พบกับ BTS ผ่านระบบเสียง MelOn Hi-Fi

สกู๊ปแนะนำฟังเพลงของ BTS ผ่านระบบ MelOn Hi-Fi ของ MelOn โดยนักเขียนคอลัมน์ ฮันจีฮุน

ทำความรู้จักกับ MelOn Hi-Fi
Hi-Fi หรือ High Fidelity เป็นระบบเสียงความละเอียดสูงที่ MelOn เปิดให้ใช้บริการในขณะนี้ ไฟล์เสียงในระบบ MelOn Hi-Fi จะเป็นไฟล์ FLAC (Free Lossless Audio Codec) หรือคือระบบการบีบอัดข้อมูลสัญญาณเสียงที่ไร้การสูญเสียข้อมูล ที่ความละเอียด 16 บิท คุณภาพระดับ CD และความละเอียดคุณภาพระดับมาสเตอร์ที่ 32 บิท

คนที่ชอบฟังเพลงคุณภาพเสียงระดับ Hi-Fi ชอบฟังแนวเพลงแนวไหนมากที่สุดครับ? แนวบลูส์? แน่นอนล่ะว่าต้องเป็น B.B. King หรือไม่ก็ Albert King ที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของบลูส์ ส่วน Buddy Guy หรือ Junior Wells ก็เป็นนักดนตรีที่ดังเหมือนกัน หรือแนวบริติชโฟลค์? แม้ที่เมืองนอกเองก็ยังมีคนคอยหาอัลบั้มของ Fairport Convention หรือ Sandy Denny ฟังอยู่มากเลยล่ะครับ

ในบรรดาแนวเพลงโปรเกรสซีฟร็อค คนที่ทดลองทำเพลงอย่าง Alphataurus หรือ Faust และอัลบั้มอย่าง Three Parts To My Soul ของ Dr. Z เอง ในสายตานักสะสมอัลบั้มในปัจจุบันก็ยังเป็นอัลบั้มที่ถูกต่อรองซื้อขายกันด้วยราคาที่สูงลิบ แม้กระทั่งอัลบั้มเพลงคลาสสิคเกาหลีอย่างแนวเพลงที่เล่นด้วยคายากึมหรืออาแจ็ง ก็ยังมีคนมากมายที่ฟังผ่านสังกัด Akdang หรือสังกัด Audioguy

น่าตลกดีที่แนวเพลงที่คนรักในเสียงเพลงในเกาหลีฟังน้อยที่สุดก็คือศูนย์กลางของกระแสเกาหลีที่เป็นสัญลักษณ์ของเกาหลี หรือก็คือ K-Pop นี่เองครับ จากจุดนี้ก็มีหลากหลายเหตุผลอยู่ ข้อแรก การฟังเพลงด้วยคุณภาพเสียง Hi-Fi เป็นงานอดิเรกนั้นพบว่าเป็นงานอดิเรกที่ต้องลงทุนในระดับนึง ทำให้ช่วงอายุที่จะมาเริ่มฟังเพลงคุณภาพนี้ส่วนใหญ่คือวัยหลัง 30 ขึ้นไปซึ่งเป็นวัยที่มีกำลังในการใช้จ่าย หมายความว่ามีช่องว่างระหว่างวัยและการรับรู้ของ K-Pop เกิดขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย

อีกเหตุผลหนึ่งก็คือคุณภาพของเพลงนี่ล่ะครับ บรรดาเพลงของ K-Pop ยุคแรกหรือเรียกง่ายๆ ว่าเกิลกรุ๊ปกับบอยกรุ๊ปยุครุ่น 1 รุ่น 2 มีคุณภาพการบันทึกเสียงไม่เอาไหนเลยเมื่อเทียบกับผลงานวิดีโออย่างมิวสิควิดีโอ เพราะแบบนี้ทำให้ฟังแค่ไม่กี่ครั้งก็คิดอยากจะเลิกฟัง เกิดอคติ และเลิกแยแสบรรดาเพลง K-Pop ไปในที่สุด

หนึ่งในคำศัพท์เฉพาะทางที่ใช้ในวงการวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์มีคำว่า ”Garbage in, garbage out.” หมายความถ้าป้อนข้อมูลไม่ถูกต้องก็จะได้รับผลลัพธ์ที่ผิดพลาด คำศัพท์นี้เอามาใช้ได้เลยกับเสียงเพลง หมายความว่าต่อให้ใช้แอมป์หรือลำโพงหลายล้านวอน แต่ถ้าแหล่งเสียงไม่ดีก็จะได้ยินแต่เสียงที่ไม่ดีออกมานั่นเองครับ

ในทางกลับกันในกรณีที่ศักยภาพของแอมป์หรือลำโพงดีแต่แหล่งเสียงไม่ดี ก็นำไปสู่หายนะได้เช่นกันครับ ยิ่งแอมป์กับลำโพงมีความละเอียดเท่าไหร่ ก็จะยิ่งได้ยินข้อบกพร่องจากเครื่องดนตรีหรือการอัดเสียงได้ชัดเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อดูไฟล์ .mpg ความละเอียด 320×240 ด้วยจอเรติน่าความละเอียด 5120×2880 ก็จะรู้สึกได้ถึงความด้อยของคุณภาพได้ชัดเจนมากขึ้นครับ

แต่ปัญหาก็คือเราไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยเพียงแค่ใช้อุปกรณ์ที่ดีๆ (เช่น CDP, Turntables, Reel Tape Deck, Casette Player ฯลฯ) เพื่อให้ได้มาซึ่งแหล่งเสียงที่ดี เพราะสภาพของเสียงหรือก็คือคุณภาพในการบันทึกเสียงนี่แหละที่เป็นตัวตัดสินจุดเริ่มต้นของแหล่งเสียง

จากแง่มุมเหล่านี้ เพลงของ BTS นั้นทำให้ผมช็อคเป็นอย่างมากเลยทีเดียวครับ “คุณภาพเสียงของวงไอดอลดีขนาดนี้เลยหรอเนี่ย!” เป็นวินาทีอคติที่ผมมีอยู่เดิมทลายลงเป็นปลิดทิ้ง วินาทีที่ผมได้ฟังเพลง ผมอยากจะไปพูดคุยกับวิศวกรควบคุมการบันทึกเสียงด้วยตัวเองเลยว่าใช้เครื่องมืออะไรบันทึกเสียง เพราะคุณภาพเสียงของพวกเพลงของพวกเขามันโดดเด่นมากในระดับที่ทำให้ผมคิดว่ามันแตกต่างจากของบรรดาวงไอดอลที่มีอยู่เดิมอีกครับ

ความละเอียดของเสียงที่พอเหมาะประกอบกับเบสที่ยืดหยุ่น ไดนามิกซ์โดยรวม (ความแตกต่างของระดับเสียง ระหว่างเสียงที่เบาที่สุดกับเสียงที่ดังที่สุด ยิ่งไดนามิกซ์ดี ก็จะได้ยินเสียงบรรยากาศที่มีชีวิตชีวาชัดเจน ผู้เขียนกล่าว) กับความสมดุลย์ของความถี่แต่ละช่วงทั้งสูง, กลาง, ต่ำ พวกเขาบันทึกเสียงออกมาได้ดีไม่มีบกพร่องแม้แต่น้อยเมื่อเทียบกับแบรนด์ค่ายเพลงที่มีชื่อเสียงอย่าง DG (Deutsche Grammophon), Decca Sound หรือ ECM Records

ไม่เพียงคุณภาพเสียงเท่านั้นครับที่ดี แต่ผมยังรู้สึกได้อย่างมากเลยว่าเพลงของ BTS เป็นเหมือนนาฬิกาสวิสฯ ที่สร้างขึ้นอย่างปราณีตที่มีองค์ประกอบที่ดี มีศูนย์กลางเป็นแรพเปอร์ไลน์ที่มี RAP MONSTER, SUGA, J-HOPE และมี JUNGKOOK เป็นศูนย์กลางของกลุ่มโวคอลไลน์ที่มี JIN, JIMIN, V ทั้งสองกลุ่มเข้ากันอย่างไร้ที่ติ ทำให้ผมรู้สึกว่าพวกเขาประสานเสียงร้องเพลงออกมาทั้งวงมากกว่ามีใครคนใดคนหนึ่งกำลังพ่นอยู่ซะอีก เพราะเหตุนี้เองรึเปล่าที่ผู้เข้าแข่งขันในรายการ “Produce 101” ถึงได้เลือกร้องเพลง ‘봄날 (Spring Day)’ และ ‘상남자 (Boy In Luv)’ ของ BTS เพื่อโชว์เสน่ห์ของตัวเอง

(ตัดเนื้อหาที่พูดถึงเครื่องมือทำดนตรีออก)

ถ้าเช่นนั้นแล้วเพลงของ BTS จะสนุกขึ้นเป็นเท่าตัวมั้ยถ้าตั้งใจฟังพาร์ทใดพาร์ทหนึ่งเป็นพิเศษ? ส่วนตัวผมคิดว่าถ้าใส่ใจใช้เครื่องมือทำแหล่งเสียงที่ดีกว่าเพลง K-Pop อื่นๆ แล้วมันก็ฟังออกมาเพราะครับ ด้วยการที่ตัวเพลงได้รับการเอาใจใส่ในการบันทึกเสียงขนาดนี้ซึ่งค่อนข้างจะเป็นไฟล์ข้อมูลที่ไม่มีการสูญเสียจากการบีบอัด (Lossless Data Compression) จึงควรฟังเพลงผ่านเครื่องแปลง D/A (แปลงสัญญาณจาก Digital เป็น Analog) ดีๆ แทนการฟังผ่านการ์ดเสียงในคอมพิวเตอร์หรือตัวแปลง D/A ในสมาร์ทโฟน ถึงจะเข้าใจถึงแก่นแท้ของดนตรีและเมสเสจที่พวกเขาต้องการจะสื่อได้มากขึ้นครับ

หากคุณชอบพวกเขาเพราะการเต้นกับการแสดง และรูปร่างหน้าตา เชิญไปรับฟังเพลงของพวกเขาด้วยเครื่องแปลง D/A ดีๆ ที่ให้ความละเอียดของเสียงสูงและไม่สูญเสียข้อมูลจากการบีบอัดนะครับ คุณจะเห็นได้เลยถึงด้านที่ไม่เคยรู้มาก่อนของพวกเขา และคุณสามารถฟังเพลงของพวกเขา BTS ผ่าน MelOn Hi-Fi ได้เช่นกันครับ

 

ที่มา | MelOn
แปลจากเกาหลีเป็นไทยโดย CANDYCLOVER

About the Author /

bts.candyclover@gmail.com

I go by the name Candy, a co-founder, admin, designer, translator, writer of and for CANDYCLOVER. I'm a graphic/UI designer and a self-taught Korean translator who's passionate about telling success stories of BTS in the form of mixed media from graphic to web-based experiences. Now, I'm also pursuing my career as a professional Korean translator. My recent book-length translation projects are: I AM BTS (TH Edition), BTS The Review (TH Edition) and more to come!

Post a Comment