ็บปวดจากการอ่านทุกคอมเมนต์เกี่ยวกับตัวเองในอดีต เผยรอยยิ้มและกล่าวเสริมว่า “คอมเมนต์ที่ใช้ความคิดเพียง 5 วินาทีพิมพ์ออกมาว่า ‘ฉันไม่ชอบไอ้นี่’ มันติดอยู่ในความคิดผมถึง 5 ชั่วโมงหรือ 5 วัน มันไม่มีคุณค่าอะไรเลยแต่ผมกลับเก็บแต่ละคอมเมนต์มาคิด ตอนนี้ผมเลิกอ่านไปแล้วเพื่อสุขภาพของผมเอง นี่แหละครับคือสิ่งที่ผมได้รับจากการปล่อยมิกซ์เทป”

อาจเพราะความอุตสาหะของพวกเขาส่งผล RM กับ SUGA บอกว่าบางครั้งก็สัมผัสได้ว่าภาพจำที่มีต่อพวกเขาค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปทีละนิด

SUGA และ RM กล่าว “ภาพจำต่าง ๆ มันเปลี่ยนไปเล็กน้อยจริง ๆ ครับ มันกลายเป็นข้อแตกต่างระหว่าง ‘มีคุณสมบัติ’ กับ ‘ไม่มีคุณสมบัติ’ คนที่ไม่รู้จักเราก็ไม่แม้แต่จะเอ่ยถึงเรา ส่วนคนที่ลองฟังเพลงของเรามาบ้างก็มีเรื่องให้พูดคุย พอได้เห็นหลาย ๆ คนบอกว่า ‘ถึงยังไงแล้วพวกนี้ก็ควรค่าแก่การติดตาม’ แค่นี้ก็ทำให้เราโล่งใจแล้วครับ”

SUGA เสริม “ยังไงเสีย คนทำเพลงอย่างเราก็อยากได้รับการยอมรับด้านงานเพลง ไม่ว่าจะเป็นการแรป การทำเพลง ทำบีต หรือเรียบเรียงเพลงก็ตาม เราจะทำเพลงไปอีกนาน ไม่ใช่แค่ปีสองปี ดังนั้นถึงแม้ว่าจะไม่ได้รับการยอมรับในทันทีผมก็ไม่ได้วิตกอะไรเท่าไหร่ แต่สิ่งหนึ่งที่อยากจะให้สัญญาไว้ก็คือ ถึงแม้เราจะทำให้ทุกคนหันมาชอบเราไม่ได้ แต่เราจะทำให้หลาย ๆ คนหันมาฟังเพลงของเรา และเราก็จะทำงานเพลงต่อไปครับ”

สุดท้ายนี้ RM และ SUGA บอกให้เรารู้อีกครั้งว่าฮิปฮอปที่พวกเขาและ BTS แสวงหาคือสิ่งไหน “ถ้าเกลียดพวกเรา ๆ ก็คงทำอะไรไม่ได้ แต่เดี๋ยวต่อไปพวกคุณก็จะชอบพวกเรามากขึ้น เพราะฉะนั้นหากเปิดใจมองพวกเรา คุณก็จะชอบพวกเรามากขึ้นแน่นอน”, “ไม่ว่าจะเป็นตอนไหน เราก็แค่จะทำเพลงดี ๆ ให้ฟังก็เท่านั้นเองครับ”


สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงกระบวนการยอมรับและรักตัวเองในแบบฉบับ BTS นอกจากเคมเปญ ‘Love Myself’ ร่วมกับองค์กร UNICEF และเนื้อเพลงหลาย ๆ เพลงในซีรี่ส์อัลบั้ม Love Yourself แล้ว อีกตัวอย่างสำคัญที่ผู้เขียนอยากจะหยิบยกขึ้นมาคือ เพลง IDOL เพราะนอกจากเพลงนี้จะเป็นการปลดล็อก ป่าวประกาศตัวตน และยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น เพลงนี้ยังมีนัยแฝงเกี่ยวกับการโอบรับ ‘อัตลักษณ์ความเป็นเกาหลี’ ผ่านองค์ประกอบทางภาษาและวัฒนธรรม องค์ประกอบทางศิลป์ และองค์ประกอบทางดนตรี อีกทั้งยังเป็นเสมือนคำตอบที่ครบ จบ ในเพลงเดียว สะท้อนถึงสิ่งที่พวกเขาได้กล่าวไว้เมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา

MV เพลง IDOL

ส่วนหนึ่งจากหนังสือ BTS The Review วิเคราะห์ความสำเร็จของ BTS โดยนักวิจารณ์เพลง อาจารย์คิมยองแด เผยความประทับใจพร้อมเกร็ดความรู้เกี่ยวกับนัยต่าง ๆ ในเพลง IDOL ไว้ว่า

“…ความน่าตื่นตาตื่นใจจากเพลง ‘IDOL’ ไม่ได้มีเพียงแค่งานเพลงและการแสดงที่เหนือชั้น เพราะเนื้อหาของเนื้อเพลงทำให้เราได้ขบคิดถึงหลายสิ่งหลายอย่าง เพลงนี้น่าสนใจตรงที่มีเนื้อหาพูดถึงอัตลักษณ์ ‘ไอดอล’ ที่พวกเขาเป็น ไอดอลพูดถึงไอดอลก็น่าตกตะลึงอยู่แล้ว แต่เนื้อหาที่แปลกใหม่กลับทำให้ผมประหลาดใจยิ่งกว่า ‘You can call me artist, you can call me idol’ พวกเขาเอ่ยปากว่าจะเรียกพวกเขาว่าศิลปินหรือไอดอลก็ได้ และจากนั้นก็ประกาศว่าต่อให้ใครจะว่าอย่างไร พวกเขาก็ยังเป็นพวกเขาอยู่ดี การยอมรับในตัวเองช่วยให้ความกังวลที่เหลือเพียงหยดสุดท้ายมลายหายไปผ่านการโห่ร้องแสดงความสนุกสนานรื่นเริงว่า ‘ออลชีกู ชีฮวาจา (얼씨구 지화자)1’ และข้ามไปสู่ ‘ฉาก’ ที่ BTS และทุก ๆ คนมาร่วมเฉลิมฉลองโดยพร้อมเพรียงกัน การเต้นเป็นหมู่คณะในสไตล์แฟลชม็อบ ที่คล้ายคลึงกับลักษณะล้อมวงร้องเพลงตามประเพณีพื้นบ้านแบบ พุงมุล2 ให้ความรู้สึกที่ลึกซึ้งที่สอดคล้องกับถ้อยคำแห่งการยอมรับและรักตัวเอง แม้ว่าดนตรีจะออกจะสดใสก็ตาม ส่วนเนื้อเพลงของเพลง ‘IDOL’ ก็สอดคล้องกับถ้อยคำที่พวกเขาบอกให้ ‘รักตัวเอง’ อยู่ตลอดอีกเช่นกัน เพลงนี้จึงไม่ใช่แค่บอกเล่าตัวตนที่พวกเขาเป็น แต่กลับหยิบยกถ้อยคำปลอบโยนและความปรองดองมาสื่อสารกับคนหนุ่มสาวในยุคปัจจุบัน เราไม่ควรมองเพียงว่าอัตลักษณ์ของเพลงสมัยนิยมเกาหลีเป็นสิ่งที่อยู่ในขนบธรรมเนียมของ ‘ชนชาติ’ เกาหลี แต่ควรพิจารณาด้วยว่ามันจะสร้างสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างผู้คนที่อาศัยอยู่ในสังคมนี้ และจะสร้างอิทธิพลที่ดีได้อย่างไร ผมพูดได้เลยว่าเพลง ‘IDOL’ และอัลบั้ม LOVE YOURSELF 結 ‘Answer’ มีอัตลักษณ์และจิตวิญญาณแห่งยุคสมัยของเพลงสมัยนิยมเกาหลี อีกทั้งยังเจิดจรัสท่ามกลางเพลงสไตล์ ‘ตะวันตก’ และ ‘ไม่กำหนดสัญชาติ’ ที่วงการ K-Pop สร้างสรรค์ขึ้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา”

“…ผมเดาว่าการพรรณนาความรู้สึกที่เป็นเอกลักษณ์และคำร้องที่จริงใจในซีรีส์ ‘The Most Beautiful Moment in Life’ เป็นสิ่งที่จุดประกายเรื่องราววัยเด็กและความอ่อนไหวในยามวัยรุ่นของผู้คนวัยกลางคนขึ้นมาอีกครั้ง สอดคล้องกับที่แฟน ๆ วัยกลางคนรู้สึกว่า “ได้รับการปลอบโยน” เมื่อฟังเพลงของ BTS ท้ายที่สุดแล้วสิ่งเหล่านี้ต่างเชื่อมโยงกับถ้อยคำแห่งการเยียวยาผ่านการตระหนักเรื่องการรักตัวเอง ตามที่ซีรีส์ ‘LOVE YOUSELF’ ได้เน้นย้ำไว้ เพลงของ BTS ล้วนทำให้ผู้ที่โหยหาวัยหนุ่มสาว ผู้ที่ยังทะนุถนอมจิตวิญญาณวัยรุ่น ผู้ที่เวลานี้เป็นพ่อแม่คนและหวนนึกถึงตัวเองในวัยเยาว์เมื่อมองดูลูก ๆ เกิดความประทับใจเหมือน ๆ กัน ถ้อยคำที่เป็นสากลและมีพลังรวมแฟน ๆ ต่างวัย ต่างเพศ ต่างชาติ ต่างภาษาจนกลายเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ซึ่งใครจะไปคาดคิดว่าขุมพลังที่ทำให้ผู้เกิดความรู้สึกร่วมกันจะไปอยู่ในเพลงของวงไอดอล K-Pop ได้”

1 지화자 ชีฮวาจา คือ เสียงที่เปล่งให้ตรงกับเพลงหรือการเต้นเพื่อให้เกิดความสนุกสนาน คำนี้ใช้เป็นคำอุทานแสดงความรู้สึกชื่นมื่นรื่นเริงระหว่างแสดงการละเล่นของคนเกาหลีในสมัยก่อน โดยมีรูปแบบการใช้มากมาย เช่น “ออลซู (얼쑤)” “ออลซู โชทา (얼쑤 좋다)” “ชีฮวาจา โชทา (지화자 좋다)” ตามที่ปรากฏในเนื้อเพลง ‘IDOL’ นอกจากนั้นยังมี “ออลชีกู ชีฮวาจา (얼씨구 지화자)” “ออลชีกู ชีฮวาจา โชทา (얼씨구 지화자 좋다)” เป็นต้น คำอุทานเหล่านี้ใช้เป็นเสียงร้องคั่นให้จังหวะ หรือ ชูอิมแซ (추임새) ใน พันโซรี หรือเพลงพื้นบ้านของเกาหลีอีกด้วย

2 풍물놀이 พุงมุลโลรี หรือ 풍물굿 พุงมุลกุด เรียกง่าย ๆ ว่า 풍물 คือ ดนตรีที่บรรเลงเพื่อให้เกิดความสนุกสนานระหว่างงานเทศกาลหรือการทำงานร่วมกันในหมู่บ้านที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม พุงมุล ประกอบด้วยเครื่องดนตรี  แกวงกวารี (ฆ้อง) ชังกู (กลอง) พุก (กลอง) ชิง (ฆ้อง) นาบัล (แตร) แท-พยองโซ (ปี่) และ โซโก (กลอง) คำนี้ใช้บ่งบอกถึงการบรรเลงเครื่องดนตรี ลีลาการเคลื่อนไหวเป็นหมู่คณะ

ผู้เขียนหวังว่าความมุ่งมั่นตั้งใจของ BTS ที่อยากเอาชนะใจผู้ฟังด้วยผลงานคุณภาพ การยอมรับตัวเองบนเส้นทางที่ตัวเองเลือกเดิน การถ่ายทอดสิ่งที่แม้แต่ BTS เองก็ยังคงเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับผู้ที่ชื่นชมพวกเขา จะทำให้ผู้อ่านได้ตกตะกอนทางความคิด ได้รับแรงบันดาลใจ และทำให้คนที่ยังไม่เปิดใจได้รับอะไรกลับไปจากบทความนี้ วันหนึ่ง ตัวเลขและสถิติความสำเร็จของ BTS อาจกลายเป็นอดีต แต่สิ่งที่ไม่มีทางเสื่อมคลายไปตามกาลเวลา คือคุณค่าที่ BTS ได้ฝากเอาไว้ผ่านบทเพลงของพวกเขานั่นเอง


“…การที่จะพูดว่า ‘รักตัวเอง’ ออกมามันทั้งง่ายและยากในเวลาเดียวกัน จริง ๆ แล้วคำจัดความของความรักมันคืออะไรและสีสันของความรักจะเป็นได้สักกี่รูปแบบกัน รักมันไม่ต่างอะไรกับปริซึมเลยครับ มีแต่คนที่มีใจนึกถึงตัวเองจริงๆ ถึงจะเข้าใจในคำพูดนั้น คีย์เวิร์ดที่เป็นรูปธรรมในมุมมองของผมก็คือคำว่า ‘ความกล้า’ และ ‘การให้อภัย’ อาจเพราะหลาย ๆ ด้านที่น่ารังเกียจของตัวเรา หรือเพราะเราไม่มีความกล้าที่จะเผชิญหน้ากับความจริงและสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งหากเรามีความกล้าที่จะเผชิญสิ่งต่าง ๆ มากพอ ผมคิดว่าสุดท้ายแล้วมันก็เป็นสิ่งที่ทำให้เรารักตัวเอง คำที่ไม่มีความหมายอะไรเลยกลับกลายเป็นคำที่พิเศษขึ้นมาอย่างมากเลยสำหรับผมในช่วงนี้”

— RM, 27 สิงหาคม 2015

“…สุดท้ายแล้วหากถามผมว่า ‘รักตัวเองหรือยัง’ ผมก็ยังไม่ค่อยแน่ใจดี แต่ผมก็มีความรู้สึกว่า สุดท้ายผมจะรักตัวเองได้ครับ แม้คอนเซ็ปต์ LOVE YOURSELF, SPEAK YOURSELF จะจบลงตรงนี้ แต่เส้นทางที่เราเสาะหาหนทางเพื่อรักตัวเองจะยังไม่สิ้นสุดลง เพราะฉะนั้นขอให้เราจับมือกัน ขอให้เรารักตัวเองมากยิ่งขึ้นให้จงได้ และได้อยู่ด้วยกันต่อไปมากขึ้นครับ ช่วงเวลาต่างๆ และเรื่องราวมากมายที่จะเกิดขึ้น หลังจากที่ LOVE YOURSELF จบลง แต่ผมก็ยังคงหวังว่า ผมคิมนัมจุน จะยังเป็นคิมนัมจุน หวังว่าบังทัน จะยังเป็นบังทัน และทุก ๆ คนแต่ละคน ไม่ว่าจะชื่อคิมใด ๆ พัคใด ๆ ก็ขอให้ทุกคนจะยังเป็นตัวของทุกคนภายใต้ชื่อของทุกคนได้ครับ ขอให้รู้ไว้เลยครับว่าผมน่ะใช้ชีวิตมาถึงทุกวันนี้ได้เพราะทุก ๆ คน ในอนาคตต่อไปก็หวังว่าเพียงสักถ้อยคำ เพียงสักท่อนหนึ่งของเนื้อเพลงของพวกเรา จะช่วยให้ทุกคนรักตัวเองได้ครับ”

— RM, 29 ตุลาคม 2019

ที่มา | คอลัมน์พบกับฮิปฮอป (2015), หนังสือ BTS The Review วิเคราะห์ความสำเร็จของ BTS, แฟนคาเฟ่ RM (2015), เอ็นดิ้งเมนต์คอนเสิร์ต Speak Yourself The Final
เขียน แปล และเรียบเรียงโดย CANDYCLOVER

DMCA.com Protection Status

ทาง CANDYCLOVER มีความยินดีหากผู้อ่านเล็งเห็นประโยชน์ของคอนเทนต์นี้ และต้องการนำไปประกอบเอกสารหรือสื่อทางการศึกษา เผยแพร่ต่อบนโซเชียลมีเดีย รวมถึงนำไปผลิตของที่ระลึก เช่น Giveaway สำหรับแจกฟรี มิใช่การจัดจำหน่าย

หากต้องการนำข้อมูลไปใช้อ้างอิง กรุณาติดต่อทางอีเมลล์ bts.candyclover@gmail.com และรอการตอบกลับที่ระบุว่าอนุญาตแล้วเท่านั้น ยกเว้นกรณีการนำข้อมูลที่ “แปล เรียบเรียง หรือจัดทำโดย CANDYCLOVER” ไปรีโพสต์ ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ รีโพสต์บนแฟนเพจ เว็บไซต์ หรือเว็บบอร์ด ที่มิใช่แพลตฟอร์มของ CANDYCLOVER พร้อมใส่เครดิตเองโดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงนำไปเป็นคอนเทนต์ทางสื่อโทรทัศน์ หรือกระทำการใด ๆ ก็ตามที่เข้าข่ายแอบอ้างผลงาน หากพบเห็นจะดำเนินคดีทางกฎหมายให้ถึงที่สุด

หากท่านชื่นชอบคอนเทนต์ที่ CANDYCLOVER นำเสนอ สามารถให้การสนับสนุนพวกเราได้ง่าย ๆ เพียง 1.) ไม่สนับสนุนแอคเคาต์ที่แอบอ้างข้อมูลที่แปลโดย CANDYCLOVER 2.) รีพอร์ตแอคเคาต์ดังกล่าวผ่านระบบของแพลตฟอร์มที่ท่านพบเห็นโพสต์ที่เข้าข่าย โดยเลือกหัวข้อ “ละเมิดลิขสิทธิ์” 3.) สนับสนุนค่ากาแฟทาง Ko-fi หรือ Patreon

About the Author /

bts.candyclover@gmail.com

I go by the name Candy, a co-founder, admin, designer, translator, writer of and for CANDYCLOVER. I'm a graphic/UI designer and a self-taught Korean translator who's passionate about telling success stories of BTS in the form of mixed media from graphic to web-based experiences. Now, I'm also pursuing my career as a professional Korean translator. My recent book-length translation projects are: I AM BTS (TH Edition), BTS The Review (TH Edition) and more to come!

Post a Comment